svasdssvasds

28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย ปี 2566 ครบรอบ 106 ปี พร้อมเปิดประวัติธงชาติ

28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย ปี 2566 ครบรอบ 106 ปี พร้อมเปิดประวัติธงชาติ

วันที่ 28 กันยายน เป็นวันสำคัญของชาติ (Thai National Flag Day) เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย ธงชาติถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ ธงชาติไทยแต่เดิมมีหลายรูปแบบ

• ประวัติธงชาติไทย 

 ในอดีตไทยเคยใช้ธงชาติในหลายรูปแบบ แต่ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่ก่อน ปี 2325 ไทยเคยใช้ธงพื้นแดงเป็นสัญลักษณ์ เพื่อติดต่อการค้าตั้งแต่สมัยอยุธยา จากนั้นวิวัฒนาการของธงชาตไทย เริ่มเปลี่ยนรูปแบบมา จนถึงปี 2394 เริ่มใช้ช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาเป็นสัณลักษณ์ ก่อนในปี 2460 จะประกาศใช้ธงไตรรงค์ ที่สะท้อนความเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์

ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์  ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย แสดงถึงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย มีความหมายถึงความเป็นเอกราช สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไป

28 ก.ย. 2566 ครบรอบ 106 ปี  วันพระราชทานธงชาติไทย ธงไตรรงค์ สัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจ

จนกระทั่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2460 

และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงชาติไว้ว่า สีแดง หมายถึง ชาติ คือประชาชน สีขาว หมายถึง ศาสนา และสีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ 

โดยธงไตรรงค์ หรือธงชาติไทย ถือเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของชาติ เป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนได้รำลึกถึงการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ เพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และร้อยดวงใจคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรักสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ก่อเกิดเป็นพลังยิ่งใหญ่ในการพัฒนาชาติไทย

ประวัติธงชาติไทย - ธงไตรรงค์ 

ย้อนไปในสมัยอยุธยา ได้มีการใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรใช้ธงสีแดงเหมือนกัน ควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน ทรงให้เพิ่มรูปจักรสีขาวอันเป็นเครื่องหมายแห่งราชวงศ์จักรีลงบนธงสีแดง เพื่อใช้สำหรับเรือหลวง นับเป็นครั้งแรกที่แยกธง สำหรับเรือหลวงและเรือราษฎร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงเพิ่มรูปช้างเผือกในรูปจักรสีขาวเพื่อใช้สำหรับ เรือหลวง เนื่องจากประเทศไทยได้ช้างเผือก 3 เชือก ส่วนเรือราษฎรใช้ธงสีแดงอย่างเดิม

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ทำให้สังเกตได้ยาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรือราษฎรใช้ธงสีแดงมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือหลวงใช้ธงสีขาบมีรูปช้างสีขาวอยู่ตรงกลาง และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับธง คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 116 พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 118 และใน พ.ศ. 2453 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ซึ่งกำหนดให้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นสีแดง

พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นจากระยะไกล มีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการ และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่สง่างามเพียงพอ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก 129 ให้ธงชาติเป็นพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสาธง ใช้เป็นธงราชการ ต่อมาได้ยกเลิกใช้ ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้ใช้ธงชาติแบบสีแดงสลับสีขาวห้าริ้ว และในพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เพราะประเทศไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งธงชาติส่วนใหญ่จะมี 3 สี จึงให้มีแถบสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินแก่ เรียกว่า ธงไตรรงค์ การเปลี่ยนแปลงมาเป็นธงไตรรงค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ ดังนี้

สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธํารงรักษาชาติและศาสนา
 สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
 สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 อธิบายลักษณะธงชาติว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลาง เป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ๆ ละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับธงชาติ คือ ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์จนปัจจุบัน

 

การชักธงชาติในราชอาณาจักรไทย

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ได้กำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติไว้ดังนี้

วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 มกราคม 1 วัน

วันมาฆบูชา 1 วัน

วันจักรี วันที่ 6 เมษายน 1 วัน

วันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน 1 วัน

วันฉัตรมงคล วันที่ 4 พฤษภาคม 1 วัน

วันพืชมงคล 1 วัน

วันวิสาขบูชา 1 วัน

วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 1 วัน

วันอาสาฬหบูชา 1 วัน

วันเข้าพรรษา 1 วัน

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 กรกฎาคม 1 วัน

วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 1 วัน

วันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน 1 วัน

วันสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 1 วัน

วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ วันที่ 5, 6 ธันวาคม 2 วัน

วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 1 วัน

สำหรับการชักธงไทยและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่น ๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related