svasdssvasds

สุริยะ เปิดผลงาน 99 วัน 9 เรื่องเด่น เร่งรัดทุกโปรเจกต์คมนาคม ลุยรถไฟฟ้า 20 บาท

สุริยะ เปิดผลงาน 99 วัน  9 เรื่องเด่น เร่งรัดทุกโปรเจกต์คมนาคม ลุยรถไฟฟ้า 20 บาท

“สุริยะ” เปิดผลงาน 99 วัน 9 เรื่องเด่น เร่งรัดทุกโปรเจกต์คมนาคม เชื่อมโยงบก – น้ำ – ราง – อากาศ ครบทุกมิติ ลุยทำงานเชิงรุกเต็มอัตรา สนองนโยบาย Quick Win ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโต - ประชาชนอยู่ดีมีสุข

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการแถลงผลงาน 99 วัน 9 เรื่องเด่น โครงการสำคัญเร่งด่วน พร้อมขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม ตามนโยบาย Quick win พร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) ณ ห้องราชดำเนิน อาคารราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคมว่า ในระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการ และนโยบายต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ รวมถึงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบาย Quick win ของรัฐบาล

สุริยะ เปิดผลงาน 99 วัน  9 เรื่องเด่น เร่งรัดทุกโปรเจกต์คมนาคม ลุยรถไฟฟ้า 20 บาท

 

ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลา 99 วันที่ผ่านมา มี 9 โครงการเด่นที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม ดังนี้

1. มาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ใน 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาล ส่วนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในโครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางอื่น ๆ นั้น ขณะนี้ กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่า จะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในระยะต่อไป

“โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องชิ้นโบว์แดง ทั้งนี้กระทรวงอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนเพื่อประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ซึ่งจะต้องผ่านพ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยต้งเป้าหมายว่าผู้โดยสารจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางภายใน 2 ปี” 

2. การเปิดใช้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินในปัจจุบัน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

3. เปิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) พร้อมทั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติเชื่อมต่อระหว่างอาคาร SAT-1 กับอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

4. เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยเตรียมเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี 2 เส้นทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 คือ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ช่วงปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. และมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ช่วงนครปฐม ฝั่งตะวันตก – กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. และเปิดให้บริการใช้งานฟรีต่อเนื่องจนกว่าด่านเก็บค่าผ่านทางจะแล้วเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง 

ขณะเดียวกัน ยังได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เส้นทางนครปฐม - ชุมพร และได้เปิดให้บริการช่วงสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนถึงจุดหมายได้เร็วขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งการขนส่งสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถอีกต่อไป

5. การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ โดยการยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วยระบบตั๋วร่วม พร้อมทั้งออกแบบรองรับผู้ใช้บริการทุกประเภท โดยมีแผนพัฒนาท่าเรือเป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) ทั้งหมด 29 ท่า ซึ่งขณะนี้ปรับปรุงเสร็จแล้ว จำนวน 9 ท่า อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้าง จำนวน 5 ท่า และในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 15 ท่า จะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องต่อไป

6. เดินหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (Landbridge) โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดดำเนินโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) โดยล่าสุดได้ร่วมประชาสัมพันธ์โครงการ Landbridge ในการประชุมเอเปค ครั้งที่ 30 ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงการประชุมสุดยอดอาเซียนญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจเป็นจำนวนมาก

7. การปรับเปลี่ยนรถยนต์ใช้น้ำมัน (สันดาป) เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงรถสาธารณะทุกชนิดให้เป็น EV โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจพิจารณาเปลี่ยนรถยนต์สันดาปที่หมดอายุสัญญาเช่าให้เป็นรถยนต์ EV ซึ่งจะนำร่องกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่จะทยอยปรับเปลี่ยนรถที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมด ให้เป็นรถยนต์ EV รวมถึงรถส่วนกลางที่จะหมดสัญญาเช่า จะเริ่มสัญญาเช่ารถใหม่ให้เป็นรถยนต์ EV ด้วย เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ หรือฝุ่นละออง PM 2.5 สอดรับนโยบายอากาศสะอาดเพื่อประชาชน

8. โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ การพัฒนาทาาอากาศยานภูเก็ต (ระยะที่ 2) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572, โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร ทล.4027 ช่วง บ.พารา - บ. เมืองใหม่, โครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง, การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 จ.พังงา โดยขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างทบทวนข้อกำหนดรายละเอียดในการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการในเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานฯ - ห้าแยกฉลอง) ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ เพื่อให้โครงการฯ เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2574 อย่างไรก็ตาม โครงการในจังหวัดภูเก็ตที่กล่าวมานั้น จะสามารถลดปัญหาการจราจร และเพื่อเสริมศักยภาพให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

9. การปราบส่วยทางหลวง แก้ปัญหาการทุจริต โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดรวมถึงแก้ไขข้อกฎหมายให้มีบทลงโทษมากขึ้น รวมถึงมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว

“สำหรับทั้ง 9 ผลงาน และโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะสามารถขับเคลื่อนภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีมาตรฐานตามระดับสากล รวมถึงเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น และกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาค” นายสุริยะ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related