svasdssvasds

สรุปกระแส "ปังชา" ดราม่าร้อนแรง ยังคงกระหึ่มบนโซเชียล

สรุปกระแส "ปังชา" ดราม่าร้อนแรง ยังคงกระหึ่มบนโซเชียล

กระแสการฟ้องร้องลิขสิทธิ์ของร้านอาหารชื่อดัง กับชื่อ "ปังชา" และจาน ยังคงเดินหน้าความร้อนแรงกันต่อเนื่อง เมื่อทางเจ้าของร้านเดินหน้าฟ้องร้องร้านค้ารายย่อยกันไม่จบ

คำว่า "ปังชา" ที่มีการฟ้องร้องการละเมิดลิขสิทธิ์กว่า 102 ล้านบาทกับร้านค้ารายย่อย ทำให้แฮชแท็ก #ปังชา พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องบนทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลังกระแสการฟ้องร้องและประกาศดำเนินคดีด้านลิขสิทธิ์ตลอดสัปดาห์ จนนำไปสู่การถกเถียงกันว่าจริงๆ แล้วคำว่า ปังชา นั้น ร้านอื่นๆ สามารถใช้ได้หรือไม่ และเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ทำการเก็บข้อมูลการพูดถึงกระแสปังชา ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 พบว่ามีการพูดถึงบนโซเชียลกำลังพูดถึงเรื่องนี้มีมากกว่า 19,000 ข้อความ และยังคงมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 วัน มีเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 2  ล้านเอ็นเกจเมนต์ แค่วันที่ 31 สิงหาคมเพียงแค่วันเดียว มีการพูดถึงสูงถึง 1.2 ล้านเอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียว

ข้อความส่วนใหญ่บนโซเชียลที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น

  • Facebook 63.48%
  • Twitter 29.78%
  • Youtube 5.03%
  •  Instagram 0.45%
  • อื่นๆ 1.26%

Credit Pic : Facebook ปังชา

สำหรับเรื่องราวส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งคำถามของชาวโซเชียล เกี่ยวกับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาและเครื่องหมายการค้ากับเมนู “ปังชา” ในครั้งนี้

ที่แบ่งเป็นหลายมุมมอง บ้างก็มองว่าไม่เป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก และเปรียบเทียบกับธุรกิจใหญ่อื่นๆ ที่ชื่อแบรนด์ถูกใช้เป็นคำเรียกสามัญไปแล้วแต่ไม่มีการฟ้องร้องใดๆ

รวมถึงบางความคิดเห็น ก็แสดงออกว่าจะเลิกสนับสนุนเพราะรู้สึกไม่พอใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

รวมทั้งยังมีอีกหลายโพสต์ที่ออกมาให้ความรู้เรื่องกฎหมายว่ามีความซับซ้อน จึงไม่น่าแปลกใจหากคนไทยจะสับสน และนักกฎหมายก็ร่วมให้ความรู้กันมากมายว่าแท้จริงแล้ว ปังชา ได้รับความคุ้มครองในด้านเครื่องหมายการค้า

ส่วนคำว่า ปังชา Pang Cha ไม่สามารถจดทะเบียนได้ เนื่องจากเป็นคำสามัญ หากองค์กรหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็จะลดข้อโต้แย้งบนโลกโซเชียลได้มากทีเดียว

Credit Pic : Facebook ปังชา

อย่างไรก็ตาม ปังชา ก็เจอกระแสตีกลับอย่างเร็ว เมื่อมีภาพส่งเสริมการตลาดบางชิ้นที่เจอปัญหา ‘ลอกเลียนแบบ’  และสร้างความสับสนในแบรนด์เช่นกัน

โดยมีนักออกแบบได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงโลโก้ประกอบผลิตภัณฑ์ ก็มีความคล้ายคลึงกับลายเส้นหญิงชุดไทยนั่งพับเพียบ เกล้าผมมวยพันอก ทัดดอกไม้ ใส่สร้อยคอ ยื่นมือขวาเหยียดยาว ที่อยู่บนปฏิทินของอีกแบรนด์หนึ่งในปี 2550 เรียกได้ว่าเกิดการตั้งคำถามถึงเรื่องความเป็นต้นฉบับ (Originality) ทำให้ทางแบรนด์เอง ก็ถูกมองว่าได้ไปลอกเลียนแบบงานของคนอื่นมาเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความสับสนในตัวแบรนด์ระหว่างร้าน ‘ลูกไก่ทอง’ ที่ถูกพูดถึง และร้าน ‘ไก่ทองออริจินัล’ ที่โดนผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว เพราะชื่อคล้ายคลึงกัน จนต้องมีประกาศออกมาว่าไม่มีความเกี่ยวข้องในการตัดสินใจและการดำเนินการใด ๆ ในทางธุรกิจทั้งสิ้น 

และแม้ดราม่าดังกล่าว จะเป็นที่ถกเถียงกันบนโซเชียลอย่างต่อเนื่อง แต่อีกมุมหนึ่งยังคงมีการโพสต์ภาพปังชา รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเกี่ยวข้อง ทั้งชาไทย น้ำแข็งไส และขนมปังปิ้ง

เรียกได้ว่าการเห็นภาพขนมหวานยามดึก น่าจะทำให้คนเสพย์โซเชียลหิวขึ้นมาได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนก็ตาม คนไทยขอเลือกอิ่มท้องก่อนเป็นอันดับแรก!

ถือว่าเป็นความน่าสนใจของแบรนด์เกี่ยวกับการออกจดหมายชี้แจงเรื่องลิขสิทธิ์ว่าควรดำเนินการไปในทิศทางไหนถึงจะเหมาะสม และการฟ้องร้องใช่ทางออกของปัญหาจริงหรือไม่ เพราะแม้คนจะจดจำชื่อแบรนด์ได้ แต่ผลกระทบก็หนักเช่นกัน

 

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related