SHORT CUT
อภิสิทธิ์ มอง ประเทศไม่มีทางตัน มีแต่ระบบที่ไม่มีทางออก รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขเรื่องใหญ่ๆ แนะการเมืองไทยไม่ควรพึ่งการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ - ติง ทักษิณ ทำ "เกินขอบเขต"
23 ก.ค. 2568 “เครือเนชั่น” จัดงาน “55 ปี NATION ผ่าทางตันประเทศไทย กับ 3 ผู้นำทางความคิด : Chapter 3 ผ่าทางตันกับ 3 บก.” โดยมีแขกรับเชิญคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดำเนินรายการโดย 3 บก. ได้แก่ นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), และประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด และนายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ โดยชี้ว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่หยั่งรากลึกถึงวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต้องแก้ไขควบคู่กันไป
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ: นายอภิสิทธิ์เสนอ 2 แนวทางหลัก คือ
ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ต้องมีขอบเขตการทำงาน (TOR) ที่ชัดเจน เพื่อลดความหวาดระแวงของสังคมและสร้างความมั่นใจว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
แก้ไขรายมาตรา แต่ทำอย่างครอบคลุมและโปร่งใส โดยเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
สร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย (Rule of Law): นายอภิสิทธิ์เน้นย้ำว่า "เรามีคนเก่งในการทำผิดกฎหมาย แต่ขาดคนเก่งในการเขียนกฎหมาย" ปัญหาสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เสมอภาค ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน การทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน คือหัวใจของการผ่าทางตัน
ยกระดับวัฒนธรรมทางการเมือง : เขาชี้ว่าประเทศไทยนำเข้าระบบรัฐสภาจากตะวันตก แต่ไม่ได้นำ "ประเพณีและความรับผิดชอบทางการเมือง" มาด้วย นักการเมืองในต่างประเทศจะลาออกเพื่อรักษาเกียรติภูมิของระบบเมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาว แต่นักการเมืองไทยมักยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าระบบ
นายอภิสิทธิ์มองว่ากระแส "สิงหาเดือด" ที่หลายฝ่ายกังวลจากสารพัดคดีความนั้น ไม่น่าจะนำประเทศไปสู่ทางตัน เพราะทุกปัญหามีทางออกตามระบบ เช่น หากการเลือก สว. เป็นโมฆะ ก็จัดการเลือกตั้งใหม่ หรือหาก สส. ถูกตัดสิทธิ์ ก็มีการเลือกตั้งซ่อม
"สิ่งสำคัญกว่าคือการทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราไม่กลัวกฎหมาย ปัญหาก็จะวนกลับมาที่เดิม" เขากล่าว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ได้แสดงความเห็นต่อบทบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าการให้คำแนะนำในฐานะพ่อของนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การกระทำบางอย่างอาจ "เกินขอบเขต" และสร้างภาพลักษณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อข้อกล่าวหาเรื่องการครอบงำพรรคการเมือง ซึ่งบั่นทอนระบบความรับผิดชอบทางการเมือง
"ถ้าผมมีเสมียนแบบนี้ ก็ไล่ออกไปนานแล้ว เพราะทำเกินขอบเขต เนชั่นอยากได้เสมียนแบบนี้ไหม" " นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถูกถามถึงโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่าไม่มีใครในประเทศไทยกล้ายืนยันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เขาได้ให้บทเรียนสำคัญว่า การรัฐประหารที่ผ่านมาสามารถแก้ได้เพียงปัญหาเฉพาะหน้า แต่กลับทิ้งมรดกที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ดังเช่นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
เขาเรียกร้องให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจ อย่าสร้างเงื่อนไขที่ทำให้สังคมรู้สึกสิ้นหวังจนมองว่าการเปลี่ยนแปลงนอกระบบเป็นทางออก ซึ่งเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดจากอดีต
"หน้าที่ของนักการเมืองคือรีบหาทางออกที่ทำให้สังคมเดินต่อไปได้ อย่าพาประเทศไปถึงจุดนั้นอีก" นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าของตนเอง โดยบอกว่า วันใด เอาอุดมการณ์กลับมา เขาจะกลับไปเอง
"วันที่ผมลาออกจากประชาธิปัตย์ เพราะผมคาดการณ์ว่ามันจะมีวันนี้ รูปการณ์ของการตัดสินใจ ในการเลือกผู้บริหาร เงื่อนไขต่างๆที่แวดล้อม มันมีคำตอบเดียว ก็คือแสวงหาโอกาส ไปร่วมรัฐบาล แมนฯยูไนเต็ด เหมือนประชาธิปัตย์ ไม่ตาย ไม่ฟื้น เมื่อไรที่ประชาธิปัตย์ เอาอุดมการณ์กลับมา ผมจะกลับไปเอง"
ขณะที่ ประเด็นความขัดแย้งชายแดน ไทย - กัมพูชา , อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้มุมมองว่า ต้องทำให้ประชาคมโลกได้ทราบว่า แนวทางของไทยและกัมพูชาคืออะไรในตอนนี้ ให้ประชาคมโลกเข้าใจ
"ฝั่งกัมพูชา เขาก็ส่งสัญญาณว่า อยากไปเหมือนเดิม ก็เปิดด่านสิ ถ้าฝ่ายไทย จะบอกว่า "ได้" ก็ต้องมาคุยกันก่อนว่า เหมือนเดิม มันแปลว่าอะไร ก.ต่างประเทศ - รัฐบาลไทย ยังทำน้อยไป เรื่องทำความเข้าใจกับต่างประเทศ ว่าเหตุที่เกิดขึ้นมากับกัมพูชา 28 พ.ค. ที่มาจุดเริ่มต้น มันมาจากอะไร
ปัญหาเรื่องกับระเบิดเป็นเรื่องร้ายแรงมาก จริงๆเป็นเงื่อนไขที่ประชาคมโลกได้ทราบว่า แนวทางของไทยคืออะไร กัมพูชาคืออะไร เราต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้ใครบาดเจ็บ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องยกระดับ ให้เป็นเรื่องของนานาประเทศ"