SHORT CUT
สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ มีผล 1 สิงหาคมนี้ ไทยเจอภาษี 36% ไม่เปลี่ยนแปลง
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่าสินค้านำเข้าจาก 14 ประเทศจะต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าแบบเหมารวม เริ่ม 1 ส.ค.โดยสำหรับประเทศไทยจะถูกเก็บภาษีศุลากรในอัตราสูง 36 %
ประธานาธิบดีได้แชร์ภาพหน้าจอแบบฟอร์มจดหมายที่กำหนดอัตราภาษีใหม่ต่อผู้นำของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน แอฟริกาใต้ ลาว และเมียนมา ผ่านโซเชียลมีเดียหลายฉบับ
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เขาได้แชร์จดหมายอีกชุดหนึ่งจำนวน 7 ฉบับถึงผู้นำของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ตูนิเซีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เซอร์เบีย กัมพูชา และประเทศไทย
สินค้าที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย คาซัคสถาน และตูนิเซีย จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% ตามจดหมายที่ทรัมป์โพสต์
สินค้าของแอฟริกาใต้และบอสเนียจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 30% และสินค้าที่นำเข้าจากอินโดนีเซียจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิต 32%
บังกลาเทศและเซอร์เบียทั้งคู่อยู่ที่ 35% ในขณะที่กัมพูชาและไทยถูกเก็บภาษีศุลกากร 36% จดหมายของประธานาธิบดีระบุ
สินค้านำเข้าจากลาวและเมียนมาจะต้องเผชิญกับภาษี 40% ตามจดหมายที่ทรัมป์โพสต์บน Truth Social
จดหมายที่ทรัมป์ลงนามยังระบุเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ "อาจจะ" พิจารณาปรับระดับภาษีใหม่ "ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับประเทศของคุณ"
จดหมายเหล่านี้เป็นชุดแรกที่จะถูกส่งก่อนวันพุธ ซึ่งเป็นวันที่ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ที่เขาเรียกเก็บกับหลายสิบประเทศจะกลับไปเป็นระดับที่สูงขึ้นซึ่งเขาประกาศไว้เมื่อต้นเดือนเมษายน
แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่าจะมีจดหมายอีกหลายฉบับที่จะถูกส่งออกไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ช่วงบ่ายวันจันทร์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเลื่อนเส้นตายภาษีศุลกากรของวันพุธออกไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม คำสั่งดังกล่าวระบุว่าทรัมป์ตัดสินใจดังกล่าว "โดยอิงจากข้อมูลเพิ่มเติมและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างๆ"
โดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ภาพจดหมายแจ้งอัตราภาษีต่างตอบแทนผ่าน Truth Social ยืนยันไทยถูกเก็บอัตราภาษี 36% โดยมีเนื้อหาดังนี้
7 กรกฎาคม 2025
ฯพณฯ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รักษาการนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย กรุงเทพฯ
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ข้าพเจ้าได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน ซึ่งสะท้อนถึงความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของเรา และข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกาได้ตกลงที่จะเดินหน้าทำงานร่วมกับประเทศไทยต่อไป แม้จะประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับประเทศของท่านเป็นอย่างมากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เราได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อกับท่าน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบการค้าที่ สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น เราจึงขอเชิญประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจอันน่าอัศจรรย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่าเราจำเป็นต้องลดเลิกการขาดดุลการค้าเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากนโยบายกำแพงภาษีและมิใช่ภาษี ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของไทย ความสัมพันธ์ของเราในอดีตนั้น น่าเสียดายที่ ไม่เป็นไปอย่างต่างตอบแทน
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2025 เป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บ ภาษีนำเข้าในอัตรา 36% สำหรับ สินค้าทุกชนิดจากประเทศไทย ที่ส่งเข้ามายังสหรัฐ แยกจากภาษีตามหมวดหมู่สินค้าโดยสิ้นเชิง สินค้าที่ผ่านการถ่ายโอนจากประเทศที่สามเพื่อเลี่ยงภาษีจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าตามที่ควร
โปรดเข้าใจว่า อัตรา 36% นี้ยัง ต่ำกว่าระดับที่จำเป็น เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้าที่เรามีกับประเทศของท่าน
อย่างที่ท่านทราบ หากประเทศไทย หรือบริษัทใดในประเทศของท่าน เลือกที่จะมาตั้งฐานการผลิตหรือประกอบสินค้าในสหรัฐ จะ ไม่ต้องเสียภาษีใดๆ และเรายังจะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการอนุมัติด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
หากประเทศไทยเลือกที่จะ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าในอัตราใด เราจะเพิ่มอัตรานั้นเข้าไปใน 36% ที่เรากำหนดไว้แล้ว โปรดเข้าใจว่า การจัดเก็บภาษีนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ไขผลกระทบจากนโยบายภาษีและมิใช่ภาษีของไทยที่มีมานานหลายปี และนำไปสู่การขาดดุลการค้าในระดับที่ไม่อาจยอมรับได้ต่อเศรษฐกิจ และแม้แต่ต่อความมั่นคงแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา
เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับท่านในฐานะพันธมิตรทางการค้าต่อไปอีกหลายปี หากประเทศไทยประสงค์จะเปิดตลาดการค้าที่เคยปิดไว้ต่อสหรัฐฯ และยกเลิกนโยบายกำแพงภาษี รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ เราอาจพิจารณาปรับเงื่อนไขในจดหมายฉบับนี้ ทั้งนี้อัตราภาษีดังกล่าว สามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา
สหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง
ขอบคุณสำหรับความใส่ใจในเรื่องนี้
ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ
โดนัลด์ เจ. ทรัมป์
ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ , โพสต์ทูเดย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง