svasdssvasds

ศิลปะตายแล้ว? นักสร้างสรรค์คิดอย่างไร เมื่อ AI มาถึงโลกศิลปะ

ศิลปะตายแล้ว? นักสร้างสรรค์คิดอย่างไร เมื่อ AI มาถึงโลกศิลปะ

ศิลปิน นักวาด คนทำงานสร้างสรรค์ทั้งหลายยังจำเป็นอยู่ไหม? เชื่อว่าข้างต้นเป็นคำถามของหลายคน เมื่อได้ประจักษ์ถึงความสามารถของ AI ที่ก้าวกระโดด

จากยุคที่มนุษย์วาดเขียนด้วยสองมือ สู่เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูป จนในปัจจุบันเราสามารถพิมพ์คำสั่ง (prompt) ลงในกล่องข้อความ เพื่อให้ AI สร้าง (generative) ภาพที่เราต้องการออกมาได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะการวาดรูปด้วยซ้ำ

ต้องยอมรับว่าทั้งน่าทึ่ง น่าชื่นชม และน่าหวาดหวั่นไปพร้อมกัน

แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวยังมีเรื่องให้ขบคิดอีกมากนัก ยกตัวอย่างเทรนด์การเจนภาพสไตล์จิบลิ (Studio Ghibli ผู้สร้างงานอนิเมชั่นชื่อดังของญี่ปุ่น) ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนนำภาพตัวเอง, ครอบครัว ตลอดจนศิลปินมาแชร์กันว่อนโลกออนไลน์ในช่วงต้นปี 2568 ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการเจนภาพที่ขัดกับจุดยืนของศิลปิน เช่น กระทรวงกลาโหมอิสราเอลสร้างภาพทหารในสไตล์จิบลิ

SPRiNG ได้พูดคุยกับนักสร้างสรรค์ในไทยถึงประเด็นการใช้ AI เจนภาพจิบลิ ความกังวลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนอนาคตของวงการสร้างสรรค์หลังจากนี้

 

ผิดไหมที่เจนภาพจิบลิ? — คุยกับคนทำงานสร้างสรรค์

“ถ้าสมมติว่ามันไม่เกิดขึ้นกับ Studio Ghibli มันคืองานล้อเลียน (parody) นะ ซึ่งผมเชื่อว่าคนทำงานสร้างสรรค์แทบทุกคนต้องการเสรีภาพในการยั่วล้อ” ณขวัญ ศรีอรุโณทัย อาร์ตไดเรกเตอร์ของสื่อออนไลน์ Way และเจ้าของนามปากกา Antizeptic

“จุดยืนของผมคือ ทุกคนต้องล้อกันได้และเอาทุกสิ่งมาเป็นแรงบันดาลใจได้ แต่ผลประโยชน์ต้องกลับสู่ต้นทางในทางใดทางหนึ่ง ปัญหาของเรื่องนี้คือต้นทางได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้บ้างไหม แต่ที่แน่ ๆ Open AI ได้ประโยชน์จากจำนวนคนที่เข้ามาใช้เพิ่มขึ้น” ณขวัญกล่าว

ปัญหาของเรื่องนี้คือต้นทางได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งนี้บ้างไหม แต่ที่แน่ ๆ Open AI ได้ประโยชน์จากจำนวนคนที่เข้ามาใช้เพิ่มขึ้น

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีใด ๆ จาก Studio Ghibli ขณะที่ทาง แซม อัลท์แมน ซีอีโอของ Open AI ออกมาทวีตถึงกรณีนี้หลายครั้ง และหนึ่งในนั้นชี้ว่าทางบริษัทได้ประโยชน์จากผู้เข้าใช้ที่เพิ่มขึ้นหลักล้านคนในเวลาหนึ่งชั่วโมง

[ณขวัญ ศรีอรุโณทัย]

ด้าน จินต์ จิรากูลสวัสดิ์ นักวาดและนักทำหน้ากากสไตล์ไซเบอร์พังก์เล่าว่า การวาดรูปสไตล์จิบลิมีมานานแล้วในกลุ่มเฟซบุ๊กแฟนคลับ แต่เพิ่งมาเป็นประเด็นเมื่อมีการให้ AI ทำรูปดังกล่าวขึ้น ในมุมของเขา Studio Ghlbli และผู้ถือหุ้นมีสิทธิออกมาฟ้องร้อง

“ความเห็นส่วนตัว การลอกเลียนสไตล์งานหรือลายเส้น ไม่ได้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ความคล้ายไม่นับว่าเป็นการละเมิด และจะละเมิดไหม เจ้าทุกข์ต้องไปฟ้องเอาเอง แต่ที่เขายังไม่ทำอะไร เป็นเพราะทาง Studio Ghibli เองก็อาจจะได้ประโยชน์อะไรบางอย่างด้วยหรือเปล่า” จินต์ตั้งข้อสังเกต

[แฟนอาร์ต Ghibli ที่สร้างโดย จินต์ จิรากูลสวัสดิ์]

อย่างไรก็ตาม ในมุมณขวัญการทำซ้ำด้วยมือมนุษย์ไม่เหมือนกับการทำซ้ำด้วย AI โดยเฉพาะในเรื่องคุณค่าของงาน

“ไม่มีใครห้ามคุณวาดหรือทำดิจิทัลอาร์ตสไตล์จิบลิ แต่การ prompt ให้ AI ผลิตงานเหมือนออกมาเป็นร้อยเป็นพันรูป มันคือการทำให้สไตล์นี้เสื่อมคุณค่าไปในตัว กลายเป็นของโหลที่ถูกผลิตจากโรงงาน” ณขวัญกล่าว

ภาระของผู้ถูกขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

ไม่ใช่เพียงศิลปินระดับโลกที่กำลังเผชิญความท้าทายเรื่องการถูกขโมยผลงานไปให้ AI เรียนรู้ ศิลปินของไทยก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน

นักวาดสัญชาติไทยที่ใช้ชื่อ SISIDEA เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า เธอถูกเพจแห่งหนึ่งนำภาพของเธอไปเป็นต้นแบบให้ AI วาดและนำมาลงไปในเว็บเพจของตัวเอง โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเธอ และสิ่งที่เธอทำได้เพียงการรีพอร์ตกับทางเฟซบุ๊กเท่านั้น

“รู้สึกว่าหมดหวังกับเรื่องลิขสิทธิ์มาก ๆ” คือคำตอบที่เธอพิมพ์กลับมา เมื่อถามถึงความรู้สึกในประเด็นนี้

noei1984 ศิลปินนักวาดและอาจารย์พิเศษประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ถูกขโมยผลงานที่วาดลงในเว็บไซต์ออนไลน์ไปทำเป็นลายเสื้อยืดขายใน eBay อีกทั้งเคยตรวจสอบพบว่า งานที่วาดถูกนำไปให้ฝึกฝน AI โดยไม่มีการยินยอม

“งานเราถูกนำไปใช้เทรน AI โดยไม่ได้ยินยอม ซึ่งมันมีภาระที่เราถูกผลักให้แบกรับ เช่น เราจะติดต่อใครเพื่อให้ AI Model ต่าง ๆ ถอนการเรียนรู้งานของเรา? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาทำหรือไม่ทำ? มันไม่เหมือนการปกป้องสิทธิระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ พอเป็นมนุษย์กับ AI เรากลับไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย”

“ความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้โกรธเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความตั้งใจและความรู้สึกที่เราทุ่มในงานเหมือนไม่มีความหมาย (แม้จะเป็นแค่งานวาดเล่นด้วยความชอบเฉย ๆ) นอกจากเสียโอกาสทางอาชีพแล้ว มันกระทบความมั่นใจด้วยเหมือนกัน เพราะทำให้เราต้องระวังตัวเองมากขึ้น และ เสียเวลาปกป้องสิทธิ์ตัวเองในทางกฎหมาย ทั้งที่เวลาเหล่านั้นควรเอาไปสร้างงานใหม่มากกว่า” noei1984 ตอบ

[ผลงานของ noei1984 ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยเหลือ]

สำหรับเธอ สไตล์ของศิลปินเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ ของศิลปิน ดังนั้น มันควรได้รับการปกป้องมากกว่าแค่ลิขสิทธิ์ แต่ควรอยู่ในฐานะสิทธิบัตรจนกว่าศิลปินคนนั้นจะเสียชีวิต

“การถูกนำผลงานเป็นข้อมูลฝึกให้โมเดล AI ไม่ต่างกับการที่วิศวกรรถยนต์แอบเอาเครื่องยนต์เราไปถอดแล้วนำไปขายพร้อมกับรถยี่ห้ออื่น มันคือการเอา ‘สมอง’ และ ‘สไตล์’ ของศิลปินไปใช้โดยไม่รับผิดชอบ” noei1984 สะท้อน

 

ออกแบบเกมใหม่ด้วยจริยธรรม AI

แม้จะมีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ศิลปินทั้ง 3 คน (จินต์, SISIDEA และ noei1984) ต่างเห็นตรงกันว่า AI เป็นเครื่องมือที่เข้ามายกระดับวงการมากกว่าเข้ามาทำให้ถดถอย แต่คำถามคือเราจะสร้างระบบที่คนทำงานและ AI พัฒนาขึ้นไปพร้อมกันได้อย่างไร?

noei1984 เสนอว่าควรมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจนในการใช้ AI เช่น การใช้ในเชิงพาณิชย์ต้องเคารพสิทธิของศิลปิน ระบุแหล่งที่มาและแยกให้ชัดว่าอันไหนคืองานมนุษย์หรือ AI ผ่านมาตรการทั้งหมด 3 ข้อ

  • กรอบกฎหมายและนโยบายสนับสนุน ที่กำหนดหลักการ human authorship ในกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ชัดเจน
  • บังคับใช้มาตรการคุ้มครองการดึงข้อมูลผลงาน ของศิลปินโดยไม่เป็นธรรม และทำให้ระบบมีความโปร่งใส ผู้ใช้ AI ต้องระบุที่มาของเนื้อหา
  • ส่งเสริมการใช้ HITL (human-in-the-loop) ในการตรวจสอบและปรับแก้ output ของ AI พร้อมกับพัฒนาศักยภาพและการอบรมมนุษย์

และในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย noei1984 มุ่งสอนให้นักศึกษาเปิดรับ AI เพื่อเอาตัวรอด แต่ต้องรักษาตัวตนและเสียงของตัวเองเอาไว้ โดยที่ไม่ลืมคุณค่าของความเป็นมนุษย์และจริยธรรมในการใช้ AI ช่วยทำงาน

“คนที่ยังทำงานสร้างสรรค์ในยุค AI ได้ จะต้องไม่ใช่แค่ ‘ผลิตงาน’ แต่ต้อง ‘สร้างคุณค่า’ ได้จริง ต้องเข้าใจว่าคนต้องการอะไรที่เครื่องจักรให้ไม่ได้ เช่น ความรู้สึก ความจริงใจ การสื่อสารที่มีชีวิต งานเล่าเรื่องแบบที่ ‘ชีวิตคนคนหนึ่ง’ เท่านั้นจะถ่ายทอดได้"

"เรามองว่าในอนาคตมันจะเป็นยุคของศิลปินที่มีรากฐานลึกในตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำงานให้ไวหรือให้เยอะ” noei1984 กล่าว

 

ศิลปะตายแล้ว? คนทำงานสร้างสรรค์ในโลกยุค AI

ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักวาดการ์ตูนล้อเลียน อาชีพเหล่านี้จะหายไปไหมในยุค AI?

“คนที่อยู่ต้นน้ำหรือคนที่สร้างไอเดียน่าจะยังไม่เป็นอะไร แต่คนที่อยู่กลางน้ำจะได้รับผลจาก AI เยอะ” ณขวัญกล่าวถึงผลกระทบในระยะสั้นของ AI ต่อคนทำงานสร้างสรรค์

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลกการทำงานของคนครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น แพลตฟอร์มขายภาพก็เข้ามาแทนงานส่วนหนึ่งของช่างภาพ ระบบเสิร์ชเอนจินก็เข้ามาทำงานแทนงานบางส่วนของบรรณารักษ์

“คนทำงานต้องไปทำงานอย่างอื่น คนต้องทำอะไรที่ซับซ้อนขึ้นอีกระดับไปเรื่อยๆ” เขากล่าวเพิ่มเติม “มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเจ้าของเงินย่อมจะต้องเลือกสิ่งที่คุ้มค่าในแง่การลงทุนมากที่สุด”

[งานศิลปะจาก AI ที่สร้างโดยเจสัน อัลเลน และได้รับรางวัลสาขาดิจิทัลอาร์ตจากงานประกวด Colorado State Fair]

อย่างไรก็ดี มีมุมมองที่น่าสนใจจาก เจสัน อัลเลน เจ้าของผลงาน Théâtre D’opéra Spatial ศิลปะจาก AI ที่ชนะงานประกวด Colorado State Fair ในสาขาดิจิทัลอาร์ตเมื่อปี 2565 เขาตอบคำถามเรื่อง AI กับศิลปะไว้กับสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ว่า

“ศิลปะมันตายแล้วเพื่อน มันจบแล้ว AI คือผู้ชนะและมนุษย์คือผู้พ่ายแพ้” อัลเลนกล่าว

แม้หลายคนจะมองว่า AI ในอนาคตน่าจะเฟื่องฟูและถูกใช้ในวงกว้างมากขึ้น แต่สำหรับณขวัญกลับคิดต่าง โดยเห็นว่าทรัพยากรที่ AI ต้องใช้โดยเฉพาเรื่องพลังงาน อาจทำให้ยิ่งมันพัฒนามากขึ้น จะยิ่งถูกใช้ในวงจำกัด

“ผมไม่คิดว่าการที่ใครก็สามารถใช้ AI ได้มันจะยั่งยืนในทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่ามันอาจถอยกลับมาอยู่ในจุดที่เราใช้มันเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เช่น สถาปนิกหรือนักออกแบบภายในใช้เพื่อทำงานจริงๆ” ณขวัญคาดการณ์

ถึงแม้ยังไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ  AI เดินทางมาถึงแล้ว มันกำลังเปลี่ยนวงการสร้างสรรค์จากหน้ามือเป็นหลังมือ และไม่มีใครหยุดมันได้

เราจะหาสมดุลในการใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้อย่างไร ทั้งในมุมของเรื่องลิขสิทธิ์ ความคิดสร้างสรรค์ ประโยชน์ต่อผู้สร้างงาน ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ฯลฯ ยังเป็นคำถามที่น่าจะถกเถียงกันไปอีกพักใหญ่

related