svasdssvasds

เปิดเงื่อนไข “แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์” ต้องส่งข้อมูลรายได้ให้สรรพากร

เปิดเงื่อนไข “แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์” ต้องส่งข้อมูลรายได้ให้สรรพากร

พามาเปิดเงื่อนไขแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ต้องส่งข้อมูลรายได้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ หลังสรรพากรเอาจริง ! ออกประกาศแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งข้อมูลรายได้พ่อค้า-แม่ค้าเข้าระบบ เริ่มรอบบัญชี วันที่ 1 ม.ค.2567 .

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั่วไป ที่ขายของผ่านเพจตัวเองไม่ต้องตกใจ เพราะงานนี้ กรมสรรพากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ โดยกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า ให้แพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อ-ขายสินค้านำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้กับข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ย้ำว่าแค่แพลตฟอร์มที่ให้บริการซื้อ-ขายสินค้า ยังไม่ได้เหมารวมพ่อค้าแม่ค้าที่ขายเองตามเพจของตัวเอง

 

ทั้งนี้เรื่องกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ ประกอบกับข้อ ๖ และ ข้อ ๗ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ โดยให้จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ดังต่อไปนี้

เปิดเงื่อนไข “แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์” ที่ต้องส่งข้อมูลรายได้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์

  • ข้อ ๑ ในประกาศนี้ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ผู้ให้บริการผ่านสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ไม่รวมถึงกิจการของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ “ผู้ประกอบการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งเสนอสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม “ผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ให้จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร“บัญชีพิเศษ” หมายความว่า บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจากผู้ประกอบการ
  • ข้อ ๒ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกินหนึ่งพันล้านบาท มีบัญชีพิเศษอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเกินหนึ่งพันล้านบาทตามวรรคหนึ่งแล้วและต่อมามีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินหนึ่งพันล้าน ให้ยังคงมีหน้าที่จัดทำบัญชีพิเศษ
  • ข้อ ๓ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำข้อมูลบัญชีพิเศษขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรประกาศไว้บนเว็บไซต์กรมสรรพากร แนบหรือรวมไปกับข้อมูลดังกล่าว เพื่อส่งให้แก่กรมสรรพากรโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ในการสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) นั้น ต้องยังไม่หมดอายุในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature)
  • ข้อ ๔ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มยื่นคำขออนุญาตเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตน กับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อกรมสรรพากร โดยอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มนั้นต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะตามข้อ ๖ (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศตามที่อธิบดีประกาศกำหนดระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ต้องมีลักษณะตามวรรคหนึ่งเสมอให้อธิบดีมีอำนาจไม่อนุญาตหรือยกเลิกการอนุญาตการเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร
  • ข้อ ๕ อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจะมอบหมายให้ผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษแทนก็ได้โดยอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ต้องแจ้งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรให้ผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งยื่นคำขออนุญาตเชื่อมระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่ออธิบดี โดยผู้นั้นต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะตามข้อ ๗ (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศตามที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประกาศกำหนดระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรต้องมีลักษณะตามวรรคสองเสมอให้อธิบดีประกาศรายชื่อผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับอนุญาตตามวรรคสองให้อธิบดีมีอำนาจไม่อนุญาตหรือยกเลิกการอนุญาตการเชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรและลบชื่อออกจากประกาศตามวรรคสี่
  • ข้อ ๖ ผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ ๕ รายใดมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๘๔ (พ.ศ. ๒๕๖๕) ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ และไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งหรือที่ได้รับแจ้งผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กรมสรรพากรอาจยกเลิกการอนุญาตให้เชื่อมต่อระบบ และลบรายชื่อออกจากบัญชีผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ได้ประกาศไว
  • ข้อ ๗ ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มตามข้อ ๒ หรือผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ ๕ นำส่งข้อมูลนั้นบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
  • ข้อ ๘ กรณีอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ได้นำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษตามข้อ ๗ แล้ว แต่มีความประสงค์จะขอแก้ไข ยกเลิก หรือเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนั้น ให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการจัดทำและนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวแจ้งและส่งข้อมูลบัญชีพิเศษเกินกำหนดเวลาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร
  • ข้อ ๙ ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการส่งข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ผู้ประกอบการทั้งหลายก็ต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติตามประกาศของกรมสรรพากร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related