SHORT CUT
จับตา ไข้นกแก้ว โรคอันตรายติดต่อสู่คน ระบาดในยุโรป อาการคล้ายไข้หวัด ยังไม่มีวัคซีน คนเลี้ยงนกควรระวัง ในไทยเคยพบรายงานเชื้อในสัตว์ แต่ยังไม่พบผู้ป่วย
กำลังเป็นโรคที่ถูกเฝ้าจับตาเป็นพิเศษในช่วงนี้ สำหรับไข้นกแก้ว หรือ โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วกว่า 5 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกประกาศเตือนเหล่าคนเลี้ยงนกให้ตระหนักถึงไข้หวัดนกแก้วนี้
ไข้นกแก้ว หรือ โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis) นั้นแท้จริงแล้วไม่เชิงติดมาจากนกแก้วโดยเฉพาะ แต่สามารถติดจากสัตร์ปีกชนิดอื่นได้ทั้ง ไก่ และ เป็ด ไข้นกแก้วนี้ สามารถติดเชื้อได้ผ่านทางช่องทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อสามารถปลิวไปในอากาศ กับฝุ่นละอองได้เมื่อยามสัตว์เหล่านี้เกิดอาการป่วย และแพร่เชื้อออกมา
อาการแรกโรคไข้นกแก้ว จะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียจากนกเข้าไปแล้วประมาณ 10-20 วัน อาการจะคล้ายกับไข้หวัดหวัดทั่วไป
ในบางกรณีอาจนำไปสู่การอักเสบของอวัยวะภายในได้เพิ่มเติมอีกด้วย เช่น สมอง หัวใจ ตับ และปอด หากคุณเริ่มมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด ควรรีบเข้าขอคำปรึกษาจากแพทย์ และรีบตรวจสอบอย่างละเอียดในทันที
แม้โรคไข้หวัดนกแก้วสามารถนำพาหะจากแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่มนุษย์ได้อย่างง่ายดาย แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสามารถแพร่กระจายจากการกินสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากนกที่ติดเชื้อ ผ่านทางการหายใจเอาเชื้อที่ขับออกมาจากปัสสาวะ อุจจาระ หรือสิ่งคัดหลั่งที่มีการปนเปื้อนของนกที่ติดเชื้อ
โรคนี้จะมีความเสี่ยงมากโดยเฉพาะ กลุ่มคนเลี้ยงนก สัตวแพทย์ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนก ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย หากจำเป็นต้องสัมผัสต้องป้องกันตนเอง สวมถุงมือ และหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ บุคลากรที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสใกล้ชิดกับนก ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการตนเองและอาการของสัตว์อยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงกรณีพบการระบาดของโรคซิตตาโคซิส หรือโรคไข้นกแก้ว ในหลายประเทศแถบยุโรปว่า โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบได้ยาก แต่ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ และมียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ เชื้อโรคนี้มักจะก่อโรคในนกที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น นกแก้ว ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทย เคยมีการรายงานจากการวิจัยสำรวจในสัตว์ปีก ว่าพบเชื้อแบคทีเรียนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานไปยังจุดประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่พบการระบาดหรือการติดเชื้อของโรคดังกล่าว และประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความร่วมมือกันเรื่องสุขภาพ หนึ่งเดียว (One health) เพื่อประสานข้อมูล และร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ โดยโรคนี้อยู่ในระบบเฝ้าระวัง แบบ Event base surveillance หรือการเฝ้าระวังเหตุการณ์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดทุกวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง