svasdssvasds

'อ.เจษฎ์' ไขข้อสงสัย แสงแรกวันขึ้นปีใหม่ อยู่ที่ตากใบ ไม่ใช่อำเภอโขงเจียม

'อ.เจษฎ์' ไขข้อสงสัย แสงแรกวันขึ้นปีใหม่ อยู่ที่ตากใบ ไม่ใช่อำเภอโขงเจียม

รู้หรือไม่ แสงแรก วันขึ้นปีใหม่ 2567 อยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไม่ใช่ผาชะนะได อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 'อ.เจษฎ์' มีคำตอบ

อ.เจษฎ์ หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Jessada Denduangboripant" เกี่ยวกับ แสงแรก วันขึ้นปีใหม่ 2567 อยู่ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ไม่ใช่ผาชะนะได อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยระบุข้อความว่า..."อำเภอตากใบ เห็นแสงแรกปีใหม่ ก่อนอำเภอโขงเจียม 1 นาที"

วันนี้เห็นคนโพสต์รูปนี้กันหลายคน แต่ไม่ใส่เนื้อหาประกอบ เลยเอามาเขียนเล่าเรื่องให้ฟังรายละเอียดกันหน่อยครับ

แต่ไหนแต่ไรมา เรามักจะเข้าใจกันว่า จุดที่พระอาทิตย์ขึ้น เป็นจุดแรกของแผ่นดินประเทศไทย ก็คือที่อำเภอโขงเจียม โดยฟังจากเสียงโฆษกของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ที่ประกาศข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า"พระอาทิตย์จะขึ้นที่บริเวณผาชะนะได อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในเวลา .........นาฬิกา"

'อ.เจษฎ์' ไขข้อสงสัย แสงแรกวันขึ้นปีใหม่ อยู่ที่ตากใบ ไม่ใช่อำเภอโขงเจียม

ซึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะบริเวณ ผาชะนะได นี้ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ไปตั้งจุดวัดตะวันขึ้นเอาไว้จริงๆ และทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นจุดแรกของประเทศ ที่ในวันปีใหม่จะได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนที่อื่นๆ ในประเทศ

แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายวิมุติ วสะหลาย ฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลับได้ความรู้กันใหม่ว่า ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะแม้ อ.โขงเจียม จะเป็นบริเวณที่อยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นที่นั่น ก่อนที่อื่นทุกวัน เนื่องจาก "แกนหมุนของโลก" เอียง แนวรอยต่อตอนเช้า จึงไม่ได้ขนานกับเส้นลองจิจูด (เส้นแวง) เสมอ

โดยในฤดูร้อน แนวรอยต่อจะเอียงซ้าย ทำให้ทางตอนเหนือของประเทศ จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางใต้ ที่เส้นลองจิจูดเท่ากัน ส่วนฤดูหนาว รอยต่อจะเอียงขวา ทำให้ทางตอนใต้จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนทางเหนือ ที่ลองจิจูดเท่ากัน

ดังนั้น วันขึ้นปีใหม่ของทุกปี แนวรอยต่อเช้า จะเอียงไปทางขวาเป็นมุมประมาณ 23 องศา ซึ่งถือว่าเอียงมากเกือบที่สุดในรอบปี มากจนปลายด้ามขวานของประเทศไทยล้ำไปทางตะวันออกมากกว่า อ.โขงเจียม

ด้วยเหตุนี้ "บ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส" จึงเป็นพื้นที่แรกในประเทศไทย ที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น ไม่ใช่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี (แถม อำเภอแรกของ จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับแสงอาทิตย์ ก็เป็น อำเภอบุณฑริก ด้วย)

ซึ่งเรื่องนี้ ได้รับคำยืนยันจาก "สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)" ว่า เป็นความจริง ที่แสงแรกปีใหม่ ดวงอาทิตย์จะขึ้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ก่อน อ.โขงเจียม เพราะว่าแกนโลกเอียง และละติจูดของพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่า แต่จะขึ้นก่อนเพียง 1 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่างกันไม่มาก

และเพจเฟซบุ๊ก Navy For Life ได้เคยโพสต์ข้อมูลไว้ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน คือเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018 ว่า "แสงแรกแห่งปี ณ ประเทศ ไทยไม่ใช่อยู่ที่ผาชะนะได อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (แผ่นดินตะวันออกสุดของประเทศ) อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ หากแต่อยู่ที่ ตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปากน้ำโกลก ชายแดนไทยมาเล (แผ่นดินปลายขวานใต้สุดของประเทศ) @กระบี่ดำ #จากแกนโลกเอียงในฤดูหนาว #จากบรรณสารดวงอาทิตย์ขึ้นและตกกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ #จากการคำนวนวัดsextantเดินเรือดาราศาสตร์"

 

แอดมินเพจ Navy For Life ยังช่วยตอบคอมเมนต์คำถามที่ว่า "ทำไม ข่าววิทยุตอนเช้าของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่เคยประกาศว่าดวงอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกที่ อ.ตากใบ ฟังทุกครั้งก็ประกาศขึ้นที่ผาชนะได จ.อุบลราชธานี ตลอด?

โดยให้เหตุผลว่า "ปกติ แสงแรกอยู่ผาชนะไดครับ แต่ยกเว้นในบางช่วงของปีที่แกนโลกเอียง และ Azimuth ของดวงอาทิตย์ในแต่ละปีที่แตกต่างกันออกไป ประเทศไทยจึงอ้างอิงผาชนะไดเป็นแนวเส้นตะวันออกสุด ซึ่งนอกจากใช้กับแสงแรกแล้ว ยังใช้เป็นแนวอ้างอิง Zone Time อีกด้วย"

'อ.เจษฎ์' ไขข้อสงสัย แสงแรกวันขึ้นปีใหม่ อยู่ที่ตากใบ ไม่ใช่อำเภอโขงเจียม

จากทั้งหมดนี้ ทำให้หลังๆ นี้ เริ่มมีการจัดกิจกรรม "ชมแสงแรกที่ตากใบ" โดยเฉพาะที่บริเวณเกาะยาว อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้มารอชมแสงแรกกันเป็นจำนวนมาก ตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่บอกว่า จ.นราธิวาส มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ละติจูด 6 องศา 28 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 101 องศา 50 ลิปดาตะวันออก

และจากการค้นหาข้อมูลการขึ้นของดวงอาทิตย์ จากสมาคมดาราศาสตร์ไทย พบว่าในช่วงฤดูหนาว คือช่วงปลายปี จ.นราธิวาส จะเห็นแสงแรกของดวงอาทิตย์ก่อนจังหวัดอื่นๆ โดยจากสถิติข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2562 จ.นราธิวาส เป็นจังหวัดแรกที่ดวงอาทิตย์ขึ้น

สุดท้าย เป็นคลิปอนิเมชั่นของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานราธิวาส ที่ช่วยอธิบายว่าทำไมนราธิวาส จึงเห็นแสงแรกก่อนใคร ลองเข้าไปชมกันได้นะครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related