svasdssvasds

สภาตั้ง กมธ.ชำแหละแหล่งขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพ - “ธนาธร” โผล่นั่ง กมธ.

สภาตั้ง กมธ.ชำแหละแหล่งขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพ - “ธนาธร” โผล่นั่ง กมธ.

“ก้าวไกล” เสนอญัตติตั้ง กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจ-ที่ดินกองทัพคืนให้รัฐบาล “เบญจา” เปิดข้อมูล 5 แหล่งขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพที่ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งที่ดิน-บอร์ดรัฐวิสาหกิจ-งบกลาโหม-คลื่นความถี่-พลังงาน ต้นเหตุนายพลเป็นเสือนอนกิน อู้ฟู่หลังเกษียณหลักร้อยล้าน

SHORT CUT

“ก้าวไกล” เสนอญัตติตั้ง กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจ-ที่ดินกองทัพคืนให้รัฐบาล “เบญจา” เปิดข้อมูล 5 แหล่งขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพที่ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งที่ดิน-บอร์ดรัฐวิสาหกิจ-งบกลาโหม-คลื่นความถี่-พลังงาน ต้นเหตุนายพลเป็นเสือนอนกิน อู้ฟู่หลังเกษียณหลักร้อยล้าน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนหน้าที่การให้บริการไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการของกองทัพไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล รวมถึงศึกษาแนวทางการขอใช้ที่ดินราชพัสดุสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ ในความครอบครองของกองทัพอากาศ เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และพิจารณาแนวทางการย้ายสนามกอล์ฟกานตรัตน์ ออกมาพื้นที่แอร์ไซส์ สนามบินดอนเมือง เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ตามที่นางสาวเบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ, นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี และนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ

นางสาวเบญจา ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า กรุสมบัติและขุมทรัพย์ธุรกิจในกองทัพ รวมถึงความมั่งคั่งของนายพลในกองทัพไทย และรายได้ต่าง ๆ ในธุรกิจทั้งหมด ตลอดจนการเติบโตของนายพล บนเส้นทางเศรษฐีลี้ลับที่แทบจะจับต้องอะไรไม่ได้เลย และพบว่าทรัพสินของนายพลหลังเกษียณ ลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.และลงจากตำแหน่งทางการเมือง มีมูลค่าสูงมาก บางรายมี 200 ล้านบาท 300 ล้านบาท 500 ล้านบาท และบางรายมี 800 ล้านบาท และประเทศไทยยังมีนายพลที่มั่งคั่งอีกว่า 3,000 นาย ที่รวยตั้งแต่ระดับ 10 ล้านบาท ไปจนถึงหลัก 100 ล้านบาท 1,000 ล้านบาท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สภาตั้ง กมธ.ชำแหละแหล่งขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพ - “ธนาธร” โผล่นั่ง กมธ.

ซึ่งหากคำนวณค่าตอบแทนระดับนายพลที่ต่ำสุดในเงินเดือนระดับ น.6 อยู่ที่ 69,040 บาท เงินค่าบริหารระดับสูง 14,500 บาท ค่าตอบแทนรายเดือน 14,500 บาท และค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดการหารถประจำตำแหน่งกรณีไม่มีรถประจำตำแหน่ง 31,800 บาท ดังนั้น นายพลหนึ่งคนในระดับต่ำสุดจะรับเงินเดือนเป็นจำนวน 129,840 บาท ทำให้ประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินให้นายพลรวม 425 ล้านบาทต่อเดือน และในหนึ่งปีต้องจ่ายเงินในอัตราที่ต่ำสุด 5.1 พันล้านบาท

เบญจาตั้งคำถามว่า นายพลเหล่านี้รับราชการทหารมาทั้งชีวิตเหมือนข้าราชการในอาชีพอื่น ๆ แต่อะไรที่ทำให้นายพลเป็นข้าราชการที่มั่งคั่งได้ถึงเพียงนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามามีอิทธิพลและตำแหน่งทางการเมืองและทางธุรกิจของทหาร เป็นเส้นทางเศรษฐีของบุคคลระดับสูงในกองทัพ ผ่าน 5 แหล่งขุมทรัพย์ทางธุรกิจ ประกอบด้วย

 

 

1) ที่ดินราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพ

กองทัพไทยคือหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์กว่า 12.5 ล้านไร่ กองทัพทั้งสามเหล่าครอบครองไว้จำนวนเกือบ 7.5 ล้านไร่ 

และสิ่งที่น่าตกใจก็คือ กองทัพมีสถานีบริการน้ำมัน 150 แห่ง มีสนามกอล์ฟ 74 แห่งซึ่งสร้างรายได้หลายพันล้านบาทต่อปี มีร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวรายหนึ่งที่ผูกขาดเป็นร้านค้าสวัสดิการในค่ายทหาร มีธุรกิจตลาดนัด กิจการสโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า รวมไปถึงสถานพักฟื้นพักผ่อนของกองทัพ 

นอกจากนี้ กองทัพยังใช้ที่ดินของรัฐไปทำโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกำลังพล เช่น โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ หรือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากำลังพลคนไหนถ้าจะเข้าร่วมโครงการ ก็ต้องมีนายทหารผู้บังคับบัญชาเป็นคนเซ็นรับรองให้ ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินของรัฐไปจัดสรรให้กำลังพล ก็เห็นจะมีแต่นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

2) การเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

 หลังการรัฐประหารทุกครั้ง จำนวนนายพลที่เข้าไปมีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ต่อปีรวมกันกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีจำนวนนายพลที่เข้าไปนั่งเป็นประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า 

เบญจายังระบุด้วยว่า มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจากกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ การท่าเรือฯ การท่องเที่ยวฯ ธุรกิจพลังงานอย่าง ปตท. รวมไปถึงบอร์ดธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งบอร์ดนอกจากมีอำนาจในการกำกับดูแลและบริหารแล้ว ยังได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรัฐวิสาหกิจที่ตนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย บางรายนั่งเป็นบอร์ดหลายแห่งในเวลาเดียวกัน หลายรายได้รับทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าเบี้ยประชุม โบนัส เงินเดือนประจำตำแหน่งนายพล ค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่ง จนกลายเป็นเส้นทางเศรษฐีของนายพลหลายคนในกองทัพไทยไปแล้ว

ที่น่าสังเกตคือ บอร์ดรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักจะถูกเปลี่ยนแปลงหลังเกิดการรัฐประหารทุกครั้ง คำถามสำคัญคือ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะมีความโปร่งใสในการบริหารมากน้อยเพียงใด จะมีการใช้อำนาจที่ทับซ้อน ก่อให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องอย่างไรบ้าง เราไม่เคยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้เลย

3) งบประมาณกระทรวงกลาโหม 

ในปี 2548 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2552 และหลังจากการรัฐประหาร 2557 งบประมาณกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2563 เป็น 2.3 แสนล้านบาท จึงทำให้เห็นชัดว่า งบประมาณที่กองทัพได้รับสัมพันธ์กับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ งบประมาณกระทรวงกลาโหมแทบจะไม่เคยได้ปรับลด หรือปรับลดได้น้อยมาก หรือเมื่อปรับลดได้แล้วแต่สุดท้ายก็ไปอนุมัติเพิ่มเติมกันในภายหลัง

นอกจากนี้ยังแทบไม่มีหน่วยงานใดที่เข้าไปตรวจสอบงบประมาณกลาโหมได้ แม้แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการทุจริต มีเงินทอนในโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่โครงการจัดซื้อรถถัง เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ยานยนต์สรรพาวุธ จีที 200 ที่ใช้งานไม่ได้ หรือแม้กระทั่งโครงการจัดซื้อกางเกงในทหาร

“นี่คือคลังสมบัติที่มาจากงบประมาณจำนวนมหาศาล ส่งผลตามมาด้วยการตั้งบริษัททหารรับงานกองทัพ ทำธุรกิจหากินกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ ยิ่งมีงบประมาณที่มากขึ้นเท่าไร ก็ย่อมตามมาด้วยภารกิจที่ใหญ่ยิ่งในการนำงบไปลงทุนในธุรกิจ ส่งผลตามมาด้วยทรัพย์สินและอำนาจของทหารระดับนายพลและคนในเครือข่ายที่ก็จะยิ่งใหญ่ตามไปด้วย” เบญจากล่าว
 

4) สื่อที่อยู่ในมือกองทัพ

ปัจจุบันกองทัพถือครองคลื่นความถี่และประกอบกิจการในระบบวิทยุกระจายเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รวม 205 คลื่น โดยรายได้ของธุรกิจวิทยุส่วนใหญ่มาจากการขายโฆษณาและค่าเช่าคลื่น แต่ไม่ไม่มีใครทราบตัวเลขรายได้จากธุรกิจวิทยุทั้ง 205 คลื่นของกองทัพเลย 

แต่ที่แน่ ๆ ตัวเลขรายได้ยังคงเป็นที่ดึงดูดสำหรับผู้ประกอบการหลายราย จากการที่มีผู้เข้าประมูลคลื่นวิทยุกันอย่างดุเดือดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีการประมูลคลื่นไปด้วยเม็ดเงินถึง 700 ล้านบาท โดยที่กองทัพไม่จำเป็นต้องนำส่งคืนคลื่นของตนเองกลับมาจัดสรรใหม่แต่อย่างใด

เบญจายกตัวอย่างสถานีวิทยุ FM 93 MHz คูลฟาเรนไฮต์ และ FM 94 MHz อีเอฟเอ็ม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุเรตติ้งอันดับต้น ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ยังคงถูกครอบครองโดยกองทัพจนถึงวันนี้ และไม่มีข้อมูลว่าสัมปทานจากการเช่าคลื่นวิทยุนี้มีราคาเท่าใด เท่าที่พอหาได้ก็มีแต่คลื่นไลฟ์เรดิโอ FM 99.5 MHz ซึ่งทำสัญญาเช่าคลื่นวิทยุจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นเวลา 2 ปี ด้วยจำนวนเงินทั้งสิ้น 64.8 ล้านบาท นี่เป็นเพียงการเช่าคลื่นหนึ่งคลื่นที่อยู่ในมือกองทัพเท่านั้น ถ้ารวมทั้งหมด 205 คลื่นจะเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพียงใด แต่ประชาชนไม่เคยเห็นตัวเลข และไม่เคยได้รับการเปิดเผยใด ๆ จากกองทัพ

เบญจากล่าวต่อไปว่า ตนเข้าใจดีว่าที่ผ่านมากองทัพเคยใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมาแช่แข็งเวลา แต่ในยุคสมัยนี้ การที่กองทัพจะอ้างเรื่องความมั่นคงไม่น่าจะฟังขึ้นแล้ว สถานีเหล่านี้ได้กลายเป็นคลื่นเปิดเพลงเพื่อความบันเทิง และไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการป้องกันประเทศอีกแล้ว

นอกจากนี้ กองทัพยังคงเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) รายใหญ่ที่สุดในประเทศแบบผูกขาด หลังจาก กสทช.อนุมัติใบอนุญาตต่อเวลาให้เพิ่มอีก 15 ปีหลังการรัฐประหาร ต่อมา กสทช.ยังอนุมัติให้กองทัพได้รับใบอนุญาตการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลเพิ่มอีกหนึ่งใบ เพื่อแลกกับการไปเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานอย่างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (BBTV) ให้ย่นระยะเวลาสัมปทานของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ลง เพื่อช่วยให้การยุติทีวีระบบอนาล็อกเร็วขึ้น

โครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (MUX) ยังถือเป็นขุมสมบัติสำคัญของกองทัพ ที่ช่องทีวีดิจิทัลจะต้องมาเช่า ททบ.5 เพื่อใช้แพร่ภาพกระจายเสียง โดยมีค่าเช่าประเภทช่องความคมชัดสูง (HD) อยู่ที่เดือนละ 10.5 ล้านบาท และค่าเช่าประเภทช่องความคมชัดปกติ (SD) อยู่ที่เดือนละ 3.5 ล้านบาท โดยช่องที่ใช้โครงข่ายฯ ของกองทัพมีอยู่ 14 ช่อง แบ่งเป็นช่องความคมชัดสูง 5 ช่อง และช่องความคมชัดปกติ 9 ช่อง เท่ากับว่า ททบ.5 ได้เงินค่าเช่าโครงข่ายฯ 1,008 ล้านบาทต่อปี ไม่รวมกับค่าโฆษณา ค่ารับจ้าง และบริการอื่น ๆ อีกหลายพันล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยปรากฏชัดในเอกสารใด ๆ เลย

เบญจาระบุอีกว่า รายได้นี้มาจากการที่ กสทช.ไปเปลี่ยนเงื่อนไขให้ ททบ.5 สามารถหารายได้จากการโฆษณาและแสวงหากำไรได้ โดยสามารถมีการโฆษณาได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 8-10 นาที เท่ากับทีวีดิจิทัลธุรกิจ ปัจจุบันกองทัพจึงกลายเป็นเสือนอนกิน รับรายได้จากคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ฟันกำไรมหาศาล ผูกขาดโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นเล

“ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะคืนสมบัติที่เป็นสาธารณะอย่างขุมทรัพย์สื่อ ทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ คืนสิทธิการจัดสรรทรัพยากรในการสื่อสารให้กับประชาชน” เบญจากล่าว
 

5) ธุรกิจพลังงานของกองทัพ 

กองทัพเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจไฟฟ้า และโซล่าร์ฟาร์ม จากข้อมูลกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมการพลังงานทหาร ระบุไว้ว่า ปัจจุบันกองทัพสามารถผลิตน้ำมันดิบที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ได้ปีละ 3.65 แสนบาเรล เมื่อคำนวณด้วยราคากลางย้อนหลัง 60 ปี (50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล) จะนับเป็นมูลค่าปีละ 625 ล้านบาท และหากคำนวณตามระยะเวลาที่ดำเนินการมาแล้ว 68 ปี จะคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4.43 หมื่นล้านบาท 

กองทัพอ้างว่าผลผลิตเหล่านี้ดำเนินการภายในกรมการพลังงานทหาร เอาไว้ใช้เพื่อป้องกันประเทศและเพื่อความมั่นคงในเขตทหาร แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าขุมทรัพย์ใต้ดินที่กองทัพผลิตได้มีปริมาณเท่าใด ใช้ภายในกองทัพเท่าใด ขายออกไปสู่ตลาดภายนอกเท่าใด มีการส่งออกไปที่ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐในรูปแบบการค้าหรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีการเปิดเผย หลายครั้งกรรมาธิการงบประมาณขอดูรายได้จากส่วนการขายน้ำมันนี้ แต่กองทัพก็ไม่เคยนำส่งรายได้หลายหมื่นล้านบาทนี้เข้ากระทรวงการคลัง

เบญจาระบุต่อไปว่า กองทัพยังมีธุรกิจไฟฟ้าในครอบครอง โดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ที่ตั้งขึ้นมากว่า 84 ปีแล้วโดยฐานทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตใช้เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการทหารและหน่วยราชการฝ่ายพลเรือนในเขตพื้นที่ทหารเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ได้มีการขยายเขตเหล่านี้เข้าไปบริการให้ประชาชนได้ใช้ โดยวันนี้มีประชาชนมากกว่าแสนคนที่ต้องใช้ไฟจากกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ

แต่ด้วยขีดความสามารถและความชำนาญของกองทัพที่มีอยู่จำกัด จึงสร้างปัญหากระแสไฟฟ้าตกและดับบ่อย เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับความเสียหายโดยไม่เคยมีใครรับผิดชอบ ตามมาด้วยราคาค่าไฟที่แพงและสูงมากกว่าปกติ ตนจึงเห็นว่ากองทัพควรปล่อยวางจากธุรกิจไฟฟ้าได้แล้ว ทบทวนบทบาทที่แท้จริงของตัวเอง และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีขีดความสามารถและความชำนาญเข้ามาจัดการตามบทบาทหน้าที่ดีกว่า

ทั้งนี้ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 25 คน และกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมีจำนวน 6 คน ได้แก่

  1. เบญจา แสงจันทร์
  2. เชตวัน เตือประโคน
  3. จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์
  4. กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ
  5. รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ 
  6. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยมีกำหนดการพิจารณาให้เราเสร็จภายใน 90 วัน ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป

related