svasdssvasds

แนวทางรายงานข่าวเหตุยิง ข้อปฏิบัติ-โพสต์โซเชียล ต้องพึงระวังอะไรบ้าง ?

แนวทางรายงานข่าวเหตุยิง ข้อปฏิบัติ-โพสต์โซเชียล ต้องพึงระวังอะไรบ้าง ?

ย้อนดู แนวทางรายงานข่าว เหตุยิง และข้อปฏิบัติ ในการรายงานข่าว และ โพสต์โซเชียล โพตส์ในโลกออนไลน์ ต้องพึงระวังอะไรบ้าง ?

สิ่งสำคัญในการรายงายข่าว ซึ่งเป็นเหตุเฉพาะหน้า และมีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องมีข้อระวังหลากหลายอย่าง  โดยฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้รายละเอียดไว้อย่งาน่าสนใจ หลากหลายข้อดังนี้ 


• หลีกเลี่ยงการเผยแพร่สภาพศพผู้เสียชีวิต
หากมีความจำเป็นเผยแพร่ภาพเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้พึงระมัดระวังภาพผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือสุ่มเสี่ยงที่จะซ้ำเติมความทุกข์โศกของญาติผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ สื่อควรใช้วิจารณญาณเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุกราดยิงที่มีความสยดสยองหรือสะเทือนใจ ควรนำเสนออย่างเห็นอกเห็นใจและเคารพต่อทั้งผู้สูญเสียและสังคมที่รับชมข่าวอยู่ และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก
 

•พึงระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลและภาพของผู้ก่อเหตุ 
เพื่อไม่ให้กลายเป็นการประโคมความสนใจของสังคมมายังตัวผู้ก่อเหตุ หรือทำให้ผู้ก่อเหตุกลายเป็นคนโด่งดังมีชื่อเสียง เพราะอาจจะเป็นการสนองความต้องการชื่อเสียงของผู้ก่อเหตุ และกระตุ้นให้เกิดเหตุเลียนแบบ (copycat) จากคนอื่นๆที่ต้องการชื่อเสียงจากเหตุกราดยิงบ้าง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ 

ดังนั้น สื่อมวลชนควรพยายามนำเสนอข้อมูลและภาพของผู้ก่อเหตุให้น้อยที่สุด รวมถึงข้อความต่างๆที่ผู้ก่อเหตุเขียนหรือโพสต์ไว้ก่อนลงมือ (manifesto) หากมีการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ ควรนำเสนอในบริบทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น เผยแพร่รูปผู้ก่อเหตุเพราะยังจับตัวไม่ได้ กล่าวถึงอาชีพหรือภูมิหลังของผู้ก่อเหตุเพราะเกี่ยวข้องกับการสอบสวนสาเหตุของทางการ เป็นต้น 
 

• พึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำเสนอข่าว
 สื่อมวลชนควรพึงระลึกว่า ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเหตุกราดยิงในช่วงแรกหลังเกิดเหตุ มีโอกาสคลาดเคลื่อนและผิดพลาดสูง สื่อมวลชนจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลเท่าที่ทำได้ ก่อนจะเผยแพร่เป็นข่าวสาร อย่ารายงานข้อมูลใดๆที่มาจากการคาดการณ์เองของสื่อมวลชน และถ้าหากพบว่าข้อมูลที่เผยแพร่ไป มีความคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาด ให้รีบลบหรือแก้ไขโดยไม่ชักช้า 

• หลีกเลี่ยงการเหมารวมว่าเหตุกราดยิงเกิดจาก “คนโรคจิต”
หรือนำเสนอข่าวในเชิงชี้นำว่าเหตุกราดยิงเกิดขึ้นเพราะอาการทางจิตโดยไม่มีหลักฐานใดๆประกอบ เพราะจะเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความเข้าใจผิดและความหวาดระแวงต่อบุคคลทั่วไปที่มีโรคหรืออาการทางจิต ซึ่งส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมได้ปกติ 

สื่อควรพึงระลึกด้วยว่า การวินิจฉัยอาการทางจิตของผู้ก่อเหตุ หรือความเชื่อมโยงระหว่างเหตุกราดยิงกับอาการทางจิตของผู้ก่อเหตุ ควรเป็นหน้าที่ของแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น สื่อไม่ควรเอาการคาดการณ์ของตนเอง หรือบุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง มาเป็นแหล่งข้อมูลในการฟันธงเรื่องอาการทางจิตของผู้ก่อเหตุ

นอกจากนี้ สื่อควรพึงระลึกว่า เหตุกราดยิงและความรุนแรงต่างๆ สามารถมาจากหลายสาเหตุได้ การที่ผู้ก่อเหตุมีประวัติเกี่ยวข้องกับอาการทางจิต ก็ไม่ได้แปลว่าอาการทางจิตนั้นเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่เหตุกราดยิงเสมอไป

• ควรทำข่าวและเสนอข่าวอย่างเห็นใจและเคารพต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ 
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ฯลฯ สื่อไม่ควรตามจี้สัมภาษณ์หรือเก็บภาพข่าวในลักษณะรังควานหรือละเมิดความเป็นส่วนตัว ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ด้วยการจี้ถามคำถามไม่เหมาะสม ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อมุ่งหวังเรตติ้งหรือยอดคลิก เป็นต้น ขณะเดียวกัน สื่อควรเคารพความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้สูญเสียในยามโศกเศร้าด้วย 

ในกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องเป็นเด็กหรือเยาวชน สื่อต้องทำข่าวและเสนอข่าวตามหลักวิชาชีพและกฎระเบียบว่าด้วยเด็กและเยาวชนอย่างเคร่งครัด


ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเห็นการเสนอข่าวสารที่เข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณ สามารถแจ้งเหตุและร้องเรียนกับ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ได้ที่ลิงก์นี้ 

ไม่ควรให้เนื้อที่ข่าวต่อผู้ก่อเหตุมากเกินไป จนกลบพื้นที่ของผู้สูญเสีย สื่อไม่ควรทำให้ผู้สูญเสียกลายเป็นเพียงตัวเลขหรือสถิติเท่านั้น  แต่ควรนำเสนอประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูญเสียด้วย เช่น นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตด้วยความเคารพและสร้างสรรค์ เสนอข่าวเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุกราดยิงต่อครอบครัวผู้สูญเสียและคนใกล้ชิด โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมระลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุกราดยิง และเห็นอกเห็นใจต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดของผู้สูญเสีย 

ทั้งนี้ สื่อควรหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอภาพของผู้ก่อเหตุเคียงคู่กับภาพผู้สูญเสียด้วย

สำนักข่าวต้องดูแลและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด ผู้รับผิดชอบในต้นสังกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร บรรณาธิการ หรือหัวหน้าข่าว ควรเข้าใจว่าการปฏิบัติงานเกาะติดข่าวเหตุกราดยิง อาจสร้างผลกระทบทางจิตใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างนักข่าวหรือช่างภาพด้วย เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานต้องพบเจอภาพและรายละเอียดที่สะเทือนใจในลักษณะซ้ำไปซ้ำมา ต้นสังกัดควรมีความเข้าใจและให้การสนับสนุนต่อผู้ปฏิบัติงานในทุกด้านๆ อาทิ ให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต, จัดเวรสับเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม, ให้คำแนะนำและการอบรมที่เป็นประโยชน์แก่คนทำงาน, ไม่กดดันให้ผู้ปฏิบัติงานละเมิดสิทธิผู้อื่นเพื่อเอาภาพหรือข่าวที่ต้นสังกัดต้องการ เป็นต้น

•  พึงระลึกว่า สื่อมีพลังและอิทธิพลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
สื่อไม่ควรรายงานข่าวเพียงแค่มุ่งหวังแต่ยอดคลิก เรตติ้ง หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่สื่อเองก็สามารถมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมด้วยเช่นกัน และควรใช้บทบาทนั้นเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ

เช่น นำเสนอเรื่องราวการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิง จี้ถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการต่างๆที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนในอนาคต กระตุ้นให้เกิดการถอดบทเรียนร่วมกันในสังคมเกี่ยวกับสาเหตุของเหตุกราดยิง คอยติดตามกระบวนการเยียวยา และช่วยเป็นปากเสียงให้กับผู้สูญเสียที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือตามที่ควรจะได้รับ ฯลฯ สื่อไม่ควรปล่อยให้ข่าวเงียบหายไปตามวงจรความสนใจ 

หมายเหตุ: สื่อมวลชนที่สนใจ สามารถศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆได้ดังนี้

แนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว โดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ 

แนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กที่มีผลต่อครอบครัวและสังคม โดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

ที่มา : tja.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related