svasdssvasds

IO #ทหารมีไว้ทำไม ที่มาและเรื่องราว ปฏิบัติการข่าวสารสร้างสรรค์!?

IO #ทหารมีไว้ทำไม ที่มาและเรื่องราว ปฏิบัติการข่าวสารสร้างสรรค์!?

IO ทหารมีไว้ทำไม กรณีของพลอย ไพลิน คือปฏิบัติการไอโอของกองทัพหรือไม่ และในยุคนี้ไอโอยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่อีกหรือ?

สงครามสมัยก่อน มักรบกันด้วยกำลังอาวุธ แต่ในยุคแห่งการสื่อสารนี้ “ไอโอ” จึงถูกนำมาใช้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม โดยที่ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ และให้ผลตอบแทนดีเกินคาด

IO คืออะไร? : IO ย่อมาจาก Information Operation หรือ “ปฏิบัติการข่าวสาร” ซึ่งมีหลักการคือเน้นกระจายความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เพื่อโน้นน้าวให้คล้อยตามสิ่งที่ฝ่ายปล่อยข่าวต้องการ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เพื่อบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย

ทั้งนี้ ไอโอ ไม่ใช่กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ เพราะในอดีตก็มีการทำ “สงครามข่าวสาร (Information Warfare)” กันอยู่เรื่อยๆ เช่นในยุคสงครามเย็นที่ 2 มหาอำนาจ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ไม่ได้สู้รบกันโดยตรง แต่ปะทะกันผ่านตัวแทน และปล่อยข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความได้เปรียบและทำลายกันตลอดช่วงเวลาสงคราม และคำว่า Information Operation ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเอกสารของ กระทรวงกลาโหมสหรัฐในปี 2546

ไอโอคืออะไร

ส่วนในประเทศไทย ปฏิบัติการไอโอที่เห็นชัด คือ การทำสงครามข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นจุดที่กลุ่มก่อความไม่สงบและทางการ ต่างทำสงครามข่าวสารกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับฝ่ายของตน จึงทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มี “ข่าวลือ” มากที่สุดในประเทศ

ส่วนในยุคนี้ ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย ปฏิบัติการไอโอจึงสามารถเข้าถึงทุกคนได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ซึ่งวิธีการทำ “ไอโอ” ที่นิยมกัน คือเกาะกระแสที่สังคมสนใจ แล้วสร้างบัญชีขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อกระจายชุดความคิดที่สนับสนุนฝ่ายตัวเองออกไป นั่นจึงทำให้บางองค์กรเลือกใช้ไอโอประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงกองทัพไทย ที่ถูกเปิดโปงว่า มีการซุ่มทำไอโออยู่เรื่อยๆ โดยปฏิบัติการไอโอที่เป็นกระแสในไทย มีหลักๆ ดังต่อไปนี้

วิโรจน์ แฉ รัฐบาลไทยทำไอโอ คุกคามคนเห็นต่าง ?

วิโรจน์ แฉ รัฐบาลไทยทำไอโอ คุกคามประชาชน

วันที่ 25 ก.พ.63 น่าจะเป็นวันที่คนไทยรู้จักคำว่า ไอโอ อย่างแพร่หลาย เนื่องจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีส่วนรู้เห็นต่อกระบวนการที่สร้างความขัดแย้งของประชาชน ผ่านปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ เพื่อคุกคามคนที่เห็นต่าง และมีหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารลับ 3 ฉบับ ดังนี้

  • ฉบับแรกลงวันที่ 25 เมษายน 2562 เรื่อง การจัดอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร พร้อมงบสนับสนุน ให้เรียกรู้กับการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางเฟสบุ๊ก ที่ใช้แอคเคาท์ปลอม
  • ฉบับสอง ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เรื่องสรุปผลการประชุม คณะทำงานด้านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร โดยอ้างอิงถึงการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 โดยมีพลโท พิสิษฐ์ ทรรพวสุ รองผอ.รมน.ภาค 2 เป็นประธานการประชุม โดยให้หน่วยระดับกองพล ระดับกรม ตรวจสอบยืนยันตัวผู้ปฏิบัติการข่าวสารที่ตั้งไว้หน่วยละ 5 นาย โดยให้ส่งข้อมูลยืนยันทุกวันที่ 5 ของเดือน
  • ฉบับที่สาม ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งผลสรุปการประชุม มีเนื้อหาเหมือนหนังสือฉบับที่ 2 แต่สนับสนุนค่าโทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการข่าวสารคนละ 100 บาท

ทั้งนี้ นายวิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายของไอโอคือการคุกคามประชาชนที่เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือมีทัศนคติที่ต่างออกไป ซึ่งบัญชีไอโอเหล่านี้จะขุดประวัติของเป้าหมายมาประจานบนโลกออนไลน์ ซึ่งทำตัวไม่ต่างจากพวกล่าแม่มด ทว่าประเด็นนี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ก็ตอบโต้โดยบอกว่าตนก็ถูกเพจออนไลน์ขั้วตรงข้ามโจมตีทั้งวัน และบอกว่านายวิโรจน์ก็ทำไอโอเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองเสนาธิการทหารบกและโฆษกกองทัพบกก็ออกมาโต้แย้งว่า แอคเคาท์กว่า 900 บัญชี ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น ทางกองทัพบกใช้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบกเท่านั้น

 

วิโรจน์ใช้ ไอโอ ?

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

หลังจากมีการแฉว่ารัฐบาลใช้ไอโอ กระแสไอโอในไทยก็ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้ปลุกกระแสนี้ ก็ถูกเล่นงานเสียเอง เพราะในวันที่ 13 ต.ค. 2565 นายวิโรจน์ ในฐานะอดีด ส.ส. ก้าวไกล และอดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ภาพ โทรศัพท์มือถือ 19 เครื่อง ที่กำลังเปิดหน้าติ๊กต็อกของตัวเอง พร้อมโพสต์ว่า “ผมเข้าสู่โลก Tiktok มาได้สักพักแล้วนะครับ ท่านใดสนใจคอนเท้นต์ Tiktok ของผม ก็สามารถติดตามได้ที่ tiktok.com /@wirojlak ได้เลยครับ (^____^) /”

ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวอาจดูเป็นการอัปเดตชีวิตทั่วๆ ไป แต่มีคนตาดีไปเห็นกระดาษโน้ตเล็กๆ ที่มีข้อความประมาณว่า

  • ชอบคลิปนี้
  • เพิ่งรู้เลย
  • กดติดตามให้แล้ว
  • FC จ้า
  • แชร์ให้แล้วนะ
  • ขอแชร์ครับ

ซึ่งทำให้ชาวเน็ตสงสัยว่า นี่คือการทำไอโอแบบปั่นคอมเมนต์ใช่หรือไม่ แต่ภายหลัง นายวิโรจน์ก็ได้รีบลบภาพออกไป และทวีตรูปกับข้อความใหม่ว่า "ติดตาม Tiktok ของผมได้ที่ลิงก์นี้นะครับ http://tiktok.com/@wirojlak ผมลองทำลองเรียนรู้ มาได้สักพักแล้ว ขอลงภาพใหม่ เนื่องจากภาพเดิมไปพาดพิงคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องครับ"

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตยังไม่เลิกสงสัย และคอมเมนต์เชิงถามว่านายวิโรจน์ทำไอโอหรือเปล่า ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ออกมาปฏิเสธ โดยอ้างว่าไปเยี่ยมชมพี่ที่ทำการตลาด และขอความรู้ทำการตลาดไลฟ์สดเท่านั้น

 

สุทิน ไฟเขียวทำ IO เชิงสร้างสรรค์

สุทิน ไฟเขียวทำ IO

วันที่ 31 ต.ค. 2566 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ยืนยันว่า ไม่ยุบ กอ.รมน. พร้อมกับพูดถึงประเด็นไอโอ ที่เป็นกระแสมาตลอดว่า ไอโอสามารถทำได้ แต่ต้องมีความสร้างสรรค์ ทำให้ภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศและกองทัพ แต่ถ้าเป็นไอโอแบบด้อยคุณค่า ขยายความขัดแย้ง ได้กำชับว่าอย่าทำ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่ากองทัพก็ถูกไอโอทางอื่นมาด้อยค่า ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกองทัพด้วย ได้กำชับว่ากองทัพก็ต้องตั้งหลักให้ดี"

ทั้งนี้ นายสุทินยังเตือนว่า กองทัพอาจจะต้องทำเรื่องนี้มากขึ้น โดยต้องทำให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องนี้ และทำให้คนที่สร้างไอโอทำลายกันยากขึ้น

IO โป๊ะแตก ทำงานผิดที่ !

ถึงจะมีกระแสต่อต้านมากมาย แต่ปฏิบัติการไอโอยังคงมีอยู่เรื่อยๆ ซึ่งวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่เพิ่งผ่านมา เพจ THE STANDARD ได้โพสต์ข่าวที่กล่าวถึง กรณีจ่ายเงินซื้อเสียงแลกคะแนนเพิ่ม ของผู้สมัคร ส.ส. ประชาธิปัตย์ ซึ่งสิ่งที่น่าแปลกใจคือโพสต์นั้นมีแอคเคาท์จำนวนมาก ที่เข้ามาคอมเมนต์เชิงให้กำลังใจ แต่กลับมีคำว่า “ท่าน” และ “นายกรัฐมนตรี” ปรากฏขึ้นเยอะจนดูผิดปกติ โดยเป็นลักษณะของข้อความดังนี้

  • นายกรัฐมนตรี ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างมาก
  • ค่อยๆ ปรับปรุงไปทีละเรื่องนะ ท่านทำได้อยู่แล้ว
  • ท่านคิดการไกลเพื่อประชาชน
  • ขอให้ท่านมีแรงบันดาลใจ ทำงานต่อไป
  • ขอบคุณที่ท่านนายกที่ทำนาอย่างหนักเพื่อพวกเราประชาชนมาตลอดนะ
  • ท่านเป็นนายกที่กล้าทำ กล้าลงมือ
  • ท่านสามารถตอบปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุด

ข้อความข้างต้น ถือเป็นปฏิบัติการไอโอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน แต่การมาคอมเมนต์ในโพสต์ที่เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน ก็ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นไอโอที่สร้างสรรค์เกินไปหรือเปล่า หรือเป็นเพียงความผิดพลาดของฝ่ายที่ปล่อยไอโอกันแน่

 Pigkaploy

กรณี Pigkaploy ถือเป็นไอโอหรือไม่ ?

พลอยไพลิน ตั้งประภาพร ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวชื่อดัง วัย 26 ปี กลายเป็นประดราม่าบนโลกทวิตเตอร์ (x) จากการปล่อยคลิปคอนเทนต์เรื่อง “ทหารมีไว้ทำไม EP.1” เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567

โดยหลังจากที่คลิปถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน ก็ถูกโยงกับประเด็นการเมืองทันที เพราะทั้งเว็บไซต์รัฐบาลไทย ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก โรงเรียนช่างฝีมือทหาร กองพลทหารปืนใหญ่ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหาร ได้นำไปแชร์เผยแพร่ต่อๆ กันจนดูเหมือนวิดีโอนี้ ตั้งใจทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทหาร

ซึ่งหลังจากเกิดกระแสดราม่าขึ้น พลอยก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวโดยชี้แจงว่า “แต่ละคนอาจมีคำจำกัดความสำหรับประโยคนี้ที่แตกต่างกันไป และเราเข้าใจว่าประโยคนี้คือการพูดถึงผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มแต่ก่อนที่เราจะเดินทางไปถ่ายทำในพื้นที่จริง เราได้มีการพูดคุยสอบถามกับพี่ทหารชายแดนที่ทำหน้าที่ และเราก็ได้รับรู้ว่าประโยคที่ว่า "ทหารมีไว้ทำไม?" พี่ๆ ทหารที่ทำงานจริงๆ เขาได้อ่าน รับรู้ และรู้สึกเสียใจ น้อยใจ เจ็บปวด กับคำถามนี้เช่นกันถึงแม้ประโยคนี้ หลายคนที่คอมเมนต์อาจจะไม่ได้หมายถึงพวกเขาเลยก็ตาม”

“เราจึงนำคำนี้มาใช้ เพื่อนำเสนอการทำงานของทหารชายแดน แต่เป็นความผิดพลาดที่ประโยคนี้ทำให้หลายคนตีความได้หลายมุมมอง ซึ่งนี่คือความผิดพลาดของพลอยเองที่นำประโยคนี้มาใช้ค่ะ”

สุดท้าย พลอยชี้แจงว่า โปรเจกต์นี้ไม่มีการรับบรีฟจากกองทัพบก มีเพียงได้รับการสนับสนุนในการถ่ายทำ รวมถึงขอบคุณทุกคนที่เข้ามาติชม และจะนำไปแก้ไขและระมัดระวังมากกว่านี้

พลอยไพลิน

ทว่าแม้พลอยจะเปลี่ยนชื่อคลิป จาก ทหารมีไว้ทำไม EP.1 เป็น “ลองใช้ชีวิตเป็นทหารชายแดนเหนือ 3 วัน 2 คืน l ไทย-เมียร์มาร์” แต่กระแสดราม่าก็ไม่ได้ลดลง ทำให้ท้ายที่สุดพลอยต้องลบคลิปนั้นทิ้งไป ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวดราม่าว่าเป็นไอโอ กองทัพบกก็ได้ออกโต้แล้วว่า ไม่เป็นความจริง เพราะมีสื่อมวลชนหลายสำนักได้เคยนำภารกิจตรงนี้ของเจ้าหน้าที่ทหารชายแดนไปเผยแพร่แล้ว จึงไม่ใช่ไอโอของกองทัพอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อน และต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายพลอย จะทำคลิปอะไรออกมาชี้แจงเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้ มีสื่อออนไลน์บางแห่งที่สนับสนุนกองทัพ เอาเนื้อหาไปบิดประเด็นจนไม่เหมือนคลิปต้นฉบับ อย่างเช่น “ยูทูบเบอร์ดังตอกหน้าพิธา? รู้ยังทหารมีไว้ทำไม? ซึ่งถือเป็นการกระจายข่าวที่คล้ายกับการปฏิบัติการของไอโอที่หากินกับคลิปของน้องพลอยอีกที ซึ่งทางกองทัพอาจต้องตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย

cyber war

ยุคนี้ ไอโอยังน่ากลัวอยู่ไหม ?

จะเห็นได้ว่า ไอโอสามารถสร้างภาพจำเชิงบวกได้ แต่ในขณะเดียวกันหากใช้อย่างมักง่าย ไอโอที่เผยแพร่ออกไป ก็สามารถวกกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่ปล่อยไอโอได้เช่นกัน ซึ่งในต่างประเทศ มีการวิเคราะห์กันว่า ไอโอ” ที่จะประสบความสำเร็จแบบยั่งยืน ต้องใช้ความจริงของข่าวสารในการต่อสู้เท่านั้น แต่ถ้าใช้การป้ายสีไปเรื่อย อาจส่งผลดีในระยะแรก แต่จะเกิดกระแสตีกลับหลังจากนั้นแน่นอน

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในยุคสมัยที่ทุกคนเข้าถึงข้อมูลของทุกฝ่ายได้เพียงแค่เข้าไปในโลกออนไลน์ ปฏิบัติการไอโอจะยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ เช่น ถ้าเรารู้แน่ชัดว่าฝ่ายการเมืองไหนที่ปล่อยข้อมูลเท็จออกมา เราก็อาจสูญเสียความศรัทธาในฝ่ายนั้น แล้วเลือกไปเข้าข้างอีกฝ่ายแทน

แต่ในทางกลับกัน ในสังคมของเรา ก็ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่บริโภคข่าวสารอย่างขาดสติ ไม่เคยตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง และมีอคติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พวกเขาจึงพร้อมเชื่อข่าวสารที่ไอโอป้อนให้แม่จะเป็นข่าวเท็จก็ตาม ทำให้ปฏิบัติการไอโอไม่เคยหมดไป เพราะตราบใดที่คนในสังคมยังมีความขัดแย้ง ไอโอก็จะถูกสร้างขึ้นมาเสมอ โดยเฉพาะไอโอจากฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการการันตีว่าตนเองจะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยที่ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถ้ามีก็ต้องมีให้น้อยที่สุด

ท้ายที่สุดความน่ากลัวของ “ไอโอ” ขึ้นอยู่กับว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น รู้เท่าทันปฏิบัติการเหล่านี้และมีวิจารณาญาณในการใช้สื่อโซเชียลมากแค่ไหน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related