svasdssvasds

Beyond Scared Straight ครั้งหนึ่ง สหรัฐฯ เคยเอาแก๊งเด็กนรกมาดัดนิสัยในคุก

Beyond Scared Straight  ครั้งหนึ่ง สหรัฐฯ เคยเอาแก๊งเด็กนรกมาดัดนิสัยในคุก

จะให้เด็กรับโทษแต่ละครั้ง ก็ติดเรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็ก หรือไม่ก็ต้องระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ไม่ว่าจะคดีไหน เด็กที่ตั้งใจทำความผิดก็ไม่ต้องมารับโทษแบบผู้ใหญ่ และไม่เคยต้องมาติดคุกติดตะรางแบบ จริงๆ จังๆ เสียที

แต่ถึงกฎหมายคุ้มครองเด็ก จะออกแบบมาเพื่อ “ส่งเด็กคืนสู่สังคม” ทว่าเหรียญก็มีสองด้านเสมอ เพราะเด็กที่ทำความผิดอาจไม่ได้รับบทเรียนชีวิตที่เหมาะสม และอาจกลับมาก่อความผิดซ้ำได้เสมอ เพียงเพราะรู้ว่าต่อให้ตัวเองทำเรื่องรุนแรงแค่ไหน โทษที่ได้รับก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร

อย่างไรก็ดี ถึงกฎหมายจะทำอะไรเด็กไม่ได้ แต่รายการทีวีอาจทำได้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเคยเผยแพร่รายการ “Beyond Scared Straight” ซึ่งเป็นสารคดีที่ลองเอาเด็กที่มีพฤติกรรมเกเร รังแกเพื่อน ลักขโมย พกอาวุธปืน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่พ่อแม่ไม่สามารถจัดการได้ โดยเด็กเหล่านี้จะต้องไปอยู่ในคุก และใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษตัวจริงเสียงจริง เพื่อให้พวกเขารู้ว่า ชีวิตในคุกมันโหดขนาดไหน

Beyond Scared Straight

Beyond Scared Straight รายการทีวีดัดนิสัยเด็กเกเร

“Beyond Scared Straight” เป็นรายการทีวีสารคดี ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 2011 ผ่านทางช่อง A&E Networks โดยมี “อาร์โนลด์ ชาปิโร (Arnold Shapiro) ” ผู้เคยได้รางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม มานั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการผลิต

ในรายการแต่ละตอน จะนำเด็กที่กระทำความผิดซ้ำซาก หรือเป็นภัยกับคนรอบข้างมาลองใช้ชีวิตในคุก กับนักโทษจริงๆ

โดยทุกตอนจะมีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการสัมภาษณ์เด็กเป็นรายบุคคล โดยให้เด็กคนนั้นเล่าถึงนิสัยที่เป็นปัญหาของตัวเอง ก่อนจะนำตัวเข้าไปในคุก โดยเด็กต้องถอดเครื่องประดับทุกอย่างออก และใส่ชุดเหมือนกับนักโทษผู้ใหญ่ปกติ จากนั้นผู้คุมจะพาเด็กไปเยี่ยมห้องขัง พบหน้านักโทษคนอื่น และรับประทานอาหารร่วมกัน

ซึ่งในระหว่างอยู่ในคุก เด็กจะต้องเผชิญหน้ากับผู้คุมสุดเข้มงวด และนักโทษสุดโหดที่ทำตัวหาเรื่องอยู่ตลอดเวลา แต่จะไม่มีการทำร้ายร่างกายเด็กโดยเด็ดขาด และมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการถ่ายทำ ซึ่งนี่อาจเป็นไฮไลท์ของรายการเลยก็ว่าได้ เช่น เวลานักโทษตะโกนใส่หน้าเด็กว่า “คิดว่าตัวเองเจ๋งนักหรอเจ้าหนู” หรือ “ฉันจะข่มขืนแกในคุก” ซึ่งมีเด็กหลายคนที่โดนข่มขู่จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ และร้องไห้ โทรให้พ่อแม่มารับออกไปก่อนจบโปรแกรมก็มี

ส่วนเด็กที่ทนได้ ทางรายการจะให้อยู่ในคุกต่อไป และเผชิญกับบรรยากาศความอึดในนั้น เป็นเวลา 1 เดือนก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกลับไปอยู่กับพ่อแม่ โดยทางรายการจะเผยแพร่ชีวิตประจำวันของเด็ก ว่าสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ซึ่งสุดท้ายบางคนก็ได้รับบทเรียน และไม่กล้าทำตัวเกเรอีกเลย แต่บางคนก็ยังคงมีพฤติกรรมก้าวร้าวเช่นเคย

ทั้งนี้ รายการได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนผลิตกันออกมาถึง 9 ซีซั่น รวม 83 ตอน ซึ่งสามารถนำเด็กเกเรมาลองใช้ชีวิตในคุกได้มากถึง 331 คน แต่ทว่ารายการก็ต้องปิดตัวลงไปในปี 2015

แน่นอนว่ารายการโชว์แบบนี้ ย่อมมีกระแสต่อต้านเป็นธรรมดา ซึ่งก็มีทั้งนักสิทธิมนุษยชน และผู้ชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่ไม่เชื่อว่าการทำแบบนี้ จะแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กได้ โดยบ้างก็บอกว่า การทำให้เด็กกลัว ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน บ้างก็บอกว่าวิธีแบบนี้รุนแรงเกินไป และเป็นเพียงการทำให้ผู้ชมที่เป้นผู้ใหญ่รู้สึกสะใจเท่านั้น เพราะดูได้จากรายงาน ที่รายการนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนทำงาน ที่อยากหาอะไรดูคลายเครียดหลังเลิกงาน มากกว่าจะเป็นรายการที่ทำเพื่อให้เด็กดู

ซึ่งการให้นักโทษในคุกทำตัวกร่างใส่เด็ก ก็เป็นเพียงการตอกย้ำระบบชนชั้น และการลงโทษเด็กด้วยมาตการณ์ที่รุนแรงเทียบเท่าผู้ใหญ่ ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ การป้องกันไม่ให้เด็กเหล่านนี้เลือกทำผิดตั้งแต่แรก ซึ่งต้องใช้สถาบันครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่เด็กอยู่ตั้งแต่ต้นเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อถกเถียงกันไม่สิ้นสุด แต่สิ่งที่รายการ Beyond Scared Straight ทำได้สำเร็จ คือการชี้ให้เห็นชัดว่าชีวิตที่ต้องติดคุกมันน่ากลัวขนาดไหน ซึ่งถ้าประเทศไทยลองทำรายการแบบนี้บ้าง คงน่าสนใจไม่น้อย แต่ก็อาจจะโดนดราม่าได้เช่นกัน เพราะการส่งเด็กไปใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษ ก็อาจทำให้พวกเขาได้รับค่านิยมผิดๆ ติดตัวมาด้วย

ท้ายที่สุด ไม่ว่า Beyond Scared Straight จะไม่สามารถดัดนิสัยเด็กได้ทุกคน แต่ก็สอนเราว่า ไม่ว่าจะวัยไหนก็อย่าทำผิดกฎหมายเลยดีกว่า เพราะคุกมันน่ากลัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related