svasdssvasds

4 คอนเซ็ปต์การออกแบบที่จอดรถในเมืองสไตล์ Transit Oriented Development

4 คอนเซ็ปต์การออกแบบที่จอดรถในเมืองสไตล์ Transit Oriented Development

ปัญหาเรื่องที่จอดรถภายในตัวเมืองและย่านที่อยู่อาศัย ปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วโลก และ ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด คือ การออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทางของ TOD (Transit Oriented Development) ซึ่งช่วยให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

การออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทางของ TOD (Transit Oriented Development) ซึ่งช่วยให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถห้ามให้ประชาชน งดการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลได้ทั้งหมด เพราะในบางกรณีระบบขนส่งสาธารณะ อาจไม่ตอบโจทย์ความสะดวกในการเดินทาง การบริหารจัดการพื้นที่จอดรถตามแนวทางของ TOD จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการจัดสรรพื้นที่จอดรถอย่างเหมาะสม เพื่อคงไว้ในแนวทางการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของทุกคนในเมือง โดยใช้ 4 แนวทางในการบริหารพื้นที่จอดรถในเมืองดังนี้

1.สร้างช่องจอดรถริมถนนโดยเฉพาะ

            การสร้างช่องจอดรถริมถนนโดยเฉพาะ ในเมืองในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นปานกลาง คือ การออกแบบที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลภายในเมือง ในขณะที่เมืองส่วนใหญ่อนุโลมให้ประชาชน จอดรถริมถนนได้ในช่วงเวลาไม่เร่งด่วน แต่ในการใช้งานจริงเราต่างพบว่า เมื่อเราเสียพื้นที่ถนนไป 1 ช่องทางให้กลายเป็นที่จอดรถ จะทำให้สภาพการจราจรกลายเป็นคอขวด ส่งผลให้ความเร็วในการจราจรชะลอตัวลง เกิดปัญหารถติดลุกลามไปยังถนนเส้นอื่น ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาเร่งด่วน

การสร้างช่องจอดริมถนนโดยเฉพาะจึงเป็นทางออกที่ดี ด้วยการแบ่งพื้นที่ทางเท้าที่มีความกว้างอย่างน้อย 6 เมตร เพื่อสร้างช่องจอดลึกเข้าจากพื้นที่ถนนอย่างน้อย 2 เมตรเป็นระยะทางยาว ประมาณ 15 – 20 เมตร โดยแบ่งเป็นช่วงๆ สลับกับพื้นที่ปลูกต้นไม้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่จอดรถภายในเมืองโดยพื้นที่จอดรถ แยกต่างหากจากที่จอดรถจักรยาน เพื่อรักษาความสวยงามโดยรวม ไม่รบกวนเส้นทางจราจรหลัก ทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยาน อย่างไรตามการสร้างช่องจอดรถริมถนนนี้ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูง ที่ควรใช้การสร้างอาคารจอดรถมากกว่า

2.พัฒนาอาคารจอดรถ

การพัฒนาตามแนวทาง TOD ไม่เพียงแต่พัฒนาพื้นที่ต่างๆ ให้มีความหนาแน่นอย่างเหมาะสมเท่านั้น แต่การพัฒนาพื้นที่จอดรถก็ต้องได้รับการจัดสรรเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะพื้นที่จอดรถใกล้สถานีขนส่งมวลชน และ ย่านการค้าที่มีความสำคัญจะถูกพัฒนาให้เป็นอาคารจอดรถ ให้เกิดความคุ้มค่าจากการใช้งานพื้นที่ดินสูงสุด และเป็นจุดจอดรถของประชาชนที่เดินทางต่อด้วยสถานีขนส่งสาธารณะ

สิ่งที่เราควรรู้อย่างหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่จอดรถ คือ สร้างเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จอดรถ ควรสร้างแต่พอเหมาะตามพื้นที่และงบประมาณที่มี แล้วนำเม็ดเงินไปลงทุนกับการพัฒนาโครงข่ายทางเดินเท้า เส้นทางจักรยาน และระบบขนส่งมวลชนให้ทั่วถึงจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า

3.พัฒนาระบบจอดรถอัจฉริยะและการจัดเก็บค่าจอดรถ

ที่จอดรถสาธารณะมีขึ้นเพื่อความสะดวกของประชาชน และเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการบริการอย่างทั่วถึง การบริหารจัดการพื้นที่จอดด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันค้นหาที่จอดรถในเมือง เพื่อความสะดวกของประชาชนในการเดินทาง ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อช่วยแก้ปัญหารถติด จะช่วยให้ประชาชนตัดสินใจได้ว่าควรจะใช้รถเดินทางเข้าตัวเมืองในเวลาใด และควรใช้รถยนต์ส่วนบุคคลหรือไม่

รวมถึงการคิดค่าที่จอดรถ ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่ช่วยเพิ่มความยับยั้งชั่งใจ ประชาชนจะเดินทางด้วยรถยนต์เข้าตัวเมือง ให้ใช้รถยนต์เฉพาะเท่าที่จำเป็น โดยคิดค่าจอดรถตามขนาดรถที่จอด ช่วงเวลาที่เข้ามาจอด เพื่อเปิดโอกาส ให้กับคนอื่นได้ใช้งานที่จอดรถอย่างทั่วถึง

4.กำหนดข้อบังคับเรื่องที่จอดรถ

การออกข้อบังคับท้องถิ่น เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ ประเทศที่มีปัญหาเรื่องที่จอดรถเช่นประเทศญี่ปุ่น จะมีข้อบังคับกฎหมายให้ทุกบ้านมีที่จอดรถของตัวเองอย่างน้อย 1 ช่อง รวมถึงคนที่กำลังซื้อรถใหม่ ก่อนซื้อต้องแสดงหลักฐานเรื่องที่จอดรถส่วนบุคคล หรือเอกสารแสดงที่จอดรถแบบสัญญาเช่า เป็นหลักฐานรับรองว่าซื้อรถมาแล้วจะไม่จอดรถริมถนนกีดขวางการจราจร

ในส่วนของพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นเช่นคอนโดมิเนียม จะมีการกำหนดพื้นที่จอดรถคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด และต้องทำขึ้นมาในรูปแบบอาคารจอดรถที่ไม่รบกวนทางเดินเท้า

ทำให้ภาพการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะจะไม่มีพื้นที่จอดรถที่เบียดเบียนพื้นที่จราจร ทางเดินเท้า หรือเลนจักรยานเลยแม้แต่จุดเดียว ทุกอย่างจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดให้จอดรถได้เท่านั้น

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าแนวทางของ TOD ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่จอดรถ ในระดับที่สนับสนุนส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคล แต่มุ่งเน้นพัฒนาในแง่ของการใช้งานรถยนต์อย่างเหมาะสม ด้วยการสร้างพื้นที่จอดรถที่ไม่ใช้พื้นที่การจราจร ควบคุมการใช้งานพื้นที่จอดรถด้วยการเก็บค่าจอด รวมถึงการสร้างพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ในจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ทุกคนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น และใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด