svasdssvasds

ธุรกิจ ‘ล้มละลาย’ กับ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่างกันอย่างไร ? กรณีศึกษา JKN

ธุรกิจ ‘ล้มละลาย’ กับ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่างกันอย่างไร ? กรณีศึกษา JKN

รู้หรือไม่ ? ธุรกิจ ‘ล้มละลาย’ กับ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ต่างกันอย่างไร ? มีข้อดี ข้อเสียยังไง กรณีศึกษา JKN ของแอน จักรพงษ์ ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย

การทำธุรกิจเมื่อมาถึงจุด จุดหนึ่งแล้วกิจการไม่ค่อยจะสู้ดีนัก เห็นหลายบริษัทมักจะใช้วิธีการฟื้นฟูกิจการ อย่างเช่น กรณีที่บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483

ซึ่งเป็นการ การเปิดโอกาสให้กิจการ สามารถตั้งตัวและหาทางชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยที่กิจการยังดำเนินต่อไปได้ โดยการฟื้นฟูกิจการ และการล้มละลาย นับได้ว่าเป็นวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ในกรณีที่กิจการมีหนี้สินคงค้างจำนวนมาก เกินกว่าที่จะบริหารจัดการ หรือไม่สามารถชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้

 

ทั้งนี้การล้มละลายจะมีกระบวนการที่เรียกว่าพิทักษ์ทรัพย์ ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการเข้ามาดูแล และรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อมาชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผ่านการยึดหรืออายัด แล้วนำมาขายทอดตลาด โดยที่ลูกหนี้ไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ กับทรัพย์สินได้ ซึ่งการล้มละลาย คือ การที่กิจการหรือลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัว (หนี้บุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หนี้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท)

แต่…การฟื้นฟูกิจการนั้น จะต้องมีการยื่นร้องขอฟื้นฟูกิจการ และอาศัยอำนาจศาลในการออกคำสั่งฟื้นฟูกิจการ โดยมีสิทธิ์ในขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

  • ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
  • ลูกหนี้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดบริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
  • จำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
  • ลูกหนี้มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและมีเหตุอันสมควร (ต้องไม่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด)
  • ยื่นคำขอโดยสุจริต

อย่างไรก็ตามศาลจะพิจารณาจากแผนการฟื้นฟูกิจการที่ถูกจัดทำขึ้น ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้ ศาลก็จะออกคำสั่งให้มีการฟื้นฟูกิจการ ข้อดีของการฟื้นฟูกิจการ มีดังนี้

  • นำไปสู่การพักชำระหนี้
  • รักษาสภาพคล่องของกิจการให้ดำเนินธุรกิจต่อไป
  • ช่วงเวลาที่พักชำระหนี้ กิจการสามารถดำเนินการตามปกติ เปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร
  • ช่วยรักษาการจ้างงานต่อไป
  • เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น
  • เจ้าหนี้ก็มีโอกาสที่จะได้รับการชำระหนี้มากกว่าปล่อยให้ลูกหนี้ล้มละลาย

ข้อเสียของฟื้นฟูกิจการ คือ

  • ไม่สามารถทำธุรกรรมที่เพิ่มภาระ หรือทำข้อผูกมัดต่อทรัพย์สินของกิจการได้
  • ห้ามจำหน่าย ห้ามโอน ห้ามให้เช่า ห้ามก่อหนี้เพิ่มเติมเด็ดขาด
  • จะทำการดได้ศาลอนุญาตให้ทำ หรืออยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลอนุมัติ

สรุปคือ "การฟื้นฟูกิจการ" ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ขณะที่ "การล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์" นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , ธนาคารไทยพาณิชย์ , กรมบังคับคดี

 

related