svasdssvasds

ยกระดับมาตรฐาน "ภาษาอังกฤษ" ในระดับอุดมศึกษา ติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ

ยกระดับมาตรฐาน "ภาษาอังกฤษ" ในระดับอุดมศึกษา ติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ

นายกฯ มุ่งยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา สร้างความพร้อมด้านวิชาการ-วิชาชีพ-การสื่อสาร พร้อมเพิ่มการสอบวัดผลให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

ผลสำรวจเผย ประเทศไทย อยู่ในระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษต่ำมาก

หลังจากที่อีเอฟ (EF) EF Education First สถาบันสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียง และมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก เปิดเผยการจัดอันดับความเชี่ยวชาญการใช้ภาษาอังกฤษทั่วโลกประจำปี 2023 หรือ English Proficiency Index 2023 ซึ่งเป็นการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างเป็นวัยผู้ใหญ่จำนวน 2.2 ล้านคนใน 113 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนที่ 416 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก ลำดับคะแนนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษต่ำมาก หรือ Very Low Proficiency จากทั้งหมด 5 ระดับ

เมื่อพิจารณาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีการทำสำรวจและทดสอบใน 8 ประเทศจาก 11 ประเทศในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยมีระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษอยู่ที่ อันดับ 8 ทำให้อยู่ในอันดับต่ำที่สุดในชาติอาเซียน

ระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษในการจัดของอีเอฟ มี 5 ระดับ เรียงจากสูงสุดไปต่ำสุด ได้แก่

  • สูงมาก
  • สูง
  • ปานกลาง
  • ต่ำ
  • ต่ำมาก

ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา

ล่าสุดวันนี้ 25 มกราคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศ เรื่องนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมาย พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ 

รวมถึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่นๆ โดยเทียบเคียงผลกับมาตรฐานสากลของสหภาพยุโรปที่ใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด (Common European Framework of Reference for Languages: CEFR)

การดำเนินงานดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามการสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาโครงการ หรือมาตรการต่างๆ ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ทาง อว. จึงได้ขานรับและขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าว

สถาบันอุดมศึกษาให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

  • กำหนดนโยบายและเป้าหมายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนิสิต นักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่มีความพร้อม ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้
  • พิจารณาจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทําแผนเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยมีตัวชี้วัดและมีการประเมินผลที่ชัดเจน
  • จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งจัดสื่อการเรียนการสอนรูปแบบเอกสารหรือสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง
  • ตั้งแนวทางการประเมิน  โดยการสอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสําเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้น หรือ แบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทียบเคียงผลกับเกณฑ์ CEFR ของแต่ละบุคคล ตามหลักดังนี้ 1.ระดับอนุปริญญา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B1 ขึ้นไป 2. ระดับปริญญาตรี ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป และ 3. ระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ C1 ขึ้นไป

“ด้วยการกำหนดนโยบายแบบมุ่งยกระดับทุกด้าน นายกรัฐมนตรีจึงเร่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยให้มีความสามารถเท่าทัน เท่าเทียมการตลาดแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อความพร้อมของนักเรียน นักศึกษา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนยกระดับอาชีพ ให้เท่าทันสอดคล้องกับนโยบายของประเทศด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ภาคการศึกษาวิจัยต่าง ๆ”

ที่มา : thaigov

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

related