svasdssvasds

ไขทุกปัญหา! ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ยอด Recal โดนหักเงินเดือน 3,000

ไขทุกปัญหา! ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ยอด Recal โดนหักเงินเดือน 3,000

​​​​​​​ไขข้อข้องใจทุกประเด็น กยศ. ทั้งการลดดอกเบี้ยจาก 7.5% เหลือ 1%, การคำนวณหนี้ใหม่ 3.8 ล้านบัญชีได้ประโยชน์, วิธีแก้ปัญหาถูกหักเงินเดือน 3,000 บาท และมาตรการลดหย่อนหนี้ 5-10% เพื่อปิดบัญชี

เป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายใหม่ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่มีนาคม 2566 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่ส่งผลต่อผู้กู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การปรับลำดับการชำระหนี้ และการคำนวณหนี้ใหม่ (Recal) ซึ่งคุณควรรู้ว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อยอดหนี้ของคุณ

5 ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของกฎหมาย กยศ. ใหม่

  1. ลำดับการชำระหนี้ : เปลี่ยนจาก "เงินเพิ่ม → ดอกเบี้ย → เงินต้น" เป็น "เงินต้น (ส่วนที่ครบกำหนด) → ดอกเบี้ย → เงินเพิ่ม"
  2. อัตราดอกเบี้ย : ลดลงจากไม่เกิน 7.5% ต่อปี เหลือไม่เกิน 1% ต่อปี
  3. อัตราเงินเพิ่ม : ลดลงจากไม่เกิน 1.5% ต่อเดือน เหลือไม่เกิน 0.5% ต่อปี
  4. การปรับโครงสร้างหนี้ : เพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้ ชำระทุกเดือนไม่เกิน 15 ปีและอายุไม่เกิน 65 ปี
  5. เงินเพิ่ม : พักแขวนไว้ หากผ่อนตรงกำหนดจะได้รับการยกเว้นเงินเพิ่ม

ความแตกต่างระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่

ผลการคำนวณหนี้นอกระบบ (Recal)

กยศ. ได้ดำเนินการคำนวณหนี้นอกระบบ (Recal) เสร็จสิ้นแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 มีบัญชีทั้งสิ้น 3.8 ล้านบัญชี แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มที่ได้เงินคืน : 286,362 บัญชี (ได้รับเงินคืนรวม 3,399.12 ล้านบาท)
  2. กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลง : 3,548,016 บัญชี (ยอดหนี้ลดลงรวม 46,225.6 ล้านบาท)
  3. กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม : 755 บัญชี
  4. กลุ่มที่หนี้หมด (ปิดบัญชี) : 80 บัญชี

ไขทุกปัญหา! ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ยอด Recal โดนหักเงินเดือน 3,000

ยอดหนี้ที่ไม่ตรงกันระหว่าง Mobile Application และ Website

ปัจจุบันผู้กู้อาจพบว่ายอดหนี้ที่แสดงใน Mobile Application และ Website ของ กยศ. ไม่ตรงกัน

  • Mobile Application: แสดงยอดหนี้ก่อนการ Recal
  • Website: แสดงยอดหนี้หลังการ Recal (คำนวณนอกระบบ)

ทั้งนี้ หลังคำนวณหนี้โดยระบบเสร็จสมบูรณ์ภายในกรกฎาคม 2568 จะมีการปรับปรุงยอดในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกัน

วิธีตรวจสอบสถานะ-ขั้นตอนดำเนินการ

  • ตรวจสอบสถานะหนี้ : เข้าเว็บไซต์ กยศ. คลิกที่นี่
  • กลุ่มที่ได้เงินคืน : ลงทะเบียนขอรับเงินคืนที่เว็บไซต์ กยศ. โดยจะได้รับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน
  • กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลงหรือเท่าเดิม : ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ผ่านเว็บไซต์ กยศ. และยืนยันตัวตนผ่าน App ThaiID
  • กลุ่มที่หนี้หมด : ถือว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้ครบถ้วนปิดบัญชี

กรณีการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท

ผู้กู้ยืมที่ถูกหักเงินเดือนเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท มีสาเหตุมาจาก

  1. มียอดค้างชำระหนี้ก่อนหักเงินเดือน
  2. ในระหว่างแจ้งหักเงินเดือน ผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระส่วนต่างในวันที่ 5 กรกฎาคม ของงวดปีนั้นๆ

ผู้กู้ยืมที่ต้องการยกเลิกการหักเงินเพิ่ม 3,000 บาท สามารถดำเนินการได้ดังนี้

  • ขอปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์
  • ชำระยอดค้างชำระให้เสร็จสิ้น

จากกรณีตัวอย่างจริง ผู้กู้ยืมที่มาขอปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนเมษายน 2568 พบว่ายอดหนี้เดิม 279,445 บาท (ชำระต่อเดือน 1,620 บาท + ถูกหักเพิ่ม 3,000 บาท) เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยอดหนี้ลดลงเหลือ 84,959 บาท (ชำระต่อเดือนเพียง 480 บาท)

การหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท

แผนการคืนเงินให้ผู้กู้แบ่งเป็น 3 ปีงบประมาณ

  • ปี 2567 จำนวน 1,420 บัญชี เป็นเงิน 44.53 ล้านบาท
  • ปี 2568 จำนวน 71,591 บัญชี เป็นเงิน 838.64 ล้านบาท
  • ปี 2569 จำนวน 213,351 บัญชี เป็นเงิน 2,515.95 ล้านบาท

แผนการคืนเงิน

มาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อปิดบัญชี

กยศ. ได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้เพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้กู้ยืม โดยใช้ยอด Recal ณ 30 ก.ย. 67 เป็นยอดหนี้ตั้งต้น ผู้กู้จะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว

ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่ studentloan.or.th ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 31 พฤษภาคม 2568

มาตรการลดหย่อนหนี้ครั้งนี้ครอบคลุมผู้กู้ยืม กยศ. ในวงกว้าง โดยแบ่งตามสถานะของผู้กู้ยืม ดังนี้

ผู้กู้ยืมที่ยังอยู่ในช่วงปลอดหนี้ (ไม่เกิน 2 ปี หลังเรียนจบ)

  • ปิดบัญชีรับส่วนลดเต็มๆ : รับส่วนลดเงินต้นทันที 10% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีทั้งหมดในคราวเดียว
  • จ่ายบางส่วนก็ได้ลด : รับส่วนลด 5% ของยอดเงินที่ชำระ หากชำระหนี้บางส่วนระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2568 โดย ไม่ต้องลงทะเบียน กยศ. จะคำนวณส่วนลดให้เมื่อสิ้นสุดมาตรการ

ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ (กยศ. ยังไม่ฟ้องคดี)

  • คนไม่เคยผิดนัด เฮ! : รับส่วนลดเงินต้น 10% หากไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และชำระหนี้ปิดบัญชีทั้งหมดในคราวเดียว
  • เคยผิดนัดก็มีสิทธิ : รับส่วนลดเงินต้น 7% สำหรับผู้ที่เคยผิดนัด แต่ปัจจุบันกลับมาชำระหนี้ตรงตามกำหนด และชำระหนี้ปิดบัญชีทั้งหมดในคราวเดียว
  • ผิดนัดอยู่ก็ยังได้ : รับส่วนลดเงินต้น 5% พร้อม ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้ที่มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และชำระหนี้ปิดบัญชีทั้งหมดในคราวเดียว

ขั้นตอนรับเงินส่วนลดคืน

เมื่อผู้กู้ยืมชำระหนี้ปิดบัญชีพร้อมรับส่วนลดแล้ว กองทุนฯ จะดำเนินการสรุปยอดเงิน และคำนวณส่วนลดให้ตามมาตรการ จากนั้นจะคืนเงินส่วนลดผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของผู้กู้ยืม ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน หลังจากสิ้นสุดมาตรการ

ไขทุกปัญหา! ปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. ยอด Recal โดนหักเงินเดือน 3,000

ที่มา : กยศ. 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related