พาส่องอนาคตการเงินไทย ที่จะก้าวย่างสู่ "Digital Finance" พร้อมขับเคลื่อนชีวิตประชาชนให้ใช้จ่ายง่ายขึ้น
ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้จะไปไหนมาไหน จับจ่ายใช้สอยคล่องมือมากขึ้น เพราะทุกร้านค้า ร้านขาย โรงแรม ห้องพัก สถานให้บริการ ภาคธุรกิจไทยต่างมีระบบที่คุณลูกค้าสามารถสแกนจ่ายได้อย่างรวดเร็ว หรือบางรายล้ำหน้าไปจนถึงให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบอื่นๆได้แล้ว เรียกได้ว่าในยุคนี้จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องกังวลว่าจะหาตู้ ATM ไม่เจอ เพียงท่านพกมือถือเครื่องเดียวก็สามารถท่องเที่ยว เดินทาง ช้อปปิ้ง ใช้จ่ายได้อย่างสบายใจ
ส่วนภาคธุรกิจ ร้านค้า ก็สะดวก สบายขึ้นเช่นกันที่ไม่ต้องพกเงินสดในปริมาณที่มาก หลังจากการขายของเสร็จ แถมยังช่วยในเรื่องของความปลอดภัยอีกด้วย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการเงินไทยเริ่มเข้า Digital Finance มากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กระทรวงการคลัง จะเดินหน้าการเงินดิจิทัลของไทยให้ทันสมัยกว่านี้ มาพร้อมกับนโยบายที่จะมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทันสมัยขึ้น ให้คนไทยได้สะดวก สบายยิ่งขึ้นไป
แน่นอนว่าการจะก้าวสู่จุดที่เรียกว่า Digital Finance อย่างเต็มรูปแบบ และพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศที่เป็นผู้นำในเรื่องนี้ กระทรวงการคลัง จำเป็นต้องเดินหน้าในเรื่องพัฒนาระบบการเงินไทยสู่อนาคตให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลให้เร็วขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยจะให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนา Digital Finance ของไทย ดังนี้
-สนับสนุนระบบ PromptPay ให้ประชาชนสามารถโอนเงิน/รับเงินด้วยเลขบัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์
-ผลักดันการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Society)
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้เดินหน้าผลักดันการใช้ Big Data, AI และ Blockchain เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บรายได้และการให้บริการประชาชน เช่น การคืนภาษี หรือการตรวจสอบสิทธิ์ต่าง ๆ
-ส่งเสริมระบบสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ให้ประชาชนและ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างปลอดภัย
-เข้ามากำกับดูแลฟินเทคอย่างสมดุล โดยร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
-ปัจจุบันสดๆร้อนๆ ได้มีการทำโครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลในภาคประชาชน
-เพิ่มขีดความสามารถประชาชนให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีทางการเงิน (Digital Literacy)
-ป้องกันความเสี่ยงจากการฉ้อโกงทางออนไลน์และแอปกู้เงินผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตามหากจะถามว่าข้อดีของ Digital Finance ของไทยที่กำลังพัฒนายิ่งๆขึ้นไป หลายคนคงทราบว่ามันจะช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น สะดวก รวดเร็วขึ้น แต่…จริงๆแล้วยังมีข้อดีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เพิ่มประสิทธิภาพระบบการเงินของประเทศ , ขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งสาขาธนาคาร , ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน , กระตุ้นนวัตกรรมทางการเงิน เช่น Fintech, DeFi และระบบจ่ายเงินข้ามพรมแดน เป็นต้น
ทั้งนี้หากจะโฟกัสโครงการที่โดดเด่นในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น Digital Wallet หรือ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยมีเป้าหมาย คือ กระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น , ส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ , พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและเกษตรกร , วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มความโปร่งใสในการชำระเงินของภาครัฐ
สำหรับโครงการดังกล่าวก็จะมีคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์รับเงิน เงื่อนไขการใช้จ่าย กำหนดการการลงทะเบียน การเริ่มใช้จ่าย ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ในแต่ละเฟส สำหรับสถานะโครงการนี้ในปัจจุบันก็ยังคงรอเคาะในแต่ละเฟสที่เหลือ และยังจะมีต่อเนื่องไปอีก เนื่องจากโครงการนี้รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย นั่นก็คือ e-Payment (Electronic Payment) ที่กระทรวงการคลังส่งเสริมคนไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการใช้เงินสดลง ให้เป็นไปตามงนโยบาย“Thailand 4.0” และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับ โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) เปิดตัวเมื่อปี 2559 ให้เป็นระบบโอนเงินแบบเรียลไทม์ผ่านเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขบัญชี โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือคิดอัตราต่ำมาก
ไม่เพียงเท่านี้ยังเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน (National e-Payment Master Plan)เพื่อให้วางแผนระยะยาวเพื่อให้ประเทศเข้าสู่ระบบไร้เงินสด อีกทั้งเป็นส่งเสริมการใช้ QR Code มาตรฐานเดียว (Thai QR Payment) พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชันธนาคาร และ Mobile Banking ลดค่าธรรมเนียมโอนเงิน/จ่ายบิล กระตุ้นให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้ e-Tax และ e-Receipt และได้มีสนับสนุนร้านค้าขนาดเล็กให้รับชำระเงินผ่าน QR Code / EDC เช่น โครงการถุงเงิน G-Wallet / คนละครึ่ง เพื่อเพิ่มความสามารถให้ผู้ค้าเข้าถึงระบบการเงินดิจิทัล
ทั้งหมด คือ ภาพรวมของการส่งเสริม Digital Finance ในไทยช่วงที่ผ่านมา และส่องอนาคตการเงินไทยว่าจะไปในทิศทางใด และต้องจับตาว่า Digital Finance จะขับเคลื่อนชีวิตให้ใช้จ่ายง่ายขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่…ที่แน่ๆเชื่อว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ”