svasdssvasds

กำเนิด ‘คู่จิ้น’ และวัฒนธรรม ‘วาย’ ชายรักชายที่ไม่ใช่ Gay’s Love

กำเนิด ‘คู่จิ้น’ และวัฒนธรรม ‘วาย’ ชายรักชายที่ไม่ใช่ Gay’s Love

#ลมพัดผ่านดาว สร้างกระแสวายให้กลายมาเป็น Talk of the Town หลังฉากเลิฟซีนระหว่าง ‘พี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี’ และ ‘มิว ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์’ จุดประเด็นความ ‘จิ้น’ คู่นักแสดงนำ ‘ชาย-ชาย’ ในละครไทยหลังข่าวช่อง 7 ครั้งแรก แต่แท้จริง 'คู่จิ้น' และวัฒนธรรม 'วาย' เกิดมาแล้วหลายทศวรรษ

'คู่จิ้น' และ 'วัฒนธรรมวาย' ผลผลิตจากเอเชียตะวันออก

ย้อนไปทศวรรษที่ 1970 ที่ประเทศญี่ปุ่น การ์ตูนมังงะประเภท Shonen’ai ที่เล่าเรื่องความรักโรแมนติกระหว่างชายกับชายได้รับความนิยมจากนักอ่านผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ Yaoi หรือ 'วาย' เกิดขึ้นในช่วง 1980 เป็นการ์ตูนเลียนแบบที่มีผู้ชายสองคนเป็นตัวเอกและเน้นเนื้อหาไปที่ความสัมพันธ์ทางเพศเป็นหลัก ส่วน JUNE เป็นชื่อของนิตยาสารแนวกามรมณ์ที่เน้นกลุ่มคนอ่านเป็นผู้หญิงและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 และมีการใช้คำว่า Boy's Love หรือ BL ไว้บนหน้าปก

เช่นเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เริ่มมีการผลิตและส่งออกซีรีส์ K-Drama และศิลปินกลุ่ม K-Idol เช่น วง TVXQ และ Super Junior ที่จุดกระแส Flower Boy หรือ Soft Masculinity เป็นผู้ชายที่มีร่างกายการเพรียวบางงดงาม และมีหน้าตาอ่อนหวานสวยงาม และมีการแสดงออกทางเพศที่ลื่นไหล เช่น การหอมแก้ม การกอด หรือแม้กระทั่งจูบ หรือบางคนอาจเรียกว่า Fan-Service ซึ่งเป็นการสร้างกระแสให้แฟนคลับได้ติดตามต่อ

Credit Pic: https://kpop.youzab.com/

ขณะที่แฟนคลับเองก็เริ่มมีวัฒนธรรมชิปปิ้ง (Shipping) หรือจินตนาการ หรือ Imagine หรือ จิ้น จับคู่ศิลปินชายในวงและจินตนาการถึงความสัมพันธ์ที่โรแมนติกของทั้งคู่ ผ่านงานเขียนที่เรียกว่า Fanfiction และตั้งแต่ 2008 งานเหล่านี้ก็พัฒนามาเป็นนิยายในเว็บบอร์ดออนไลน์ต่างๆ เช่น Dek-D หรือ tvxq-dreamland.com เป็นต้น จนปี 2014 เกิดปรากฎการณ์ที่ซีรีส์ Lovesick ที่ดัดแปลงมาจาก Fanfiction ออกอากาศทางช่อง 9 ถือเป็นครั้งแรกในไทยและเอเชียที่ซีรีส์วาย หรือ Boys' Love ถุกเผยแพร่ผ่านทางฟรีทีวี 

Credit Pic: Mintmag_th

Boys' Love คือชายรักชาย ที่ไม่ใช่ Gay's Love

ซีรีส์วายหรือ Boys' Love (BL) ถูกนิยามผ่านงานวิชาการว่าเป็นเรื่องราวที่เล่าถึงความสัมพันธ์ในอุดมคติของลูกผู้ชาย (Heterosexual Male) สองคนที่พัฒนามาเป็นความรัก แค่กับคนๆ เดียวเท่านั้น ไม่ใช่รักผู้ชายคนไหนก็ได้ โดยตัวละครหลักจะแบ่งเป็น Seme (รุก) และ Uke (รับ) ดังนั้นซีรีส์วายหลายเรื่องจึงนำเสนอภาพลักษณ์ความเป็นชายของตัวละครหลักอย่างชัดเจน เช่น เตะฟุตบอล เล่นดนตรี พูดจาหยาบคาย ดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การใช้กำลังในการแสดงความรักกับอีกฝ่าย ทั้งหมดเพื่อตอบสนองจินตนาการของผู้ชมเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่ Gay's Love จะนำเสนอเรื่องความของตัวละครหลักที่มีความเป็นเกย์ หรือเควียร์ ผ่านแรงกดดันหรือความท้าทายของสังคม โดยตัวละครนั้นอาจจะมีความรักกับตัวละครเพศชายอื่นหรือไม่ก็ได้ และบริบทของความสัมพันธ์จะสะท้อนความเป็นจริงของสังคมมากกว่าโลกในอุดมคติ เช่น ภาพยนตร์รักแห่งสยาม คู่ที-จอน ในซีรีส์รักแปดพันเก้า คู่ภู-ธีร์ ในซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น เป็นต้น

Credit Pic: หอภาพยนตร์  

แต่ทั้ง Boys' Love และ Gay's Love ก็ต่างสร้างกระแสคู่จิ้นให้ติดตลาด กลายเป็นที่นิยมของแฟนคลับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลายคู่มีคิวเดินสายโชว์ตัวต่างประเทศแน่นตัวทั้งปี ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่แฟนคลับเองก็ให้การตอบรับอย่างดี โดยเรามักจะเห็นหลายโปรเจคที่แฟนคลับรวมเงินกันทำขึ้นมาเพื่อเซอร์ไพรส์คู่จิ้น หรือศิลปินวายที่ตนชื่อชอบ ไม่ว่าจะเป็นป้ายบิลบอร์ด หรือแม้กระทั่งซื้อดวงดาวเพื่อตั้งชื่อเป็นชื่อของศิลปิน

Credit Pic: Dreamers Society Creation

'คู่จิ้น' โอกาสเศรษฐกิจไทย ตีตลาดโลก

การเติบโตของตลาดเควียร์และเศรษฐกิจสีรุ้ง ตั้งแต่ปี 2000 ทำให้อุตสาหกรรม Boys' Love เติบโตขึ้นไปด้วย จนในปี 2021 ประเทศไทยทำรายได้ไป 360 ล้านบาทและมียอดผู้ชมสูงขึ้นถึง 328% ยังไม่รวมไปถึงงานอีเวนต์ โฆษณา และซีรีส์ที่คู่จิ้นเหล่านี้รับร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลังจากซีรีส์ออนแอร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของซีรีส์วายโลกและส่งออกเช่นเดียวกับซีรีส์เกาหลี

การหยิบยืมเอาวัฒนธรรมวายและคู่จิ้น เข้ามาใช้ในละครหรือภาพยนตร์ที่มีตัวละครหลักเป็นชาย-หญิง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างกระแสในหมู่ผู้ชม เช่น ละครเรื่องลมพัดผ่านดาวที่มีฉากหวานระหว่างติ๊ก-เจษฎาภรณ์ และมิว ศุภศิษฏ์ หรือซีรีส์เกาหลี Vincenzo ที่มีฉากหวานระหว่างซง จุงกิ กับกวักดงยอน ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ 

ขณะเดียวกันก็เป็นการขยายพรมแดนของความเป็นวาย หรือภาพของคนรักเพศเดียวกันให้เข้าไปอยู่ในละครอื่นๆ หรือสร้างความเป็นปกติให้กับผู้ชมกลุ่มอื่น รู้สึกถึงความเป็นปกติของสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออก หรือรสนิยมทางเพศ (SOGIESC)

related