svasdssvasds

มติวิป 3 ฝ่าย เคาะโหวตนายกฯ รอบ 3 ‘สส.-สว.’ อภิปรายฯ 5 ชม. ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์

มติวิป 3 ฝ่าย เคาะโหวตนายกฯ รอบ 3  ‘สส.-สว.’ อภิปรายฯ 5 ชม. ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์

มติวิป 3 ฝ่าย เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. นี้ ให้ สส.-สว. อภิปราย 5 ชั่วโมง ก่อนลงมติบ่าย 3 ชี้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ เพราะ รธน. ไม่ได้กำหนดไว้ ส่วนญัตติด่วนของ โรม ที่ขอทบทวนเสนอชื่อพิธาซ้ำ เสนอได้ แต่ใช้อำนาจประธานปัดตกได้ โดยศาล รธน. ไม่ได้สั่งให้สภาฯทบทวน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดหมายตัวแทนวิป 3 ฝ่ายหารือ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา และตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค. 66

หลังการหารือ 2 ชั่วโมง นายวันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค. จะเริ่มเวลา 10:00 น. โดยกรอบระยะเวลาการอภิปรายเกี่ยวกับ ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯรัฐมนตรี ใช้เวลาไม่เกิน 5 ชม. แบ่งเป็น สว. 2 ชม. และ สส.  ไม่เกิน 3 ชม. พร้อมลงมติไม่เกินเวลา 15.00 น. โดยคาดว่า 17.30 น. ก็คงจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยประธานฝ่ายกฎหมายของสภาได้นำเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์

อีกทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าผู้ที่ถูกเสนอชื่อ จะต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ประกอบกับที่ประชุมของ คณะกรรมาธิการในการร่างข้อบังคับรัฐสภาปี 2563 มีการแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ต้องเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งรายละเอียด มีในบันทึกการประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 63 และมีมติของที่ประชุมเมื่อ 24 ก.ค. 63 สมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในที่ประชุม ดังนั้นประธานรัฐสภาก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ส่วนการเสนอญัตติด่วนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาของ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่ให้มีการทบทวนมติที่ประชุมเมื่อ 19 ก.ค. 66 เรื่องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั้น ที่ประชุมเห็นควรให้นายรังสิมันต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ ถึงการเสนอญัตติ แต่ก็เห็นว่าตามข้อบังคับที่ 151 ไม่สามารถนำมาทบทวนได้ เพราะหากมีการทบทวนจะเกิดปัญหา ว่ามติของสภาที่ออกไปสามารถทบทวนได้เรื่อยๆ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในการลงมติและมีปัญหา

ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้ใช้อำนาจของประธานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 80 และข้อบังคับข้อที่ 5 และ 151 ประกอบ คือไม่รับว่าเป็นญัตติด่วน แต่นำเสนอได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อญัตติที่ลงไปแล้ว และญัตติอื่นที่มีการทบทวนก็จะเกิดประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้บอกว่าต้องทบทวนในสิ่งที่พิจารณาไปแล้ว ดังนั้นก็จะดำเนินการตามนี้

related