svasdssvasds

ประชาธิปัตย์ลาออกไม่หยุด สมาชิกทยอยหนีเรื่อยๆ

ประชาธิปัตย์ลาออกไม่หยุด สมาชิกทยอยหนีเรื่อยๆ

‘พระแม่ธรณีเลือดไหลไม่หยุด’ ปิดตำนาน ‘อภิสิทธิ์’ - สาธิต ลั่นพรรคละทิ้งอุดมการณ์ ส่วนสมาชิกประชาธิปัตย์คนอื่นๆ ที่อยู่มานาน ทยอยลาออกเรื่อยๆ

พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยมาตลอดหลายทศวรรษ แต่ในวันนี้หากจะกล่าวว่า “พรรคประชาธิปัตย์ยิ่งกว่าวิกฤต” ก็คงไม่ผิด เพราะนอกจากจะสูญพันธ์ุไปจาก กรุงเทพมหานครฯ ที่เคยเป็นพื้นที่ฐานคะแนนเสียงหลักแล้ว พรรคยังถูกมองจากทั้งคนภายใน และภายนอกว่า ขาดอุดมการณ์ที่ชัดเจน แถมในพรรคก็ยังมีการแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันตลอดเวลา จนทำให้เสียภาพลักษณ์ลงเรื่อยๆ ทุกวัน

อย่างไรก็ตาม วันที่ 9.ธ.ค.2566 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เจ้าของวลี ‘คำไหน คำนั้น’ ที่เคยประกาศว่าวางมือจากการเมืองไปแล้ว ได้กลับมารับรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีคืนให้แก่พรรค แต่ทว่ายังไม่ทันได้ทำอะไร สัญญาณหายนะก็ปรากฏทันที เพราะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์กลับทยอยลาออกอย่างต่อเนื่อง

ปิดตำนาน ‘อภิสิทธิ์’

คนแรกที่ประกาศลาออกคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยในวันที่ 9.ธ.ค.2566 ระหว่างประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์

โดยนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ซึ่งอภิสิทธิ์ก็ลุกขึ้นกล่าวต่อหน้าที่ประชุมว่าตนยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ยิ่งกว่าวิกฤต ซึ่งปัญหาหลักคือความเป็นเอกภาพ หลายคนถามว่าทำไมถึงไม่มีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน แต่ตนยืนยันว่าที่ผ่านมาตนไม่เคยปฏิเสธที่จะไม่พูดคุย หลายคนพยายามประสานให้พูดคุย แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง

‘อภิสิทธิ์’ ลาออก

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า "ผมมาได้ข้อสรุปตรงนี้ วันนี้มันไม่ใช่เรื่องใครชนะใครแพ้ ไม่ว่าจะเหลือผู้สมัครคนเดียว ๒ คน หรือ ๓ คน วันนี้ พรรคเดินต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ผมลงผมแพ้ ก็น่าจะมีปัญหา ผมลงผมชนะยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อนในห้องนี้หลายคนจะยอมรับหรือไม่ก็แล้วแต่" 

"บางคนไม่มาในวันนี้โดยเจตนาด้วย มาถามผมว่าทำไมไม่คุยกัน ทำไมไม่คุยกัน และต่อมาก็มีการไปพาดพิงกันบ้างว่า ผมไม่ยอมคุย ผมก็ขอยืนยันนะครับว่า ถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง แล้วผมขอบคุณ เอ่ยนามก็ได้ ไม่รู้ว่าท่านจะเดือดร้อนหรือเปล่านะ คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณเจิมมาศ คุณวทันยา พยายามไปพูดว่าคุยกันเถอะ แต่ได้รับการปฏิเสธ 

"ผมก็ไม่กล้าที่จะไปสอบถามหรอกว่า เหตุผลการปฏิเสธมันเป็นอย่างที่ตอบมาหรือเปล่า แต่คำตอบชัด คือไม่คุย เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อท่านเสนอ เมื่อท่านอดีตหัวหน้าท่านกรุณาเสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมนะ"

จากนั้นที่ประชุมให้พักการประชุม เป็นเวลา ๑๐ นาที หลังจากได้พูดคุยกับคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน ทาง นายอภิสิทธิ์ ก็ได้กลับมาพูดในที่ประชุมอีกครั้งว่า

“เข้าใจตรงกันทุกอย่างและท่านก็อธิบายว่า ท่านมีแนวทางจะเดินหน้าอย่างไร ผมก็อธิบายว่า ผมมีความคิดอย่างไร ซึ่งความจริงก็ได้ขยายความไปเยอะแล้วก่อนหน้านี้ ผมจึงเรียนอย่างนี้ครับว่า ได้เรียนกับท่านรักษาการหัวหน้าแล้วว่า ผมจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร ด้วยเหตุผลที่ท่านแจ้งให้ผมทราบ และด้วยเหตุผลเดียวกัน"

ก็ขอเรียนว่า ผมขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยืนยันกับทุกท่านที่นี่ ผมไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดผมมาก็เป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณีที่จะเอาอุดมการณ์ประชาธิปัตย์รับใช้บ้านเมืองต่อไป

"วันข้างหน้าถ้าในพรรคคิดว่า ผมจะเป็นประโยชน์มาช่วยได้ ผมก็คงไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้เพื่อให้ท่านที่มีสถานะ และจะมีอำนาจในการบริหารต่อไป ทำงานด้วยความสบายใจ ทำงานตามแนวทางอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหวาดระแวงเรื่องผม เรื่องใคร ใด ๆ ทั้งสิ้น ก็ขออนุญาตที่จะลาออก 

"แล้วก็ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกคนทั้งในห้องนี้ และไม่ได้อยู่ในห้องนี้ และเจ้าหน้าที่ของพรรคทุกคนที่ได้ทำงานและให้การสนับสนุนผมอย่างดีตลอดมา ผมมีแต่ความปรารถนาดีต่อพรรค และก็หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่ จะสามารถทำงานได้สำเร็จ ตามที่ท่านรักษาการหัวหน้าได้แจ้งกับผมเมื่อสักครู่ครับ ขอบคุณครับ”

หลังจากนั้นอภิสิทธิ์ก็เดินทางกลับออกจากโรงแรมมิราเคิลแกรนด์

สาธิต ลั่น ปชป. ละทิ้งอุดมการณ์

ภายหลังนายอภิสิทธิ์ลาออกไม่นาน นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็กล่าวกับนักข่าวระหว่างการประชุมด้วยว่า ขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ยืนยันจะไม่ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคไหนเช่นกัน

ทั้งนี้ นายสาธิต ระบุถึงสาเหตุที่ลาออกว่า สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ มีความเปลี่ยนแปลงเชิงอุดมการณ์อย่างมาก ที่ประชุมวันนี้เป็นการประชุมที่รู้ผลมาล่วงหน้า ทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เห็นว่าละทิ้งอุดมการณ์ของพรรค เห็นว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา มีคนสนับสนุนท่านเศรษฐาซึ่งมติพรรคมีการระบุไว้แล้ว

สาธิต ปิตุเตชะ ลาออก

มีคนกลุ่มหนึ่งของพรรคให้ความสำคัญคำว่าพรรคพวกมากกว่าอุดมการณ์ของพรรค เราเห็นทิศทางในอนาคตได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะปราศจากอุดมการณ์และให้ความสำคัญกับพรรคพวก

นายสาธิต กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ประชุมไม่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ และพรรคไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน รวมถึงละทิ้งอุดมการณ์ไปแล้ว

 

แม่ยกประชาธิปัตย์ยังไม่ทน

วันที่ 10 ธ.ค. 2566 ภายหลังการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หนึ่งวัน นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ติ๊งต่าง’ แม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศลาออกจากพรรคเช่นเดียวกัน พร้อมกับเขียนในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “ยกพรรคให้มันไป”

แม่ยกประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ยังได้โพสต์เพิ่มเติมในวันเดียวกันอีกว่า วานนี้ดิฉันได้ฟังนายเฉลิมชัยให้ข่าวว่า  "ปชป.ยุคใหม่ไม่มีวันเป็นอะไหล่ให้พรรคไหน"  ดังนั้นพรรคปชป.ในยุคนายเฉลิมชัยจะต้องไม่ขอไปเข้าร่วมรบ.เพื่อไทยนะ **ฉันจะคอยดู ที่ต้องมาพูดเรื่องนี้เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาของคุณและพวก มันมีการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจ เช่น การฝืนมติพรรคไปโหวตให้นายเศรษฐา

“ขอให้นายเฉลิมชัยจำคำพูดนี้ไว้ให้ดี อย่าให้ซ้ำรอยเดิมที่เคยบอกว่าจะเลิกเล่นการเมืองถ้าปชป.ได้สส.ต่ำกว่า 52 คน นี่นอกจากจะไม่เลิก ยังกล้ามานั่งรักษาการหัวหน้าพรรค และสุดท้ายมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค - เป็นนักการเมืองที่ดีต้องรู้จักคำว่า ศักดิ์ศรี” นางกาญจนี กล่าว

 

อรอนงค์ ขอเฝ้ามองด้วยความหวังดีตลอดไป

วันที่ 11 ธ.ค. 2566 นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีตสส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศลาออกเช่นกัน โดยโพสต์ภาพตนกับอภิสิทธิ์ และข้อความที่ระบุว่า "สจฺจํ เว อมตา วาจา ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป"

อรอนงค์ ลาออก

“25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้ามันข้น กรีดมายังไงก็ฟ้าแน่นอน ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไปค่ะ"

 

สาทิตย์...ด้วยรักและผูกพัน

วันที่ 11 ธ.ค. 2566 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีต สส.จังหวัดตรัง ได้โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก โดยระบุว่าคิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยอีกคน

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ลาออก

นายสาทิตย์กล่าวว่า “มันไม่ใช่จิตวิญญาณของพรรคประชาธิปัตย์ทึ่เคยเป็นหรือที่พวกเรารู้จักมาตลอด ผมจึงต้องลาออกมาก่อนเพื่อแสดงให้รู้ว่าเราต้องการจิตวิญญาณพรรคที่แท้จริง และชี้ให้เห็นว่าจิตวิญญาณแบบนี้มันไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจไปไหนหรือทำอะไร เพียงแต่เราออกมาเพื่อจะถอยมาตั้งหลัก และดูเหตุการณ์ว่าพรรคจะดำเนินการไปอย่างไรต่อไป”

“ผมขอฝากถึงคนที่อยู่กับพรรคต่อไปว่า ต้องตั้งคำถามให้หนักว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเกิดจากอะไร ขออย่าไปโทษคนอื่นว่าเขาไม่รักพรรคหรือไม่ห่วงพรรค ไม่ยอมไม่เข้ามาช่วยกันฟื้นฟู มันต้องมองให้พ้นตัวเองออกไปว่าทำไมคนที่เขาอยู่กับพรรคมายาวนาน จึงพร้อมใจกันคิดแบบนี้ หากจะมองในมุมของตัวเองเท่านั้น หรือมองไม่ผ่านจุดนี้ได้ก็ยากที่จะฟื้นฟูพรรคขึ้นมาใหม่อีกครั้ง”

ส่วนกรณีที่นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรค ระบุว่าหากรักพรรคจริงต้องอยู่พรรคต่อเพื่อช่วยกันฟื้นฟูพรรค นายสาทิตย์กล่าวว่า ขอย้อนกลับไปว่าหากรักพรรคจริงมันต้องไม่ทำแบบนี้มาตั้งแต่ต้น จะเห็นว่าคนที่ลาออกไปหลายคนใน2-3วันนี้ เป็นลูกหม้อของพรรคที่อยู่มายาวนานทั้งนั้น สำหรับตนเข้ามาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เป็นยุวประชาธิปัตย์ตอนเรียนมหาวิทยาลัย และเป็นกรรมการบริหารพรรคสาขาตรังตั้งแต่อายุครบเกณฑ์ และมาลงสมัครสส.ตั้งแต่ปี 2538 ได้เป็นสส.ยาวนานตลอดมาถึงการเลือกตั้งครั้งที่แล้วทั้งหมด 7 สมัยร่วม 28 ปี หากนับรวมๆ แล้วตนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาถึง 40 กว่า ปี ซึ่งตนเชื่อว่าจะอีกหลายคนที่จะทยอยลามีตามมาอีกจำนวนมาก

 

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ ที่ประกาศลาออก

  • นายสุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม.
  • นายวิบูลย์ ศรีโสภณ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดชีพตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2541 หมายเลข 41322781 

คนที่ขอพิจราณาต่อไป

  1. นางสาววทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) แคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
  2. นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา บุตรชายนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

related