svasdssvasds

เชคสเปียร์ต้องตาย หนังนอกกระแสที่ถูกกองเซ็นเซอร์แบน 11 ปี ถึงได้ฉาย

เชคสเปียร์ต้องตาย หนังนอกกระแสที่ถูกกองเซ็นเซอร์แบน 11 ปี ถึงได้ฉาย

โดนแบน 11 ปี กว่าจะได้ฉาย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ภาพยนตร์นอกกระแสที่เอาชนะกองเซ็นเซอร์ และได้รับค่าเสียโอกาส 5 แสนบาท

SHORT CUT

  • “ทีมสร้างภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย” ชนะคดีและยกเลิกคำสั่งแบน กองเซ็นเซอร์ต้องชดใช้ค่าเสียโอกาส 
  • มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างประกาศ นี่คือวันแห่งชัยชนะ หลังจากคอยมา 11 ปี 
  • เตรียมแก้ 3 เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คาดเสร็จกลางปี 2567 

โดนแบน 11 ปี กว่าจะได้ฉาย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ภาพยนตร์นอกกระแสที่เอาชนะกองเซ็นเซอร์ และได้รับค่าเสียโอกาส 5 แสนบาท

นับเป็นข่าวดีของคนสร้างหนัง เพราะเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ “ทีมสร้างภาพยนตร์เชคสเปียร์ต้องตาย” ชนะคดีและยกเลิกคำสั่งแบน พร้อมให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการสู้คดีที่ยืดเยื้อมากกว่า11 ปี และยังถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของคนทำหนังไทยอีกด้วย

เชคสเปียร์ต้องตาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร? 

เชคสเปียร์ต้องตาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร? 

“เชคสเปียร์ต้องตาย” เป็นภาพยนตร์ นอกกระแส ที่เขียนบทโดย “อิ๋ง - สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” และอำนวยการสร้างโดย “มานิต ศรีวานิชภูมิ” ซึ่งตัวบทดัดแปลงมาจากบทละคร” โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth)” ของ “วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) โดยเป็นหนังทุนต่ำ ที่ได้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ปี 2553 และมีกำหนดฉายในปี 2555

โดยตัวของภาพยนตร์ “เชคสเปียร์ต้องตาย” ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบละครซ้อนละคร ดำเนินเรื่องคู่กันไป ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือละครเวที และเหตุการณ์ร่วมสมัยในโลกภายนอก โดยจะเป็นการติดตามเรื่องราวของ “เมฆเด็ด (Mekhdeth) ” ขุนนางที่ล้มอำนาจกษัตริย์ และสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทว่าเขาลุ่มหลงในอำนาจ และขี้ระแวงเกินไป จนลงมือฆ่าผู้อื่นเพื่อรักษาอำนาจนั้น ซึ่งใน ภาพยนตร์ มีการนำภาพจริงจากเหตุกาณ์ 6 ตุลาคมคม 2519 มาใช้ประกอบด้วย

ทำไม เชคสเปียร์ต้องตาย ถึงไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ PHOTO : Shakespeare Must Die

ทำไม เชคสเปียร์ต้องตาย ถึงไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์

ในวันที่ 3 ต.ค. 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดให้ “เชคสเปียร์ต้องตาย” อยู่ในเรท "ห" หรือ ห้ามเผยแพร่ในประเทศไทย โดยมีเหตุผลว่ามีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเอาภาพฟุตเทจเหตุการณ์ไม่สงบมาใช้ และมีการพูดถึงกลุ่มคนเสื้อแดง

ซึ่งการโดนสั่งแบน ทำให้ สมานรัชฎ์ และทีมผู้สร้างตัดสินใจฟ้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1321/2555 เพื่อเพิกถอนคำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์และให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ชดใช้ค่าเสียโอกาสและค่าเสียหายซึ่งคำนวณจากต้นทุนการสร้างภาพยนตร์ทั้งหมด

ต่อมาในปี 2560 ศาลปกครองกลางได้พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ได้ใช้ดุลพินิจตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์แล้ว และภาพยนตร์ดังกล่าวก็ส่อเค้าสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งเป็นกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทีมผู้สร้างก็ยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ ซึ่งคดีก็ยืดเยื้อออกไปอีกหลายปี

 

วันแห่งชัยชนะของนักสร้างหนังนอกกระแส / Photo Facebook : Manit Sriwanichpoom

วันแห่งชัยชนะของนักสร้างหนังนอกกระแส

เวลาล่วงเลยเข้าสู่ปี 2567 ในที่สุดศาลปกครองตัดสินให้ทีมผู้สร้างชนะคดี และกองเซ็นเซอร์ชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เสียโอกาสไปหลายปี

ซึ่งหลังจากศาลปกครองให้ทีมสร้างภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตาย ชนะคดีในวันที่ 20 ก.พ. 2567 ทาง มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

 

วันแห่งชัยชนะ!!! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้สร้างหนังเชคสเปียร์ต้องตายชนะคดีละเมิด ยกคำสั่งแบน และให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ชดใช้ค่าเสียหาย จบการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพคนทำหนังไทยที่ยาวนานกว่า 11 ปี นี่คือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของหนังไทย ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมมาในกระบวนการต่อสู้ครั้งนี้ รวมทั้งกำลังใจที่ส่งมาให้ ที่สำคัญต้องขอขอบพระคุณศาลปกครองสูงสุดผู้มอบความยุติธรรมให้แก่หนังของเรา ส่วนโปรแกรมการฉายจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

แก้ 3 เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์

แก้ 3 เรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เชคสเปียร์ต้องตาย ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องเดียวที่เคยถูกแบน เพราะก่อนหน้านี้ คนกราบหมา แมลงรักในสวนหลังบ้าน อาบัติ นาคปรก ฯลฯ ก็ต่างเคยประสบกับชะตากรรมเดียวกัน เนื่องจากมีเนื้อหาล่อแหลมในหลายแง่มุม และต้องใช้เวลาต่อสู้คดีเป็นปีๆ กว่าจะได้ฉาย

ซึ่งช่วงเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ก็ได้มีการพูดถึงประเด็นการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยจะมีการแก้ไข 3 ข้อหลัก ได้แก่

-การแก้ไขกฎกระทรวง ซึ่งเกี่ยวกับประเภทการจัดเรตของภาพยนตร์

-การตั้ง One Stop Service เพื่อให้ทำงานกับภาครัฐได้ง่ายขึ้น

-ความคืบหน้า พ.ร.บ. THACCHA

ซึ่งเรื่องประเภทเรตของภาพยนตร์ ทั้งประเด็นเรื่องศาสนา ความสามัคคี รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดในเรตผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย ซึ่งอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567

ข่าวที่เกียวข้อง 

 

 

related