svasdssvasds

ห่วงเศรษฐกิจ! รวมความเห็น หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 36%

ห่วงเศรษฐกิจ! รวมความเห็น หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 36%

หลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ ไทยเจอ 36% มีผล 1 ส.ค.นี้ "กรณ์" แนะรัฐรื้องบประมาณ 69 รองรับวิกฤต ด้าน "กอบศักดิ์" แนะทำการบ้านเพิ่มแล้วกลับมาต่อรอง

จากกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าสินค้านำเข้าจาก 14 ประเทศจะต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าแบบเหมารวม เริ่ม 1 ส.ค.โดยประเทศไทยจะถูกเก็บภาษีศุลากรในอัตราสูง 36 % ซึ่งจดหมายเหล่านี้เป็นชุดแรกที่จะถูกส่งก่อนวันพุธ ซึ่งเป็นวันที่ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ที่เขาเรียกเก็บกับหลายสิบประเทศจะกลับไปเป็นระดับที่สูงขึ้นซึ่งเขาประกาศไว้เมื่อต้นเดือนเมษายน

"กรณ์" แนะรื้องบปี 69 รองรับวิกฤต เตือนระวังการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ไทยได้รับจดหมายเรียกเก็บภาษีตอบโต้จากสหรัฐ 36% ว่า “เราเจอเข้าเต็ม 36%!” นี่คือผลเจรจาที่เลวร้ายที่สุดที่เป็นไปได้ เพราะนอกจากไม่ได้ลดหย่อนอะไรจากที่อเมริกาประกาศไว้เมื่อ 90 วันก่อน แต่เป็นอัตราที่สูงกว่าเวียดนามที่เจรจาลดของเขาลงได้กว่าครึ่ง

อเมริกาแจ้งมาว่าหากในอนาคตเราลดภาษีที่คิดเขาลง เขาก็จะปรับภาษีที่คิดกับเราลงตาม

การเจรจากับทรัมป์เป็นเรื่องที่ยากมาก อเมริกาถือไพ่เหนือกว่าเราเป็นทุนเดิม และในขณะที่รัฐบาลเราหา win-win เขาเองมองว่าเราเอาเปรียบเขามานานแล้ว ถึงเวลาเขา win คนเดียวบ้างเพื่อเป็นการชดเชย - ทีมเราอ่านเกมส์นี้ไม่ขาด

ที่เวียดนามกล้าลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เป็นเพราะเขาแข่งขันได้ (และพร้อมแข่งขัน) มากกว่าเราในทุกภาคอุตสาหกรรม คำถามคือในการเจรจาที่ผ่านมาเรายังพยายามปกป้องใครอยู่บ้าง? คุ้มหรือไม่กับความเดือดร้อนของผู้ส่งออก และการสูญเสียรายได้ของประเทศ?

ที่สำคัญคือรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์นี้อย่างไร?

  • อันดับแรก รัฐบาลควรทบทวนการพิจารณางบประมาณปี 69 ทั้งหมด ทั้งแหล่งรายได้ และทั้งการใช้จ่าย หากรัฐบาลยังทำทุกอย่างเหมือนเดิมคนไทยจะเดือดร้อนหนักมาก

 

  • อันดับที่สอง ควรระวังผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ หากเราเริ่มขาดดุลต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลง ประเด็นเรื่องเสถียรภาพจะเริ่มมีความสำคัญ ในจังหวะนี้เราจะมีเลือกผู้ว่าแบงค์ชาติท่านใหม่พอดี วิสัยทัศน์และทัศนคติของผู้ว่าท่านใหม่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นมาก

"กอบศักดิ์" หวั่นกระทบส่งออก ห่วงนักลงทุนแห่ตั้งฐานประเทศอื่น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังมีข่าวว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยจะถูกตั้งไว้ที่ 36% โดยระบุว่า “เท่ากับรอบแรก” พร้อมชี้ว่าเป็นคำเตือนจากสหรัฐฯ ว่า “ที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจ” และยังไม่ถือเป็น Good Deal กรุณาทำการบ้านเพิ่มแล้วกลับมาต่อรองอีกรอบไม่เช่นนั้น "จบที่เดิม" ที่เคยประกาศไว้ที่ 2 เมษายน

ซึ่งในรอบนี้สหรัฐอาจจะไม่ถอยเพราะตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ ไปแล้วครั้งหนึ่ง ผู้ประกอบการสหรัฐมีเวลาปรับตัวมา 90 วันถ้าตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่มาก ในช่วง 2-3 วันข้างหน้าลงไม่ถล่มทลายเหมือนต้นเมษายนก็ยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจท่านประธานาธิบดี Trump ได้

 

นายกอบศักดิ์เปรียบเทียบว่า หากเวียดนามเสียภาษี 20% มาเลเซีย 25% ขณะที่ไทยโดน 36% จะทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบคู่แข่งถึง 10-16% ซึ่งจะส่งผลร้ายแรงต่อทั้งการส่งออกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมยกตัวอย่างว่า เวียดนามเคยถูกตั้งภาษีไว้ที่ 46% แต่สามารถเจรจาลดลงเหลือเพียง 20% ได้สำเร็จ แสดงให้เห็นว่า “ต้องมีหนทาง” ในการแก้ไขปัญหานี้ พร้อมส่งกำลังใจให้ทีมเจรจา

"ศิริกัญญา" ชี้ไทยถูกบีบให้จนมุม มองเจรจาครั้งเดียวเสียเปรียบคู่แข่ง

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน เปิดเผยถึงกรณีที่โดนัล ทรัมป์ ส่งจดหมายอัตราภาษีนำเข้า ซึ่งไทยยังคงเดิมที่ 36% ว่าเป็นเรื่องค่อนข้างช็อก ตอนแรกที่มีการประกาศว่าจะส่งจดหมาย เรายังไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบแรก เนื่องจากเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา 

การจบที่ 36% เป็นการบีบต้อนให้จนมุม ด้วยเดดไลน์ ทำให้ต้องคายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษี 36% ดังนั้น 36% คงเป็นอัตราสูงสุดที่เราจะได้รับ คงไม่ได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้แล้ว เพราะหลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีด้วยซ้ำ จึงถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอใหม่ ซึ่งข้อเสนอใหม่นี้ตนเข้าใจว่าถูกส่งไปตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.แล้ว จึงต้องรอท่าทีของทางสหรัฐอเมริกา จะเป็นอย่างไร

กรณีข้อเสนอลดสินค้าเกษตรของไทย จะทำให้ผลการเจรจาดีขึ้นหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่า สินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่จะเก็บภาษี 0% ใน 90% ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0% ทุกรายการของสินค้าสหรัฐ ทำให้ได้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20% ก็อาจจะทำให้ข้อเสนอของไทย ไม่ได้น่าดึงดูดนัก

ขณะเดียวกันเราคงต้องขอดู ทั้ง 90% ของรายการสินค้าสหรัฐที่ไทยจะลดภาษีให้ มีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้นโอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทยก็ค่อนข้างสูง 

ที่มา : เฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิชKobsak Pootrakool

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

related