SHORT CUT
สศช.เผยช่องโหว่นโยบาย Facebook–TikTok เอื้อการละเมิดกฎหมายไทย เด็กไทยเสี่ยงเข้าถึงง่ายผ่านไลฟ์สด พนันออนไลน์รูปแบบใหม่
ในรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2567 ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการส่งสัญญาณเตือนถึงภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะการระบาดของ “การพนันออนไลน์” ในรูปแบบใหม่ที่แนบเนียนกว่าเดิม และเข้าถึงคนไทยได้ง่ายอย่างน่าตกใจ
หนึ่งในประเด็นร้อนที่รายงานฉบับนี้เน้นย้ำคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นพนันจากเดิมที่เป็นการโฆษณาเว็บพนันตรง ๆ กลายมาเป็นการ "ไลฟ์สด" ชักชวนให้ร่วมเล่นพนันผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ TikTok ซึ่งมีผู้ใช้จำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน
จากข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันที่ถูกรวบรวมไว้ในรายงาน สศช. ระบุว่า คนไทยถึง 99.9% เคยพบเห็นพฤติกรรมการพนันทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ โดย Facebook เป็นช่องทางที่พบมากที่สุด (49.6%) รองลงมาคือ TikTok (29.7%) ที่น่าตกใจคือ ทั้งสองแพลตฟอร์มนี้กำลังถูกใช้เป็นพื้นที่โฆษณา "เกมการพนันจำลอง" ที่ดูเผิน ๆ เหมือนเกมเล่นสนุก แต่กลับเข้าข่ายการละเมิด พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12
แม้แพลตฟอร์มจะระบุชัดในนโยบายว่า "ห้ามโฆษณาการพนันด้วยเงินจริง" แต่กลับอนุญาตให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกมการพนันจำลอง ซึ่งถูกใช้เป็นช่องทางเบี่ยงเบนผู้ชมไปยังเว็บพนันจริง หรือใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการชักชวนให้ร่วมพนันแบบแอบแฝง
รายงานยังชี้ว่า การถ่ายทอดสดหรือ Live บนโซเชียลนั้น กลายเป็นเครื่องมือใหม่ของผู้ให้บริการพนัน ผู้จัดสามารถโต้ตอบกับผู้ชมได้ทันที ชักชวนให้คลิกลิงก์ หรือติดต่อแลกเปลี่ยนเงินผ่านช่องแชต ซึ่งเข้าข่าย “การชักชวนทางอ้อม” ตามกฎหมาย
ทั้งนี้ พ.ร.บ.การพนัน มาตรา 12 ระบุว่า การจัดให้มีการเล่น ชักชวน หรือโฆษณาให้เล่นพนันที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ถือเป็นความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทย
สศช.เน้นย้ำว่า ช่องโหว่ในนโยบายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการปล่อยให้มีการโฆษณาหรือจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายการพนัน แม้จะอยู่ในรูปแบบ “เกม” หรือ “ความบันเทิง” ก็ตาม พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการควบคุมเชิงรุกและจริงจัง เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีในเงามืด