svasdssvasds

กรุงเทพฯ ติดอันดับโลก เมืองคนทำงานหนักเกินไป ผลสำรวจพบ 7 ใน 10 หมดไฟทำงาน

กรุงเทพฯ ติดอันดับโลก เมืองคนทำงานหนักเกินไป ผลสำรวจพบ 7 ใน 10 หมดไฟทำงาน

สศช. เปิดข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังกรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป พบข้อมูลวัยทำงาน คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยนำเสนอบทความเรื่อง Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาตามช่วงวัยซึ่งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน พบสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงวัยที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน

จากการสำรวจข้อมูลวัยทำงานพบว่า มีความรับผิดชอบสูง และมีหลายปัญหารุมเร้า โดยวัยทำงานเป็นวัยที่มีสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตจากหลายปัจจัย ทั้งความเครียดจากการทำงาน ติดสุรา การใช้สารเสพติด และปัญหาจากการดำรงชีพ ทั้ง หนี้สินครัวเรือน การว่างงาน การขาดรายได้ ซึ่งทำให้วัยแรงงานเผชิญสภาวะกดดันหลายด้าน

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัยแรงงานอาจต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิต คือการทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน

 

จากรายงานของข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2566 พบว่า คนวัยทำงานใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน ซึ่งสภาพการทำงานจากการจัดอันดับของบริษัท Kisi ในปี 2565 พบว่า กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป (Most Overworked Cities) 

รวมทั้งยังมีพนักงานประจำกว่า 15.1% ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดปัญหาความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงานได้ง่าย

ทั้งนี้จากข้อมูลของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ปี 2566 พบว่า วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานมากถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย 

ดังนั้นหากภาวะเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหาสุขภาพร่างกายรุนแรงมากขึ้นตาม รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย

ปัญหาของวัยเด็กและเยาวชน 

สำหรับวัยเด็กและเยาวชน มีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการกลั่นแกล้ง (Bully) ในโรงเรียน และปัญหายาเสพติด 

ปัญหาสำคัญที่ระยะหลังมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นมาก คือ ปัญหาความเครียด จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ในปี 2566 พบว่า

  • มีความเครียดสูง 18% 
  • เสี่ยงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า 26%
  • เสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย 12.5%

ส่วนของผลการประเมิน 3 เดือนแรก ของปี 2567 พบว่า เยาวชน 26.8% และ 18.3% กำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการเรียนรู้และมีความเครียดสูง ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สาเหตุของความเครียดของเยาวชน จากผลสำรวจเยาวชนของคิด for คิดส์ ในปี 2565 พบว่า การเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยเกิดความเครียดสูง โดยกลุ่มอายุ 15 – 18 ปี และ 19 - 22 ปี มีความเครียดด้านการเรียนและความคาดหวังถึงงานในอนาคตมากที่สุดที่ 38.4% และ 60.9% ตามลำดับ 

ขณะที่กลุ่มอายุ 23-25 ปี พบว่า

  • ด้านการเงินของครอบครัว เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด 67.1%
  • การเรียนและการทำงาน 66.1% ซึ่งแตกต่างกันไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้ง (Bully) ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะซึมเศร้า 

โดยข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในปี 2566 พบว่า เด็กและเยาวชนไทยเคยถูกกลั่นแกล้ง 44.3% และส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนมากถึง 86.9% ซึ่งเป็นการกระทำความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ อาทิ เกิดความเครียดความรู้สึกอับอาย และมีความมั่นใจในตนเองต่ำลง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่อาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายชีวิตในอนาคต

ปัญหาของผู้สูงวัย

ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากความเหงาและโดดเดี่ยวจากการอยู่คนเดียว โดยในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุ 84.9% มีความสุขในระดับที่ดี แต่ความสุขของผู้สูงอายุจะลดน้อยลงตามวัย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม 

ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจผู้สูงอายุของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2565 มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใด ๆ เลยถึง 49% ของผู้สูงอายุทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยมีสัดส่วน 28.1% ของผู้สูงอายุทั้งหมด 

นอกจากการขาดกิจกรรมและการอยู่คนเดียวแล้ว ยังมีผู้สูงอายุจำนวนอีก 8 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10.2 ต่อประชากรแสนคน ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะความจำเสื่อม ในจำนวนนี้กว่า 90% มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย 

ทั้งนี้แม้ผู้สูงอายุจะมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายเพียง 14.4 ต่อประชากรแสนคน แต่กลับพบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าช่วงวัยอื่นอยู่ที่ 9.5 ต่อประชากรแสนคน

สศช. ระบุว่า จากสถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังภายใต้ข้อจำกัด โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในด้านการป้องกัน การรักษา การติดตาม และฟื้นฟูเยียวยาให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related