svasdssvasds

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินค้าราคาสูงสวนทางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินค้าราคาสูงสวนทางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รายงานว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงในช่วงที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนให้มีความเปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินค้าราคาสูงสวนทางกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ในเดือนพฤษภาคม 2565 มาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่างๆ ของภาครัฐได้ทยอยสิ้นสุดลงต่อเนื่อง ทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่สี่ และเริ่มมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ส่วน 10 มาตรการบรรเทาผลกระทบที่เริ่มขึ้นในเดือนพ.ค.-ก.ค. 65 เน้นครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ขณะที่ระดับราคาสินค้ายังปรับสูงขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากดัชนีเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. 65 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 7.1% YoY 

ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี โดยราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะราคาอาหารสด (+5.82%) และพลังงาน (+37.24%) ทั้งจากการทยอยปรับขึ้นค่าน้ำมัน / ก๊าซหุงต้ม และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร สถานการณ์การดังกล่าวกดดันดัชนี KR-ECI ในเดือนพ.ค.65 และ 3 เดือนข้างหน้า ให้ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันอยู่ที่ 31.2 และ 34.0 จาก 32.5 และ 35.5 ในเดือนเม.ย.65 ครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาพลังงาน

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้จ่ายทั้งจากฝั่งรายได้และรายจ่ายพบว่า จำนวนครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นปรับลดลง ขณะที่มีจำนวนครัวเรือนที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปรับสูงขึ้น บ่งชี้ว่าในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ในฝั่งของรายได้ครัวเรือนยังปรับลดลง เนื่องจากตลาดแรงงานที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานในไตรมาส 1/2565 จะลดลงอยู่ที่ 1.5% จาก 1.7% ในไตรมาส 4/2564 แต่จำนวนผู้เสมือนว่างงาน (ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.78 ล้านคน จาก 2.63 ล้านคนในไตรมาส 4/2564 โดยจำนวนการทำงานที่ลดลงดังกล่าวบ่งชี้ว่า แม้ยังมีงานทำแต่ชั่วโมงการทำงานที่ลดลงส่งผลให้รายได้ปรับตัวลดลง  ความไม่สอดคล้องกันระหว่างรายได้และรายจ่ายจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อไปในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคิดเห็นในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือ/บรรเทาผลกระทบสินค้าราคาสูงจากภาครัฐฯ พบว่า ร้อยละ 35.1 ของครัวเรือนมองว่า มาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาผลกระทบได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 24.5 มองว่าไม่สามารถเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ได้ เนื่องจากเงื่อนไขของโครงการบางมาตรการเข้าถึงได้ยาก อย่างไรก็ดี อีกร้อยละ 26.0 มองว่าช่วยบรรเทาปัญหาได้จริง

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่าอยากให้ทางภาครัฐปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างไรบ้าง ผลสำรวจระบุว่าครัวเรือนร้อยละ 37.7 อยากให้ภาครัฐออกมาตรการที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ขณะที่ร้อยละ 28.3 อยากให้มีการแก้ไขการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายแก่คนทุกกลุ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผลสำรวจร้อยละ 32.2 ระบุว่าอยากให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการที่แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เช่น การออกมาตรการที่ช่วยเพิ่มทักษะความรู้ที่สามารถนำมาใช้เพิ่มรายได้

สถานการณ์สินค้าราคาสูงจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไปอีกสักระยะ เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้ผลิตพบว่าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงที่ 13.3% YoY ซึ่งจากนี้จะเริ่มเห็นการส่งผ่านต้นทุนมายังผู้บริโภคมากขึ้นซึ่งจะยิ่งกดดันให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักของการปรับขึ้นของราคาสินค้ามาทั้งจากทางด้านอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเทศกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ด้านอุปทานยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซียยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเฉพาะราคาพลังงาน แม้ว่ากลุ่มโอเปคจะมีแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต แต่การยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียไปยังยุโรป การคลายล็อกดาวน์ของจีนยังกดดันราคาพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้บางประเทศ เช่น ตุรกี รัสเซีย ยูเครน ห้ามส่งออกอาหาร เช่น ข้าวสาลี เนย เนื้อวัว ต่าง ๆ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งกดดันให้ราคาอาหารต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น

ในช่วงครึ่งหลังของปีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจะมีการปรับโควิด-19 จากโรคติดต่อสู่โรคประจำถิ่น น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของภาคครัวเรือนบางส่วน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของภาคครัวเรือน