svasdssvasds

“เดือนรอมฎอน” ความพร้อม "ถือศีลอด" ทั้งกาย-ใจ ของมุสลิมทั่วโลก

“เดือนรอมฎอน” ความพร้อม "ถือศีลอด" ทั้งกาย-ใจ ของมุสลิมทั่วโลก

ทำความรู้จัก “เดือนรอมฎอน” ประเพณีถือศีลอดของชาวมุสลิม พร้อมรู้ความสำคัญของเดือนอันประเสริฐ และวิธีการเตรียมตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

SHORT CUT

  • การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถูกกำหนดให้เป็น 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เดือนนี้ชาวมุสลิมถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ
  • รอมฎอน เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ นอกจากการงดอาหารทุกชนิด ยังให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว
  • การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต

ทำความรู้จัก “เดือนรอมฎอน” ประเพณีถือศีลอดของชาวมุสลิม พร้อมรู้ความสำคัญของเดือนอันประเสริฐ และวิธีการเตรียมตัวของผู้นับถือศาสนาอิสลาม

เดือนรอมฎอนหรือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอาหรับสำหรับ พ.ศ.2567 ทางสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้มุสลิมทั่วประเทศร่วมกันดูดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำในช่วงดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 10 มีนาคม หากในวันนั้นไม่มีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยวขึ้นหนึ่งค่ำก็ให้นับวันที่ 1 เดือนรอมฎอนในวันถัดไปนั่นคือวันที่ 12 มีนาคม ส่วนวันสิ้นสุด รอมฎอนให้นับวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนถัดไปเป็นหลัก หนึ่งเดือนตามปฏิทินอาหรับจึงมี 29 หรือ 30 วัน

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถูกกำหนดให้เป็น 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม เดือนนี้ชาวมุสลิมถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำโดยไม่ดื่มน้ำและอาหารล่วงหล่นผ่านลำคอลงไปเลย หากผู้นั้นเป็นมุสลิม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ยกเว้นคนเสียจริต ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่กำลังเดินทาง คนชรา ผู้เยาว์ หญิงซึ่งกำลังตั้งครรภ์ หญิงผู้กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงที่กำลังมีประจำเดือน

ทุกคืนในเดือนศักดิ์สิทธิ์นี้มีการละหมาดเพิ่ม ซึ่งเรียกว่า ละหมาดตะรอเวียะห์ เป็นการละหมาดเพิ่มเติมทุกคืน ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ละหมาดวันละ 5 ครั้ง ไม่มีการบังคับการอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน แต่ชาวมุสลิมได้รับการเชิญชวนให้อ่านอัลกุรอานทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสามสิบญุซ (ส่วน) ตลอด 30 วันของเดือนรอมฎอน

การอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานในเดือนรอมฎอน

รอมฎอน เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ นอกจากการงดอาหารทุกชนิด ยังให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ไม่ว่าจะโดยมือ (ทำร้ายหรือขโมย) เท้า (เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม)  ตา (ดูสิ่งลามก)  หู (การฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน) ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหก) 

ความสำคัญของ “เดือนรอมฎอน” 

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือศีลอดได้สัมผัสและรับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบาก ได้เรียนรู้ถึงอุปสรรรคต่างๆ ของการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้ถือศีลอด รู้จักอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยากต่างๆ ช่วยฝึกฝนจิตใจของชาวมุสลิมทุกคนให้เป็นผู้มีสติ หนักแน่น มีจิตใจอดทนอดกลั้น ทั้งต่อความหิวโหย ต่อความโกรธ ความปรารถนาแห่งอารมณ์ และสิ่งยั่วยวน

ผลที่ได้จากความเพียร อาจนำไปสู่การพัฒนาตนเองไปในทางที่ดี มีความใฝ่สูงด้านจิตใจอยู่ตลอดเวลา จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และพร้อมที่จะเผชิญและฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ นานา มุ่งสู่ความสำเร็จ

ละหมาดตะรอเวียะห์ในเดือนรอมฎอน

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมจึงมีประโยชน์อย่างต่อการดำเนินชีวิต ต่อหน้าที่การงาน และกิจวัตรประจำวันของชาวมุสลิม นอกเหนือไปจากความยำเกรง และศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะได้ใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า

ชาวมุสลิมเริ่มถือศีลอด ตั้งแต่อายุเท่าไหร่

สำหรับคนทั่วไปรู้ดีว่ามุสลิมในวัยเข้าเกณฑ์ตามศาสนบัญญัติคือชายที่เริ่มมีอสุจิ หรือหญิงเริ่มมีประจำเดือนหรือประมาณอายุ 13-15 ปีจะถือศีลอดกันตลอดเดือนรอมฎอน วิธีการคือตื่นขึ้นมากินอาหารก่อนแสงเงินแสงทองจับท้องฟ้าเรียกว่าอาหารซุโฮร์ จากนั้นอดอาหารและน้ำตลอดทั้งวัน เริ่มกินอาหารได้อีกครั้งเมื่อดวงอาทิตย์ตกเรียกว่าอาหารอิฟตาร์ ตลอดทั้งวันจึงกินอาหาร 2 มื้อ โดยแต่ละมื้อยังกินน้อยกว่าปกติ พลังงานที่ได้รับต่อวันจึงลดลง

วันแรกและวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนถูกกำหนดโดยปฏิทินอิสลามตามจันทรคติให้เป็นวันที่สำคัญที่สุดของเดือน เพราะเชื่อกันว่า รางวัลทางจิตวิญญาณ ของการถือศีลอดจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนนี้เท่านั้น ดังนั้น มุสลิมจึงละเว้นไม่เพียงแค่อาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเว้นขาดจากการเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด ความสัมพันธ์ทางเพศ และพฤติกรรมที่เป็นบาปอื่นๆ ด้วย

การอดอาหารจะเป็นในเดือนรอมฎอนหรือนอกเดือนรอมฎอน มุสลิมจะถือกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ หากเป็นประเทศไทยการถือศีลอดไม่กินไม่ดื่มจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอด 12-14 ชั่วโมง บางประเทศอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์ยาวกว่านี้เป็นต้นว่า 18 ชั่วโมง แต่บางพื้นที่ของโลกอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์สั้นลงประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้นการอดอาหารที่แนะนำกันจึงให้อดต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงจึงจะให้ผลดีต่อสุขภาพ การกินอาหารน้อยลงแต่แบ่งเป็นอาหารมื้อเล็กๆกินทั้งวันเพื่อลดอาการหิวนั้นไม่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย

การไปละหมาดที่มัสยิดในเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอน ขยับเร็วขึ้น 10-11 วันทุกปี แต่ละประเทศถือศีลอดระยะเวลาไม่เท่ากัน

เดือนรอมฎอนนอกจากการกำหนดเดือนในปฏิทินอิสลามที่ต้องสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับ "ดาราศาสตร์" อย่างเรื่องการหมุนรอบตัวเองของโลก และการที่แกนโลกเอียง ดังนี้

  • เดือนรอมฎอนขยับเร็วขึ้นมาทุกปีเมื่อเทียบกับปฏิทินสากล 

ในแต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา 10 หรือ 11 วัน เมื่อเทียบปฏิทินสากล (ปฏิทินเกรกอเรียน) ปฏิทินสากลนั้นใน 1 ปี มีจำนวณวัน 365 หรือ 366 วัน แตกต่างกับปฏิทินอิสลามแบบจันทรคติ (เดือนกอมารียะห์) ที่มีทั้งหมด 12 เดือน แต่หนึ่งเดือนกอมารียะห์นั้นจะมีจำนวณวัน 29 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับการสังเกตการณ์จันทร์เสี้ยวแรก

ดังนั้น 1 ปีของปฏิทินอิสลาม มีจํานวนวันประมาณ 354 หรือ 355 วัน น้อยกว่าปฏิทินสากลอยู่ประมาณ 10 หรือ 11 วัน ส่งผลให้แต่ละปี เดือนรอมฎอนจะขยับเร็วขึ้นมา และฤดูกาลที่ถือศีลอดจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องจากปฏิทินจันทรคติ เป็นปฏิทินไม่ตรงตามฤดูกาล สำหรับปีนี้ วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1445 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566 (ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี) เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 1444 ตรงกับวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566  ขยับเร็วขึ้นมากว่าปีที่แล้ว 11 วัน

  • ระยะเวลาถือศีลอดในหนึ่งวันของมุสลิมแต่ละพื้นที่บนโลกไม่เท่ากัน

ระยะเวลาการถือศีลอดของมุสลิมแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะแกนหมุนรอบตัวเองของโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับเส้นตั้งฉากระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้พื้นที่ต่างๆ บนโลก ได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลบนโลกและระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกัน เช่น ช่วงฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกเหนือ กลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเป็นฤดูหนาวที่มีกลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน นั่นหมายความว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของแต่ละปี มุสลิมแต่ละพื้นที่ทั่วโลกจะถือศีลอดใน “ฤดูกาล” ที่แตกต่างกัน  ส่งผลให้มีระยะเวลากลางวัน - กลางคืนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ  

related