svasdssvasds

เตือนภัย! ยาอี "หมีพูห์" ออกฤทธิ์รุนแรงมาก ประสาทหลอนอันตรายถึงชีวิต

เตือนภัย! ยาอี "หมีพูห์" ออกฤทธิ์รุนแรงมาก ประสาทหลอนอันตรายถึงชีวิต

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัยยาอีโฉมใหม่รูปการ์ตูน “หมีพูห์” ออกฤทธิ์รุนแรง ยิ่งใช้ร่วมกับยานอนหลับ ระวังอันตราย ประสาทหลอนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งพระบรมราชชนนี ออกเตือนยาอีโฉมใหม่รูป "หมีพูห์" ออกฤทธิ์รุนแรง อันตรายถึงตาย

สบยช. กรมการแพทย์ ได้ออกเตือนภัยถึงยาอีโฉมใหม่ที่มาในรูปแบบการ์ตูน ซึ่งยาอีตัวนี้ออกฤทธิ์รุนแรง ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับยานอนหลับระวังอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ด้าน “นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์” รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีข่าวการตรวจยึดยาเสพติดรูปแบบใหม่ ที่มีลักษณะเป็นยาอีในรูปแบบเม็ดตัวการ์ตูนหมีพูห์ สีเหลือง พร้อมยานอนหลับชนิดรุนแรง ในพื้นที่ จังหวัดนครพนม

ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) ล้วนเป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน ที่จะมีฤทธิ์หลอนประสาทและกระตุ้นประสาท ซึ่งจะแตกต่างกันบ้างของด้านโครงสร้างทางเคมี มีทั้งที่แบบแคปซูลและแบบเม็ดยาสีต่าง ๆ มักได้รับความนิยมใช้จากกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน เมื่อผู้ใช้ได้เสพยาอีเข้าไปแล้วในร่างกาย ยาอีจะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ของยาอีสามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 6-8 ชั่วโมง โดยที่จะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ผู้ที่เสพเข้าไปจะรู้สึกร้อน มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียง ไปจนถึงการมองเห็นแสงสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง มีความเคลิบเคลิ้ม และยังรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งผู้เสพยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ในส่วนของยานอนหลับชนิดรุนแรงที่พบเจอ จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ใช้หลับและยังเป็นยาที่ไม่มีรายชื่อในบัญชียาของกระทรวงสาธารณสุข และคาดการว่าจะนำยาทั้ง 2 ชนิดที่ตรวจพบมาเสพร่วมกันเพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ได้มีการกล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีหมีพูห์ และยานอนหลับที่ถูกตรวจพบนั้นเป็นยาเสพติดประเภทที่เป็นอันตราย

เพราะ ยาอี จะเข้าไปทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานคงที่ผิดปกติได้ โดยการหลั่งสารชนิดนี้ออกมามากกว่าปกติทำให้ผู้เสพรู้สึกสดชื่น อารมณ์ดีกว่าปกติ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปสารดังกล่าวจะทำงานลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจจะกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) ที่มีแนวโน้มในการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติที่ไม่ได้เสพ นอกจากนี้การที่สารซีโรโทนินจะลดลง ทำให้นอนหลับผิดปกติ มีเวลาการนอนลดลง นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลียไปจนถึงขาดสมาธิในการเรียนและทำงาน

จึงเน้นย้ำเตือนกลุ่มวัยรุ่นและนักเที่ยวในสถานบันเทิง ที่นิยมใช้สารเสพติดเพื่อต้องการมึนเมาและสนุกสนานมากขึ้น ให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะตามมา และขั้นร้ายแรงที่สุดคืออาจทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถเข้ารับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี รวมถึงการรักษาบำบัดในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ทั้งส่วนภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี

related