กองทัพบก ชี้แจง “ไม่ได้ทำไอโอ” แค่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจต่อข่าวปลอม ยันไม่เคยใช้งบประมาณสร้างบัญชีปลอมโจมตีใคร
ดราม่าร้อนเรื่อง Information Operation (IO) กลับมาสั่นสะเทือนอีกครั้งในปี 2568 เมื่อ นายชยพล สะท้อนดี ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน เปิดเผย “เอกสารลับทางราชการ” ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในเอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงการตั้ง “คณะทำงานไซเบอร์” ในแต่ละเหล่าทัพ และมีการจำแนกบุคคลที่ “เห็นต่าง” หรือ “ต่อต้านรัฐ” เพื่อดำเนินการปฏิบัติการทางข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย
หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการอ้างถึง “IRC” หรือปฏิบัติการเชิงรุกที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจใช้เพื่อโจมตีบุคคลที่วิจารณ์รัฐบาล โดยเอกสารมีการอ้างถึง ศูนย์ปฏิบัติการร่วม (ศปก.) ซึ่งในช่วงเวลานั้นมี พล.อ.ธรรมนูญ วิถี เป็นรองผู้อำนวยการ ทำให้เกิดคำถามถึงบทบาทของหน่วยงานนี้ว่าเกินกว่าหน้าที่ด้านความมั่นคงหรือไม่
โดยเฉพาะเมื่อมีการเน้นในเอกสารว่าให้ตั้ง “คณะทำงานความมั่นคงพิเศษ” เพื่อใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือในการควบคุมทัศนคติของประชาชน
หลังเอกสารถูกเปิดเผยกลางสภา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ปะทุขึ้นในสังคมออนไลน์ ทำให้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ นำโดย รังสิมันต์ โรม ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคงมาชี้แจง
พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ชี้แจงในวันนั้น ยืนยันว่า
“กองทัพบกไม่มีการดำเนินการปฏิบัติการไอโอ ไม่เคยใช้งบประมาณรัฐเพื่อสร้างบัญชีปลอมใด ๆ”
เขายอมรับว่ากองทัพมีการ “ติดตาม” บุคคลบางรายที่มีทัศนคติต่อกองทัพในทางลบ แต่ย้ำว่าไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อโจมตีหรือบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด
สิ่งที่ทำคือการ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในกรณีข่าวปลอม หรือการบิดเบือนที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์
ในกรณีที่มีเพจต่าง ๆ อ้างว่าเป็นทหาร แล้วใช้ช่องทางนั้นไปโจมตีหรือปั่นกระแส พล.ต.วินธัย ย้ำว่า
“ไม่ใช่เพจของกองทัพ และหากมีหลักฐานชัดเจน ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายได้ทันที”
ขณะเดียวกันยังยอมรับว่า กองทัพอาจมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อการสื่อสารข้อมูลในลักษณะเปิดเผย โปร่งใส แต่ไม่เคยสั่งการให้บุคคลเหล่านั้นโจมตีใคร
แม้กองทัพจะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ท่าทีจากฝ่ายกมธ. ก็ยังเต็มไปด้วยข้อสงสัย โดยเฉพาะ นายรังสิมันต์ โรม ประธานกรรมาธิการฯ ที่ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและเจตนาที่แท้จริงของกองทัพ
เขากล่าวว่า
“การใช้เครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อสงครามกับรัฐอื่น มาทำกับประชาชนในประเทศตัวเอง คือการใช้เครื่องมือผิดประเภท และเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง”
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากการดำเนินการลักษณะนี้ยังคงอยู่ หรือถูกขยายตัวมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกรณีที่มีเบาะแสการเก็บข้อมูลของบุคคลเป้าหมาย รวมถึงข้อสงสัยว่างบประมาณรัฐถูกใช้ในการดำเนินการไอโอจริงหรือไม่
พร้อมย้ำว่า
“ภาษีของประชาชนไม่ควรถูกใช้ในการสร้างความเกลียดชัง หรือควบคุมความคิดของประชาชนในโลกออนไลน์ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และไม่ควรเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่อ้างว่าเคารพประชาธิปไตย”