svasdssvasds

ซีรีส์วายไทย ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power แต่เรารู้จักมันมากแค่ไหน ?

ซีรีส์วายไทย ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power แต่เรารู้จักมันมากแค่ไหน ?

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ “วายศึกษา วายสร้างสรรค์ วายยั่งยืน: Sustaining BL/Y Studies and Creative Sectors” ซึ่งถือเป็นการประชุมวิชาการวายศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย

SHORT CUT

  • อุตสาหกรรมซีรีส์วาย เป็นธุรกิจที่ “หอมหวน” คนที่ ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถเข้ามาทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำแล้วรอด 
  • “ซีรีส์วาย” ไม่ใช่แค่สินค้าส่งออก แต่สามารถเป็นทูตทางวัฒนธรรมให้กับประเทศไทยได้ หากมีการผลักดันมากกว่านี้ 
  • นิยายวายจีนแปลไทยเติบโตอย่างมาก แต่การคุ้มครองแรงงานนักแปล และส่งเสริมสวัสดิการรักษาพยาบาล ยังคงไม่ชัดเจน 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ “วายศึกษา วายสร้างสรรค์ วายยั่งยืน: Sustaining BL/Y Studies and Creative Sectors” ซึ่งถือเป็นการประชุมวิชาการวายศึกษาครั้งแรกในประเทศไทย

เพราะ อุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y Series) ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในพลัง Soft Power ของประเทศไทย แต่การจะศึกษาและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากหลากหลายสาขาวิชา อาที การแปล วัฒนธรรมศึกษา และ Boy Love ศึกษา จึงต้องมีการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้น

โดยการประชุม แบ่งเป็น 2 ภาค (เช้า-บ่าย) ซึ่งภาคเช้าจะเป็นการพูดคุยเชิงวิชาการ จากวิทยากรในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวายในประเทศไทย ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง (มหาวิทยาลัยมหิดล), รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และ อาจารย์ ดร. จูยิน แซจาง (มหาวิทยาลัยมหิดล)

จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ “วายศึกษา วายสร้างสรรค์ วายยั่งยืน: Sustaining BL/Y Studies and Creative Sectors”

ซีรีส์วายไทยสามารถเป็นทูตทางวัฒนธรรมได้

งานประชุมเริ่มต้นด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ พูดถึงหัวข้อ “การศึกษาวายไทยกับ Soft Power” ว่า ที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ มาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกวันนี้หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยว่าความหมายของ ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรกันแน่ และมีความสับสนอยู่พอสมควร

ซึ่งคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ในไทยเริ่มใช้กันแพร่หลายในช่วงที่ นักร้องสาว มิลลิ กินข้าวเหนียวมะม่วง และหลังจากนั้นก็มีการใช้คำนี้เป็นวาทกรรมในหลายวาระ ซึ่งเรามองว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” กลายเป็นคำที่ฝ่ายการเมืองเอามาใช้กัน โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความหมายของมันจริงๆ แต่วันนี้เราไม่ได้มาบอกว่าคำนี้ใครถูกหรือผิด แต่เราขอศึกษาในมิติที่เกี่ยวข้องกับมติซีรีส์วายเท่านั้น

โดยทีมวิจัยของเราได้ไปทำการสำรวจมาว่าในประเทศไทย มีฝ่ายไหนเอาคำว่าซอฟต์พาวเวอร์มาเชื่อมโยงกับซีรีส์วายบ้าง ซึ่งจากการสำรวจกว่า 2 ปี พบว่ามีประมาณ 200 ข่าว ซึ่งในช่วงปี 65 สังคมยังพูดถึงเรื่องนี้น้อยอยู่ แต่หลังจากเหตุการณ์มิลลิ กินข้าวเหนียวมะม่วง กราฟมันก็พุ่งสูงขี้น และมาพีคมากในช่วงที่พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ จึงสรุปผลการวิจัยได้ว่า การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับซีรีส์วายในบทบาทการเป็นอำนาจอ่อนของไทย มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น โดยเฉพาะในช่วงหลังที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่การขับเคลื่อนนโยบายเกี่ยวกับอำนาจอ่อน อย่างจริงจัง

โดยในส่วนของประเด็นที่เกิดขึ้น พบว่ามีการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับซีรีส์วายในบทบาทการเป็นอำนาจอ่อนที่หลากหลาย เช่นการส่งออกซีรีส์วาย กระตุ้นการท่องเที่ยวและกิจกรรม ไปจนถึงผลทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการผลักดันกฎหมายของกลุ่ม LGBTQ จึงสรุปได้ว่าซีรีส์วายเปรียบเหมือนทูตทางวัฒนธรรมที่ไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ แต่ก็ยังถือว่ามีการผลักดันที่น้อยอยู่

ควรมีตากล้องผู้หญิง และทีมเขียนบทที่เป็น LGBTQ มากขึ้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง กล่าวในประเด็น “การศึกษาวัฒนธรรมการผลิตซีรีส์วายไทย และความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมสกรีนเพื่อการพัฒนาในระยะยาว” ว่า ตั้งแต่ปี 2559-2561 มีบริษัทที่ผลิตซีรีส์วายเพิ่มขึ้น และมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในปี 2562-2565

และจากการสัมภาษณ์หลายคนใน อุตสาหกรรมซีรีส์วาย พบว่าพื้นที่นี้เป็นธุรกิจที่ “หอมหวน” ที่สะท้อนถึงโมเดลธุรกิจข้ามสื่อและระบบธุรกิจมีความกล้าทดลองกล้าเสี่ยงเด็กฟิล์มจบใหม่ที่ ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถเข้ามาทำได้

โดยผู้จัดใหม่ในขนาดเล็กและกลาง เริ่มต้นจากเงินส่วนตัว และเมื่อคุ้มทุนจากการขายให้แพลตฟอร์มในไทยและต่างประเทศ ก็สามารถดึงเงินจากโฆษณา และสปอนเซอร์มาสนับสนุนการผลิตได้ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนก็มีความเสี่ยงและมีหลายบริษัทที่ปิดตัวไปเช่นเดียวกัน

ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อแรงงานในอุตสาหกรรมได้เช่นกัน เพราะผู้จัดหน้าใหม่ที่มาเรียนรู้หน้างาน อาจมีความงงกับการจัดการกองถ่าย ส่งผลต่อการทำงาน เช่น บทที่เขียนไม่สอดคล้องกับงบประมาณ จ่ายเงินน้อย ไปจนถึงเบี้ยวจ่าย และทำให้แรงงานที่อยู่ปลายน้ำถูกกดราคาในหลายๆ ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีมิติที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ ความหลากหลายทางเพศ ทั้งในแง่ของกระบวนการทำงาน การจ้างงาน บรรยากาศ และประสบกสารณ์ต่างๆ อย่างเช่น ผู้กำกับต้องเป็นผู้ชายและ ตำแหน่งเทคนิคต่างๆ ต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงเป็นส่วนน้อย และอยู่ล่างสุดของภาวะทางอำนาจในกองถ่าย นักแสดงต้องไม่ออกสาวเกินไป และการล้อเล่นเรื่องเพศสภาพในกองถ่ายแบบมีคำว่า “ไม่คิดมาก” มากำกับ จึงอยากเสนอว่า ควรมีตากล้องผู้หญิง ทีมเขียนบทที่ผสมระหว่างชายหญิง LGBTQ มากขึ้น เพื่อส่งเสริม อุตสาหกรรมนี้

ซีรีส์วายไทย ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power แต่เรารู้จักมันมากแค่ไหน ?

ซีรีส์วายไทย เป็นพื้นที่เฉพาะของผู้ชายหน้าตาดี ?

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.นัทธนัย ประสานนาม กล่าวในหัวข้อ “เสน่หาความสาวในวายไทย ผ่านวรรณกรรมและวัฒนธรรมสกรีน” ว่า จากที่ตนศึกษาเรื่องนี้มาหลายปี มีงานวิชาการในไทยหลายชิ้นที่มองว่า ซีรีส์วายเป็นการจำลองโมเดลของชายหญิงมาใช้เท่านั้น

เนื่องจากสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ อุตสาหกรรมซีรีส์วายเผชิญการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะเวลาทำซีรีส์ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็จะมีทัวร์มาลงทำนองว่า เป็นพื้นที่สงวนไว้ให้กับผู้ชายหน้าตาดี ส่วนผู้หญิงเป็นตัวประกอบ หรือบางที่เป็นตัวร้ายด้วยซ้ำ

โดยในขบวน Pride Parade ก็มีการชูป้ายอย่าโปรโมทซีรีส์วายในงาน เพราะมีนักเคลื่อนไหว จำนวนหนึ่งยังมองว่า ซีรีส์วายเป็นเพียงการฉกฉวยเนื้อหาของกลุ่ม LGBTQ มาทำเป็นเงินเท่านั้น และแม้แต่สื่อต่างชาติยังตั้งคำถามว่า การขยายตัวของสื่อชายรักชาย ทำให้สิทธิ์ของเควียร์ในประเทศไทยดีขึ้นจริงหรือไม่

นอกจากนี้ สิ่งที่พบใน ซีรีส์วายส่วนใหญ่คือมีแต่ความเป็น ผู้ชายหน้าตาดีที่ไม่ออกสาว จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า เกย์ไทยผลักไสความสาวต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ แต่ก็ยังดีที่เห็นนักแสดงซีรีส์วายในปัจจุบันออกมาแสดงความสาวบ้าง ในอนาคต ตนจึงอยากเห็นความเป็น Sissyphilia ในซีรีส์วายมากขึ้น เพื่อให้ผลงานของไทยเราได้ไปอยู่ในระดับเดียวกับซีรีส์ของโลก เช่น Heartstopper ที่มีความหลากหลายกว่าซีรีส์วายทั่วไป

นิยายวายจีนในไทยเติบโต แต่นักแปลหลังจะหัก

ทางด้าน อาจารย์ ดร.จูยิน แซจาง กล่าวถึงหัวข้อ “นิยายวายจีนแปลไทย” ว่า ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ จะรู้กันดีว่านิยายวายจีนแปลไทย เติบโตอย่างมาก และมียอดขายสูงสุดในตลาดวายด้วยกัน ซึ่งเห็นได้จากมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำนิยายวายจีนขายเป็นเล่มโดยเฉพาะ

ทั้งนี้เพราะที่ประเทศจีนเขาไม่ให้ตีพิมพ์นิยายวายออกมาเป็นเล่ม แต่ให้เผยแพร่ได้ในแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งที่นิยายวายจีนถูกพิมพ์ออกมาเป็นเล่มจำนวนมาก และแต่ละสำนักพิมพ์ก็มีการแข่งขันแย่งชิงลิขสิทธิ์กันอย่างดุเดือด

ซึ่งสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือ แม้นิยายวายจีนจะเฟื่องฟูมาก แต่คุณภาพชีวิตของนักแปลยังคงน่ากังวล เพราะยังมีเรื่องของความไม่มั่นคงทางอาชีพ ปัญหาสุขภาพระยะยาวจากการทำงานหนักมากเกินไป สวัสดิการรักษาพยาบาลก็ไม่เพียงพอ และปัญหามาตรฐานค่าจ้างนักแปล โดยเฉพาะนักแปลหน้าใหม่ที่โดนกดราคาเป็นเรื่องปกติ

ดังนั้น ตนจึงขอเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อ คือ 1.การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ กับแพลตฟอร์มจีน 2.การเข้ามากำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านการผลิต 3.การส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปล 4.การคุ้มครองแรงงานนักแปล และส่งเสริมสวัสดิการรักษาพยาบาล

 

เสวนาโต๊ะกลม (Roundtable Session) หัวข้อ อุตสาหกรรมวายไทยกับกลุ่มแฟน :

ในส่วนของ ภาคบ่าย เป็นการเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable Session) หัวข้อ อุตสาหกรรมวายไทยกับกลุ่มแฟน : วัฒนธรรมระดับชาติและข้ามชาติ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุจิรัตน์ วินิจผล (Aoyama Gakuin University) , รองศาสตราจารย์ ดร.อัมพร จิรัฐติกร (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อรรถ บุนนาค (สำนักพิมพ์ JLIT) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิการดา พรหมม ขุมทอง (มหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นผู้ดำเนินรายการ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ Center for Advanced Studies in the Applied Humanities & Social Sciences, KU 

ซีรีส์วายไทย ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power แต่เรารู้จักมันมากแค่ไหน ?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related