svasdssvasds

รัฐปราบประชาชน! บทเรียนประชาธิปไตยที่ประเทศอื่นเขาจำ แต่ไทยทำให้ลืม?

รัฐปราบประชาชน! บทเรียนประชาธิปไตยที่ประเทศอื่นเขาจำ แต่ไทยทำให้ลืม?

เดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาที่นักกิจกรรมและนักประชาธิปไตยหลายคนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองและกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ทิ้งบาดแผลไว้ให้ใครหลายๆ คน

ไทยทำให้ลืม


เหตุการณ์ขวาพิฆาตซ้ายและรัฐปราบประชาชนในวันที่ ‘6 ตุลา 2519’ กลายเป็นความทรงจำเลือนลางที่แทบหาไม่ได้ในแบบเรียนสังคมศึกษาและวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียน และมีเพียงกิจกรรมวางพวงมาลาของกลุ่มนักศึกษา ญาติวีรชน และบางกลุ่มการเมือง ที่ยังคงร่วมพิธีรำลึกที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ หนึ่งในสถานที่เกิดเหตุ


จำนวนผู้เสียชีวิต 45 ราย ไม่สามารถระบุตัวตนได้ 7 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับร้อย และผู้ถูกจับกุมอีกนับพัน ยังไม่ได้รับความยุติธรรม ยังไม่รวมผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายที่ตกสำรวจจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกจำนวนมาก แม้จะมีความพยายามจากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมให้ชำระประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่กระบวนการทำให้ลืมของฝ่ายขวาและผู้มีอำนาจยังมีอิทธิพลเหนือกว่า เช่น คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือกระบวนการทางตุลาการ เป็นต้น ยังไม่รวมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 2516 พฤษภาทมิฬ 2535 หรือการสลายการชุมนุม นปช. 2553 ก็ล้วนแต่ผ่านกระบวนการทำให้ลืม ผ่าน Big Cleaning Day หรือการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น 

รัฐปราบประชาชน! บทเรียนประชาธิปไตยที่ประเทศอื่นเขาจำ แต่ไทยทำให้ลืม?

 เกาหลีใต้ทำให้จำ

ในประเทศเกาหลีใต้มีประวัติศาสตร์ที่คล้ายกันคือรัฐสั่งการสังหารหมู่ประชาชน นักศึกษาที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในช่วงวันที่ 18 พฤษภาคม 2523 ที่เมืองควังจู ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิต 144 รายและบาดเจ็บหลายพันราย และในปี 2539 ผู้นำพลเรือนประกาศนโยบายปฏิรุปทางการเมือง และนำอดีตผู้นำเผด็จการที่สั่งการล้อมปราบประชาชนขึ้นศาล และดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนยังก่อตั้งมูลนิธิ May 18 พร้อมทั้งจัดงานรำลึกและมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนให้กับนักกิจกรรมทั่วเอเชีย จัดนิทรรศการขยายใหญ่ทั้งชั่วคราวและถาวรทั่วเมืองเพื่อรำลึกถึงบาดแผลทางประวัติศาสตร์และผู้เสียชีวิตในเหตุการดังกล่าว หลายนิทรรศการระบุรายละเอียดของผู้เสียชีวิตและการกระทำของรัฐแบบเสมือนจริงจนเหมือนผู้ชมเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงการจัดการเคารดวงวิญญาณของเหล่าวีรชนที่สุสานซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ มีประธานาธิบดีเข้าร่วมงานทุกปี
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการสร้างความรู้สึกร่วมของคนรุ่นใหม่ให้ระลึกถึงกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต และสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในปัจจุบัน รวมทั้งมีการรายงานข่าว หรือจัดทำภาพยนตร์ขึ้นมาเพื่อตอกย้ำภาพเหตุการณ์ในอดีตและฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Peppermint Candy’ ปี 1999 ‘May 18’ ปี 2007 ‘A Taxi Driver’ ปี 2017 เป็นต้น

ทำไมไทยก้าวไม่ข้ามกระบวนการปรองดอง

รอยแผลที่บาดลึกในสังคมไทยจากขวา-ซ้าย มาสู่เหลือง-แดง และความขัดแย้งระหว่างวัย ถูกทำให้ลืมต้นเหตุของความขัดแย้ง แล้วรัฐประหารเพื่ออ้างว่าจะสร้างความปรองดอง เพิ่มอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระผ่านตุลาการภิวัตน์ แต่สุดท้ายมันคือการรักษาฐานอำนาจเดิมและใช้กลไกของรัฐกดทับความแค้น การสูญเสีย และความขัดแย้งไว้ภายใต้อำนาจ มันจึงเป็นเพียงรอยร้าวในสังคมที่พร้อมจะแตกปริออกมาได้ทุกเมื่อที่ฝ่ายผู้มีอำนาจอ่อนกำลัง

เปรียบเทียบกับกรณีศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ กระบวนการสร้างความปรองดอง (Reconciliation) เริ่มต้นด้วยกระบวนการยุติธรรมเพื่อสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิด รัฐสร้างระบบการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียร่วมกับการทำงานของภาคประชาสังคม นำมาสู่การวางรากฐานประชาธิปไตยที่มั่นคง

ความหวัง: แก้รัฐธรรมนูญ-คืนความเป็นธรรมให้เหยื่อ


อาจพูดได้ว่าผลการเลือกตั้งปี 2566 สะท้อนความต้องการการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของโหวตเตอร์คนรุ่นใหม่ แต่การจัดตั้งรัฐบาลกลับไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังในพรรคอันดับหนึ่งและสองร่วมมือกัน แต่ความหวังของนักกิจกรรมยังเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะนำมาซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในยุค คสช. ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การยกเลิกคำสั่ง คสช. และคณะรัฐประหารตั้งแต่อดีตจะลดผลพวงจากการทำรัฐประหารและป้องกันไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ได้ 
สุดท้าย คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ญาติของผู้เสียหายยื่นฟ้องผู้สั่งการได้โดยตรง โดยหวังว่าการรื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมและคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหายจะนำมาซึ่งทางออกสังคมได้บ้าง


เพราะหากรอรัฐบาลที่ยังคงอิงอยู่กับกลุ่มขั้วอำนาจเดิม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและบาดแผลทางประวัติศาสตร์ คงถูก “ทำให้ลืม” มากกว่าที่จะชำระประวัติศาสตร์ คืนความเป็นธรรมให้ผู้วายชนม์และ “สร้าง การจดจำ” ให้การต่อสู้เป็นบทเรียนทางการพัฒนาประชาธิปไตย 

related