svasdssvasds

"อาร์เจนตินา" ปล่อยให้คนเลือกเพศตามสมัครใจมา 11 ปี แล้ว ไทยควรทำตามหรือไม่ ?

"อาร์เจนตินา" ปล่อยให้คนเลือกเพศตามสมัครใจมา 11 ปี แล้ว ไทยควรทำตามหรือไม่ ?

2024 หลายประเทศบนโลก กำลังถกเถียงกันเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI Rights) แต่ไม่ใช่ใน อาร์เจนตินา เพราะดินแดนแห่งนี้ อนุญาตให้คนข้ามเพศมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวมาตั้งแต่ปี 2012 ปีแล้ว

SHORT CUT

  • อาร์เจนตินานับเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้สิทธิกลุ่ม LGBTQ เลือกเพศของตัวเอง
  • กระนั้นสถาบันต่างๆ ในอาร์เจนตินา ยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับกลุ่มคนข้ามเพศ 
  • ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยยังต้องผลักดัน นอกจากแค่เรื่องเปลี่ยนคำนำหน้านาม

2024 หลายประเทศบนโลก กำลังถกเถียงกันเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI Rights) แต่ไม่ใช่ใน อาร์เจนตินา เพราะดินแดนแห่งนี้ อนุญาตให้คนข้ามเพศมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวมาตั้งแต่ปี 2012 ปีแล้ว

อาร์เจนตินานับเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้สิทธิกลุ่ม LGBTQ เลือกเพศของตัวเอง ผ่านกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศที่มีการรับรองในปี 2012 ซึ่งถือเป็น “กฎหมายตัวแรกในประวัติศาสตร์” ที่ขจัดอุปสรรคในการรับรองเพศสถานะทางกฎหมาย เช่น ความจำเป็นในการวินิจฉัยทางการแพทย์ การผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ หรือความคิดเห็นของผู้พิพากษา

ส่งผลให้ในเดือนเมษายนปี 2021 มีชาวอาร์เจนติน่ากว่า 16,090 คน ซึ่งรวมถึง 1,529 คนที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ได้ลงทะเบียนรับบัตรประจำตัวประชาชน (DNI) ใหม่เพื่อเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย

ทั้งนี้กฎหมายยังจัดให้มีการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับคนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ข้ามเพศในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งทั่วประเทศมีทีมแพทย์ 318 ทีมอยู่ในโรงพยาบาลของรัฐและศูนย์สุขภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิที่เพิ่งได้รับมา ซึ่งหาได้ยากในภูมิภาคและส่วนอื่นๆ ของโลก หรือไม่ก็ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ได้มา

"อาร์เจนตินา" ปล่อยให้คนเลือกเพศตามสมัครใจมา 11 ปี แล้ว ไทยควรทำตามหรือไม่ ?

คนข้ามเพศยังคงเผชิญกับความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ถึงอาร์เจนตินาจะเป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลาย แต่ผู้ที่มีความหลากหลายในประเทศยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรง เพราะจากข้อมูลปี 2016 ถึง 2022 ได้เกิดคดีความผิดฐานฆ่าหญิงข้ามเพศ 32 คดีที่เข้าระบบศาล และยังมีอีก 7 คดีในปี 2022

ข้อมูลยังบอกอีกว่า อายุขัยของคนข้ามเพศอยู่ที่ประมาณ 37 ปี ตามรายงานที่เผยแพร่ในปี 2020 ซึ่งกว่า 66% ของผู้หญิงข้ามเพศไม่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยม และ 80% ต้องทำงานนอกระบบที่ไม่มั่นคง (เทียบกับ 36% ของคนที่ไม่ใช่กลุ่มข้ามเพศ) และในกรุง บัวโนสไอเรส เมืองหลวงของ อาร์เจนตินา ผู้หญิงข้ามเพศมากถึง 70 % มีอาชีพเป็นโสเภณี

นอกจากนี้ ในช่วงแรกๆ ของการใช้กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศในปี 2012 สถาบันต่างๆ ในอาร์เจนตินา ยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับความสามารถของเด็กข้ามเพศในการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศของตน แม้จะมีการผ่านใช้กฎหมายแล้วก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะ คนข้ามเพศยังคงถูกกีดกัน ทารุณกรรม เลือกปฏิบัติ และถูกไล่ออกจากครอบครัวอยู่เรื่อยๆ

เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนั้นขยายวงกว้าง ในปี 2021 อาร์เจนตินาจึงได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อให้แน่ใจว่าคนข้ามเพศจะไม่ถูกไล่ออกจากงาน เช่น กฎหมายปี 2021 ที่รับรองว่า 1% ของงานในภาครัฐจะเป็นของคนข้ามเพศ

และในปีเดียวกัน ประธานาธิบดี “อัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ (Alberto Fernández)” ได้อนุมัติให้พลเมืองสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนที่รวมตัวเลือกที่ ไม่ใช่ “ไบนารี (Binary) ” ไว้ด้วย ซึ่ง "ทานี เฟอร์นันเดซ (Tani Fernández Luchetti)" บุตรคนโต วัย 26 ปี ของเขา ก็ได้ยื่นขอบัตรประจำตัวที่ไม่ใช่ไบนารี่ด้วย

ทว่าถึงจะเพิ่มกฎหมายให้ครอบคลุม แต่ความหลากหลายทางเพศและรูปร่างของคนข้ามเพศ ยังคงขาดหายไปจากหลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนของอาร์เจนตินา จึงทำให้ยังมีการต่อต้านคนข้ามเพศในสังคมอยู่บ้าง ซึ่งทางการอาร์เจนตินายังต้องเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมืออีกมากในการจัดการกับพฤติกรรมเลือกปฏิบัติเหล่านั้นต่อไป”

คว่ำกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม หวั่นอาชญากรรม

คว่ำกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านาม หวั่นอาชญากรรม

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงผลักดันสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกันอย่างเข้มข้น ซึ่งข่าวดีแรกคือเมื่อเดือน ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา สภาฯ รับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับเป็นวาระที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของความเท่าเทียม ในประเทศไทย

ทว่าวันที่ 21 ก.พ. 67 สภาฯ ก็สร้างความผิดหวังให้กับชาว LGBTQ ที่กำลังรอฟังข่าวดีเมื่อ ที่ประชุมสภาฯผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยคะแนนเสียง 257 เสียง เห็นด้วย 154 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

ซึ่งฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า หากมีการยินยอมให้เปลี่ยนคำนำหน้านามได้เองตามที่ต้องการอาจเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมมากเกินไป เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านามเพื่อที่จะไปหลอกลวงทรัพย์ , ลวนลามเพศตรงข้าม เป็นต้น ซึ่งในประเด็นเรื่องการต้องโทษจากความคิดเห็นหลายฝ่ายโดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ เรื่องการจำคุกที่มีการแบ่งนักโทษชายและนักโทษหญิง หากสมมุติเพศทางเลือกได้มีการทำความผิดและมีจิตใจตรงข้ามกับเพศสภาพก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้ไปอยู่กับชายหรือหญิง พร้อมกังวลว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านอาจก่อให้เกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความกังวลอีกว่า การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์บุคคล การจัดทำบริการสาธารณะ หลักเกณฑ์การเข้าเมืองของแต่ละประเทศ การแข่งขันกีฬาในระดับสากล ไปจนแนวทางป้องกันสำหรับหน่วยปฏิบัติ พร้อมกับย้ำว่า ทุกคนควรภูมิใจในตัวเองไม่ว่าคำหน้านามเป็นแบบไหน

ส่วนฝ่ายที่เสนอ พ.ร.บ นี้อย่างพรรคก้าวไกลยังคงไม่ยอมแพ้ และยื่นเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมสมัยหน้า เพื่อก้าวไปสู่ความเสมอภาคและความเคารพในสิทธิทางเพศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ต้องติดตามกันต่อไป และอาจต้องอาศัยเวลามากกว่านี้ ถึงจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกระดับได้ เพราะกรณีของอาร์เจนตินาแสดงให้เห็นแล้วว่า ถึงรัฐจะเปิดกว้างมาตั้งแต่แรก แต่การเลือกปฏิบัติกับคนข้ามเพศยังคนมีอยู่ แม้จะมีกฎหมายรองรับแล้วก็ตาม และกว่าเครื่องไม่เครื่องมือทุกอย่างจะพร้อม ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีหลังจากนั้น

ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมๆ กับการแก้กฎหมาย คือการสร้างความเข้าใจความหลากหลายในสถาบันต่างๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา ที่จะเป็นด่านแรกในการเปลี่ยนภาพที่มีต่อกลุ่มคน LGBTQ และการลบอคติในใจคนอาจต้องใช้เวลานานกว่าการแก้กฎหมายในสภาเป็นร้อยๆ เท่า

ส่วนเรื่องเปิดโอกาสให้ก่ออาชญากรรม หรือไม่นั้น คงไม่มีใครตอบได้แน่ชัด แต่อาจขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น ๆ ว่าเอื้อให้คนก่ออาชญากรรมหรือไม่

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยยังต้องผลักดัน นอกจากแค่เรื่องเปลี่ยนคำนำหน้านาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

related