svasdssvasds

ย้อนประวัติการต่อสู้ "คดีอากง-ม.112" ก่อนถูกปล่อยตัวด้วยร่างไร้ลมหายใจ

ย้อนประวัติการต่อสู้ "คดีอากง-ม.112" ก่อนถูกปล่อยตัวด้วยร่างไร้ลมหายใจ

อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" เสียชีวิตในคุก 8 พ.ค. 2555 จากการถูกจำคุกข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในเวลานั้น

SHORT CUT

  • อำพล ถูกจับเมื่อปี 53 ถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือเลขาฯ ของอภิสิทธิ์  4 ข้อความ เนื้อหาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี
  • ปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษอำพลจากการส่ง SMS จำนวน 4 ข้อความ รวม 20 ปี ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
  • วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ในระหว่างเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ "อำพล" เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย

อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" เสียชีวิตในคุก 8 พ.ค. 2555 จากการถูกจำคุกข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในเวลานั้น

การเสียชีวิตของ “อากง” หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 62 ปี ผู้ที่ต้องตกเป็นจำเลยคดี ม.112 จากการส่งข้อความ มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังมือถือของนาย สมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ต่อมา ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกรวม 20 ปี

ย้อนที่มาคดี "อากง" ยุคชุมนุมคนเสื้อแดง

“คดีอากง” เกิดขึ้นในปี 2553 ช่วงที่มีการสลายชุมนุมคนเสื้อแดง ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ โดยพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ได้ส่งข้อความสั้นจำนวน 4 ข้อความ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของนาย สมเกียรติ ครองวัฒนาสุข เลขานุการส่วนตัวของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยข้อความสั้นจะถูกนำเข้าไปที่ Short Message Service Centre จากนั้นก็นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยทุกข้อความเป็นการหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์พระราชินี และรัชทายาท

3 สิงหาคม 2553 จำเลย วัย 61 ปี ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่ง SMS และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ส่งนั้นก็ไม่ใช่ของตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าผู้ส่งข้อความหักซิมการ์ดทิ้งไปแล้ว จึงสืบเบาะแสจากหมายเลขประจำเครื่อง

ย้อนประวัติการต่อสู้ "คดีอากง-ม.112"

 

เนื้อหาของคดี "อากง" กับความผิดมาตรา 112

นายอำพล นำสืบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมายเลข XXX-XXX-XXXX ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด ช่วงเดือนเมษายน 2553 จำเลยเคยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซ่อม แต่ไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว

ส่วนการแก้ไขหมายเลขประจำเครื่องสามารถทำได้ โดยหมายเลขประจำเครื่อง 10% ไม่เป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำเลยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์สืบสวนโดยตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้กับซิมการ์ดดังกล่าวไปยังบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ทำให้ทราบว่าโทรศัพท์หมายเลข 08-1349-3615 เป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียน ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์หมายเลขประจำเครื่องซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกับโทรศัพท์ของนายอำพล และใช้อยู่กับซิมการ์ดหมายเลข 08-5838-4627 ของนายอำพลเช่นกัน ซึ่งเป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียนในเครือข่ายของบริษัท ทรู มูฟ ทั้งนี้พยานโจทก์ให้ข้อมูลว่าหมายเลขประจำเครื่องไม่สามารถซ้ำกันได้

เจ้าหน้าที่ทั้งสองบริษัท เบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ออกมาจากระบบจัดเก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของบริษัท นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดเป็นจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทำให้ข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์มีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมั่นคง ขณะเดียวกันพยานโจทก์ทั้งหมดระบุว่าหมายเลขประจำเครื่องทั้งหมดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ย้อนประวัติการต่อสู้ "คดีอากง-ม.112"

 

แต่เมื่อศาลพิจารณา ก็เห็นว่า ข้ออ้างของอำพล เป็นเพียงข้ออ้างที่เขารู้เห็นเพียงคนเดียว ทั้งยังมีเอกสารที่ชี้ว่าหมายเลขโทรศัพท์ของอำพลเป็นมีการส่งข้อความจำนวนมาก

ศาลยังระบุอีกว่า แม้โจทก์ (ผู้ฟ้อง) จะไม่สามารถแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งได้ว่า อำพลเป็นผู้ที่ส่งข้อความ แต่นั่นก็เป็นเรื่องยากที่จะนำสืบ “เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม” ซึ่งจากพยานแวดล้อมทั้งหมด ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าอำพลเป็นผู้ส่งข้อความทั้ง 4 ข้อความ

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้ลงโทษ 4 กรรม จำคุกกรรมละ 5 ปี รวมเวลา 20 ปี ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

หลังจากนั้น อำพลพยายามยื่นขอประกันตัวเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์คดี แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจึงตัดสินใจถอนอุทธรณ์ให้คดีสิ้นสุดเพื่อเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

ทั้งยังมีรายงานว่าอำพลมีอาการปวดท้องมาเป็นเดือน แต่ปวดหนักในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ก่อนจะถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์โดยไม่มีการเจาะเลือดหรือตรวจเพิ่มเติม เพราะหมดเวลาทำการและติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จนได้มาเจาะเลือดในวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2555 และระหว่างเจ็บป่วย “อากงไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม” พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความอำพลกล่าว

ย้อนประวัติการต่อสู้ "คดีอากง"

3 สิงหาคม 2553

อำพล ถูกจับกุมที่บ้านพักในสมุทรปราการ หลังถูกจับกุม  อำพลถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 63 วัน เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว 

29 กันยายน 2553

ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์  

4 ตุลาคม 2553 

ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้อำพลประกันตัว ให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

18 มกราคม 2554  

อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา อำพลถูกควบคุมตัวอีกครั้ง 

หลังมีคำสั่งฟ้อง ทนายยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ คำร้องของทนายความส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสะใภ้ และหลาน 3 คนในห้องเช่าในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ เพราะอายุมากแล้ว ผู้ร้องยังชีพด้วยเงินที่บุตรของผู้ร้องส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นโรคมะเร็งช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่ โรงพยาบาลราชวิถีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ.2550

ก่อนถูกจับกุมหากผู้ร้องมีหน้าที่รับส่งหลานๆไปยังโรงเรียน หากออกไปทำธุระนอกบ้านผู้ร้องก็ต้องกลับมาอาศัยที่บ้านเสมอ และในขณะจับกุมผู้ร้องซึ่งมีอายุ 60 ปี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นายพร้อมกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ผู้ร้องและบุคคลในครอบครัวผู้ร้องยังมีอาการตระหนกตกใจ และผู้ร้องก็ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขัดขืนการจับกุมใดๆ ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนผู้ร้องก็มา รายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพนักงานอัยการนัดหมายมาฟ้องคดีผู้ร้องก็รีบเตรียมเอกสารและหาหลัก ประกันโดยเร็วให้ทันนัดหมายของพนักงานอัยการเพื่อไม่ให้เนิ่นช้าออกไป ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่เคยมี พฤติการณ์ใดๆและไม่มีความสามารถซึ่งจะทำให้ศาลอาญาเกรงว่าผู้ร้องจะหลบหนี ได้

คำร้องของทนายความยังอ้างด้วยว่า การควบคุมตัวผู้ร้องระหว่างการพิจารณาจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกายโดยตรงของผู้ร้องและไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องมีปัญหาทางสุขภาพ มีโรคร้ายประจำตัว และผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดจึงมีสิทธิใน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 40(7)

ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง

ระหว่างช่วงเวลาที่ถูกคุมขังอยู่ ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต

23, 27, 28. 30 กันยายน 2554

นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย 

6 ตุลาคม 2554  

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ทนายยื่นขอประกันตัวอำพลอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดินของญาติจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ให้ประกัน เนื่องจากไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

21 ตุลาคม 2554   

ทนายยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาล ตามความประสงค์ของจำเลยที่จะขอยื่นคำแถลงดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาคดี ก่อนที่ถึงวันนัดฟังคำพิพากษา โดยคำแถลงปิดคดีระบุว่า พยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย อาจกระทบกระเทือนถึงการที่จำเลยอาจต้องโทษทั้งที่มิได้กระทำความผิด

ซึ่งเหตุที่ต้องยื่นคำแถลง มีดังนี้

1. การใช้หมายเลขเครื่อง(อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้

2. การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับหมายเลขอีมี่ และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารฝ่ายโจทก์

3. โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว

23 พฤศจิกายน 2554   

ผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำพิพากษาศาล ระบุว่า ประเด็นที่อ้างถึง ‘หมายเลขอีมี่’ นั้น จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นผู้ส่ง SMS และแม้จะมีช่องโหว่ทางเทคนิคมากมาย แต่ศาลก็ยังเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ส่ง SMS โดยไม่มี ‘พิรุธ’ อื่นใด

“เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน”

“ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมด ซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใดๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง…”

คำตัดสินของผู้พิพากษาชนาธิป พิพากษาว่าอากงอำพลมีความผิดตามมาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์จริง ศาลตัดสินให้จำคุกมาตรา 112 หนักที่สุดเพียงบทเดียว 4 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมแล้วอากงในวัย 62 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

คดีอากงสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการศาลอย่างหนัก เพราะแม้ศาลจะมีคำพิพากษามาแล้ว สังคมก็ยังไม่เชื่อว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริง มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมากยืนกรานว่าหมายเลขอีมี่โทรศัพท์ที่อัยการนำสืบ และศาลใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการตัดสินว่าอากงส่ง SMS จริงนั้น ไม่สามารถเชื่อถือได้ ซ้ำยังมีปฏิกิริยาจากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีเกี่ยวกับคดีนี้ว่า

“สหรัฐอเมริกาให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่กระบวนการยุติธรรมไทยอาจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น”

22 กุมภาพันธ์ 2555   

ทนายความจำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด และตำแหน่งนักวิชาการ 7 คน

23 กุมภาพันธ์ 2555

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็ว

ต่อมาทนายความยื่นฎีกาคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวต่อศาลฎีกา

13 มีนาคม 2555

ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุเหตุผลในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการแห่งคดีและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจำหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่าจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์

8 พฤษภาคม 2555

อำพลเสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยศาลก็ไต่สวนการตายแล้วสรุปว่า เขาเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนเลือดและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย

ในวันที่รับร่างไร้วิญญาณของอำพลกลับจากเรือนจำ รสมาลิน ภรรยาของเขาก็กล่าวกับโลงศพสามีว่า

“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”

เรื่องราวของอำพล หรืออากง นอกจากจะสะท้อนเรื่องปัญหาทางกฎหมายแล้ว ก็ยังสะท้อนเรื่องสิทธิของนักโทษที่ควรได้รับเมื่อยามเจ็บป่วยและสิทธิในการประกันตัวเช่นกัน

บทสรุปคดีอากงสร้างความสะเทือนใจ แต่ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคมไทยได้ หลังจากเหตุการณ์นั้นใหม่ๆ มีการรณรงค์และมีความพยายามยื่นแก้ไขมาตรา 112 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลและจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นประเด็น ‘อ่อนไหว’ มากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมาจากพรรคที่ถูกข้อครหาว่า ‘ล้มเจ้า’ เป็นทุนเดิม

สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ ผ่านมาหลายปี กระบวนการจัดการกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าผิดมาตรา 112 ยังคงเป็นเหมือนเดิม แม้อาจจะพูดถึงได้มากขึ้น แต่กระบวนการยุติธรรม กระบวนการศาล ยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้ และดูเหมือนจะแย่ไปกว่านั้นอีก ยกตัวอย่างคดีของเพนกวิน รุ้ง และคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาแทรกแซง ละเมิดสิทธิไม่ให้คุยกับทนาย ทั้งการพิจารณาคดียังเป็นไปอย่างปิดลับ ราวกับอยู่ใน ‘ยุคกลาง’ ไม่ต้องสนใจหลักการการดำเนินคดีอย่างเปิดเผย ไม่ต้องสนใจแม้กระทั่งสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักการสากลว่า ‘ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์’

การเสียชีวิตของอากง ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดว่า การใช้กระบวนการยุติธรรมและมาตรา 112 ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นผลดีกับใคร

ที่มา : LUEhistory , iLaw , themomentum

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related