svasdssvasds

ดร.ธรณ์ ชี้จุดควรค้นหาผู้สูญหาย เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตามหลักวิทยาศาสตร์

ดร.ธรณ์ ชี้จุดควรค้นหาผู้สูญหาย เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตามหลักวิทยาศาสตร์

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยข้อมูลทางสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทางทะเล และฐานข้อมูลจากแบบจำลองกระแสน้ำและทุ่นกระแสสมุทร และ บ่งชี้ถึง กระแสน้ำอ่าวไทย และระบุจุดใด ควรเป็นจุด ค้นหาผู้สูญหาย กรณีเรือหลวงสุโขทัย อับปางในอ่าวไทย

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลและรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายการตามหาผู้สูญหายจากเรือสุโขทัยอับปางในทะเลอ่าวไทยโดยอาศัยข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทางทะเล และฐานข้อมูลจากแบบจำลองกระแสน้ำและทุ่นกระแสสมุทรที่ลอยทะเลอยู่ขณะนี้ด้วยความร่วมมือของปตท.สผ. คณะประมง และ สสน. ผ่านเพจเฟสบุ๊คระบุว่า

“จุดแดงคือจุดสมมุติบริเวณเรืออับปาง อาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้างใช้เพื่อประกอบแบบจำลองเท่านั้น จากภาพจะเห็นลูกศรจำนวนมากบอกทิศทางของกระแสน้ำ ยิ่งลูกศรซ้อนกันเยอะหมายถึงความแรงของกระแสน้ำค่อนข้างมาก หัวลูกศรคือทิศทางที่น้ำไหลไป สังเกตบริเวณจุดแดงจะเห็นกระแสน้ำไหลแรงลงใต้ หมายถึงการค้นหาควรค้นหาบริเวณนั้น ซึ่งการค้นหาในปัจจุบันก็ทำสอดคล้องกับข้อมูลอยู่แล้ว เช่น ชายฝั่งชุมพร บริเวณเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะเต่า ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ภาพที่สองหรือภาพขวามือคือเส้นทางของทุ่นกระแสสมุทร ที่ผมเคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังหลายครั้ง ทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลตอนนี้คือลูกที่ 5 ปล่อยลงทะเลจากแท่นผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ในบ่ายวันที่ 15 เดือนนี้ทุ่นดังกล่าวติด GPS รายงานผ่านดาวเทียมให้ทราบเส้นทางตลอดเวลา เป็นทุ่นลอยผิวน้ำ บอกทิศทางการเคลื่อนที่ จุดสีแดงคือตำแหน่งทุ่นปัจจุบัน เห็นเส้นสีน้ำเงินคือจุดต่าง ๆ ที่ลอยผ่านมาทิศทางของทุ่นลอยไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงน้ำไหลเข้าอ่าวไทย แม้ตำแหน่งทุ่นจะไม่ได้อยู่ในบริเวณเกิดเหตุหรือการค้นหา แต่ข้อมูลนี้บอกเราได้ว่า โอกาสที่ผู้สูญหายจะลอยออกไปจากอ่าวเป็นไปได้น้อย เพราะน้ำไหลเข้าอ่าว เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน คงพอให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามเต็มที่และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ อีกส่วนหนึ่งที่ทุ่นบันทึกได้คืออุณหภูมิน้ำทะเล เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี น้ำเย็นลงชัดเจน จาก 29.5 เหลือ 28.3 องศาเซลเซียส 

การให้ความอบอุ่นอย่างรวดเร็วหากพบผู้ประสบภัยเป็นอีกเรื่องที่พอบอกได้ น่าเสียดายที่เราไม่มีทุ่นลอยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงยังขาดข้อมูลอื่นๆ ผมเคยเสนอให้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่ผมมีส่วนร่วมว่า ข้อมูลสมุทรศาสตร์พวกนี้สำคัญมาก  เราควรมีสถานีถาวรสำหรับตรวจวัดสมุทรศาสตร์ในด้านต่าง ๆ อย่างน้อย 3 สถานีในอ่าวไทย ปัจจุบันมีเพียง 1 แห่งที่สถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา มันน้อยเกินไปที่จะทำงานให้แม่นยำครอบคลุมพื้นที่กว้าง

เรือหลวงสุโขทัย

จุดหนึ่งที่เคยเสนอและเกือบผ่านคือสถานีในชายฝั่งตะวันตก (เพชรบุรี/ประจวบฯ) แต่อาจไม่มีงบ ทำให้เรื่องเงียบไป ยังรวมถึงการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มขึ้น การใช้ทุ่นกระแสสมุทรตามจุดต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำของแบบจำลอง และช่วยได้ในสถานการณ์จริง เท่าที่คณะประมง/ปตท.สผ./สสน. ทำขึ้นมาก็คงเห็นประโยชน์ชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะโลกร้อนหรือปัญหาผลกระทบจากมนุษย์ การศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศ ยังรวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ในกรณีภัยพิบัติ งานทะเลไม่สามารถทำได้เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องทำไปพร้อมกัน และฐานข้อมูลทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องลงทุนเพื่อให้ได้มา สุดท้าย ผมอยากส่งกำลังใจให้ทุกท่าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัวทหารผู้กล้า ผมยังคงหวังในปาฏิหาริย์ครับ”

related