svasdssvasds

"อีฎิ้ลฟิตริ" เทศกาลแห่งความสุข หลังถือศีลอดในเดือน "รอมฎอน"

"อีฎิ้ลฟิตริ" เทศกาลแห่งความสุข หลังถือศีลอดในเดือน "รอมฎอน"

"อีฎิ้ลฟิตริ" วันเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ถือเป็นวันแห่งความรื่นเริง วันแห่งความสุข คนที่อยู่ห่างไกลเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะครอบครัวและเครือญาติ

SHORT CUT

  • "อีฎิ้ลฟิตริ" วันเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ถือเป็นวันแห่งความรื่นเริง
  • ในช่วงค่ำวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนซึ่งตรงกับวันนี้ (9 เม.ย.) ชาวมุสลิมจะรอฟังประกาศจากทางสำนักจุฬาราชมนตรี หากมองดวงจันทร์เห็นก็ถือว่า วันรุ่งขึ้นเป็นเดือนใหม่
  • ฮารีรายอ เป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก ถือเป็นเทศกาลแห่งความสุข หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง

"อีฎิ้ลฟิตริ" วันเฉลิมฉลองหลังจากการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมฎอน ถือเป็นวันแห่งความรื่นเริง วันแห่งความสุข คนที่อยู่ห่างไกลเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อพบปะครอบครัวและเครือญาติ

เดือนรอมฎอนหรือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอาหรับ สำหรับ พ.ศ.2567 ทางสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้มุสลิมทั่วประเทศ "ถือศีลอด" ตลอดทั้งเดือน โดยจะเริ่มถือศีลอดตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 และจะสิ้นสุดในวันที่ 29 หรือ 30 ของการถือศีลอด ขึ้นอยู่กับการมองเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนถูกกำหนดให้เป็น 1 ในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลาม  เดือนนี้ชาวมุสลิมถือศีลอดในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำโดยไม่ดื่มน้ำและอาหารล่วงหล่นผ่านลำคอลงไปเลย หากผู้นั้นเป็นมุสลิม ไม่ว่าหญิงหรือชาย ยกเว้นคนเสียจริต ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่กำลังเดินทาง คนชรา ผู้เยาว์ หญิงซึ่งกำลังตั้งครรภ์ หญิงผู้กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน หญิงที่กำลังมีประจำเดือน

ในช่วงค่ำวันที่ 29 ของเดือนรอมฎอนซึ่งปีนี้จะตรงกับวันนี้ (9 เม.ย. 2567) ชาวมุสลิมก็จะรอฟังประกาศจากทางสำนักจุฬาราชมนตรี หากมองดวงจันทร์เห็นก็ถือว่า วันรุ่งขึ้น (10 เม.ย.) เป็นเดือนใหม่ แต่ถ้ามองไม่เห็นก็เท่ากับว่ารอมฎอนมี 30 วัน  มุสลิมต้องถือศีลอดต่อไปอีก 1 วัน เมื่อสิ้นสุดรอมฎอน วันรุ่งขึ้นก็จะเข้าสู่วันแห่งการการเฉลิมฉลอง หรือที่เรียกว่าวัน "วันอีฎิ้ลฟิตริ"

ในรอบ 1 ปี ชาวมุสลิม จะมีวันสำคัญ 2 วัน

  • วันอีฎิ้ลอัฏฮา ตรงกับวันที่ 10 เดือน ซุลฮิจญะห หรือตรงกับเดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม 
  • วันอีฎิ้ลฟิตริ ตรงกับ วันที่ 1 ของเดือนเซาวาล ตามปฏิทินอิสลาม 

สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศวันดูดวงจันทร์ 9 เม.ย. 2567

 สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศเรื่อง การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล หรือวันอีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ระบุว่า 

เพื่อให้การกำหนดวันที่ 1 เดือนเซาวาล (วันอีฎิ้ลฟิตริ) ฮิจเราะห์ศักราช 1445 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ใน วันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า หากในวันและเวลาดังกล่าว "มีผู้เห็นดวงจันทร์" โปรดแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เพื่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะได้ตรวจสอบ และรายงานผลการดูดวงจันทร์ดังกล่าวมายังจุฬาราชมนตรี เพื่อออกประกาศแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน

สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศวันดูดวงจันทร์ที่ 9 เม.ย. 2567

วันอีฎิ้ลฟิตริ คืออะไร สำคัญกับชาวมุสลิมอย่างไร

วันอีฎิ้ลฟิตริ ตรงกับวันที่ 1 เดือนเชาวาล ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเป็นวันออกบวชหลังจากได้ถือศีลอดมา 1 เดือน นิยมเรียกวันนี้ว่า “วันออกบวช” หรือ “รายอปอซอ“ หรือ “รายอฟิตเราะห์”  ในวันอีฎิ้ลฟิตริ เป็นวันแรกของการออกจากเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม เป็นวันแห่งรางวัล และการตอบแทนสำหรับผู้ผ่านการทดสอบประจำปีในเดือนรอมฎอนด้วยการบังคับตัวเอง จากการลด ละ การกินดื่ม กิเลสตัณหา และได้ละหมาดตะรอวีหฺเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงเต็มตลอดค่ำคืนของเดือนรอมฎอน

ฮารีรายอ เป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก ถือเป็นวันรื่นเริงประจำปี เทศกาลแห่งความสุข หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา ร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติ เพื่อขออภัย (มะอัฟ) ซึ่งกันและกัน 

การปฏิบัติตัวในวัน "อีฎิ้ลฟิตริ"

  • ในวันอีฎิ้ลฟิตริ มุสลิมทุกคนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำการอาบน้ำสุนัต และไปละหมาดอีฎิ้ลฟิตริที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน
  • ชาวมุสลิมนิยมใส่เสื้อผ้าของใหม่ๆ สะอาด สวยงาม มีกลิ่นหอม
  • บางคนก็จะมีการบริจาคซากาตฟิตเราะห์ (ทำทาน)
  • วันอีฎิ้ลฟิตริถือได้ว่ามุสลิมทุกคนมีความรื่นเริง สนุกสนาน เพราะในวันนี้ได้ไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ไปเคารพผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และทำความสะอาดสุสาน
  • นำขนมไปแจกจ่ายให้กับเด็กๆ เพื่อนบ้าน เลี้ยงอาหารคนในหมู่บ้าน 

ชาวมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู โดยเฉพาะผู้หญิงจะเป็นผู้ตกแต่งบ้านเรือนให้สะอาดสวยงามเป็นพิเศษ จัดเตรียมอาหาร ขนมต่างๆ ไว้ต้อนรับเพื่อน ญาติพี่น้อง และแขกที่มาเยี่ยมเยียน ทุกคนต้องปฏิบัติบริจาคซากาตฟิตเราะห์ก่อนที่จะไปละหมาดในวันอีฎิ้ลฟิตริ สิ่งของที่ใช้ในการบริจาคจะใช้สิ่งของที่บริโภคเป็นอาหารหลัก

การอาบน้ำในวันฮารีรายอ เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จ จะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เรียกว่าอาบน้ำสุนัต กำหนดเวลาอาบตั้งแต่เที่ยงคืนเริ่มต้นวันฮารีรายอ จนถึงพระอาทิตย์ตก แต่เวลาที่ดีที่สุดและเป็นที่นิยมอาบน้ำสุนัต คือเมื่อแสงอรุณขึ้นขอบฟ้าในวันฮารีรายอ ในขณะอาบน้ำสุนัตทุกคนจะต้องกล่าวดุอาอฺ เป็นการขอพร

พิธีการที่สำคัญในวัน "อีฎิ้ลฟิตริ"

  • การประกอบพิธีกรรม ชาวมุสลิมทุกคนจะเดินทางไปละหมาดที่มัสยิด
  • การปฏิบัติตนเมื่อเดินทางถึงมัสยิด ทุกคนจะอาบน้ำละหมาด จากนั้นจึงเข้าไปในมัสยิด ทำการละหมาด ตะฮีญะตุลมัสยิด 2 รอกาอัต
  • มีการแบ่งแยกผญิงชาย โดยใช้ม่านกั้นกลาง เสร็จแล้วจัดแถวนั่งรอฟังโต๊ะอิหม่าม ซึ่งเป็นผู้นำในการทำพิธีละหมาด
  • การละหมาด จะมีโต๊ะอีหม่ามเป็นผู้นำละหมาดจำนวน 2 รอกาอัต
  • หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว มุสลิมทุกคนจะนั่งฟังอีหม่ามกล่าวคุฏบะ (คำอบรม) เพื่อแนะแนวทางชีวิตด้านความศรัทธาที่กระตุ้นเตือนให้ปฏิบัติแต่ความดีละเว้นความชั่ว และปฏิบัติตามแนวทางของอิสลาม เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
  • ขณะนั่งฟังนั้นทุกคนจะอยู่ในความสำรวม สงบนิ่ง ตั้งใจฟัง ไม่พูดจาใดๆ ทั้งสิ้น
  • เมื่ออีหม่ามอ่านคุฏบะฮจบแล้ว อีหม่ามจะขอพรจากพระอัลลอฮ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และบรรดามุสลิมที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม จะมีการขออภัยต่อกันโดยผู้น้อยจะเข้าไปขออภัยผู้อาวุโสกว่า

สำหรับบรรยากาศในเทศกาลฮารีรายอ เต็มไปด้วยความอบอุ่นมีความสุขที่สุด บรรดาลูกจะขออภัยต่อพ่อแม่ มีการแสดงออกด้วยการสวมกอด การจูบมือ การหอมแก้มทั้งสองของพ่อแม่ เป็นการแสดงความรัก ลูกหลานที่อยู่ต่างภูมิลำเนาต่างเดินทางกลับบ้าน เมื่อมาขออภัยและอวยพรให้พ่อแม่ บรรยากาศทุกครัวเรือนจะมีความอบอุ่นไปด้วยบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ กลับบ้านโดยพร้อมเพรียงกัน

ที่มา : สำนักจุฬาราชมนตรี , สำนักหอสมุดกลาง ม.รามคำแหง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related