ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
อัยการสูงสุด ยื่นคำแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว งัดประโยคเด็ด "ทักษิณ" เป็นคนคิดนโยบายนี้เอง โดยไม่มีการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ
-21 ส.ค.60- เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้ยื่นคำแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าว เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในคำแถลงปิดคดีนี้มีช่วงหนึ่งได้พาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นคนคิดโครงการนี้ โดยไม่มีการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ
คลิปนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วีดีโอลิงค์จากต่างประเทศเข้ามายังเวทีการหาเสียงใหญ่ พรรคเพื่อไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่องาน "เพื่อไทยพร้อมบริหารประเทศ" เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ระหว่างการหาเสียงก่อนเลือกตั้งทั่วไป
เป็นหนึ่งในประเด็นที่อัยการสูงสุดนำมาเป็น หลักฐาน ฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท
ประเด็นสำคัญที่อัยการสูงสุดหยิบยกขึ้นมา คือกรณีนายทักษิณ บอกว่า จะนำวิธีการรับจำนำมาใช้ โดยกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าเกวียนละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท และบอกว่านี้คือราคารับจำนำของพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ในวันที่ 23 ตุลาคม 2555 นายทักษิณ ยังให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บ ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวว่า เป็นคนคิดนโยบายนี้เอง เหมือนกับสโลแกนตอนหาเสียงที่ว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ
ในคำแถลงปิดคดีของอัยการสูงสุด ที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุว่า นโยบายนี้นายทักษิณ คิดเพียงผู้เดียว ไม่มีการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ และเป็นการคิดนโยบายหาเสียงเพื่อชนะการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้เสียงชาวนาซึ่งมีประมาณ 3-4 ล้านครัวเรือน และเพื่อนำข้าวในตลาดทั้งหมดมาอยู่ในความครอบครองของรัฐบาลเท่านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ได้ใส่ใจต่อระบบการจำนำข้าวที่แท้จริง และช่วยเหลือชาวนาอย่างยั่งยืน
เพราะในวันที่ 9 กันยายน 2554 คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 วงเงิน 410,000 ล้านบาท ไม่มีความเห็นส่วนงานประกอบการพิจารณาของกขช. แต่อย่างใด
เช่นเดียวกับการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่ถูกเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเป็นวาระจร ก็ไม่มีความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาเช่นกัน