"Gen Z stare" กำลังกลายเป็นกระแสไวรัล เมื่อคนรุ่นใหม่ถูกมองว่า 'ไร้มารยาท' จากการที่พวกเขามักตอบคำถามหรือบทสนนทนา ด้วยการใช่ 'สายตาว่างเปล่า'
สายตาจ้องมองของ Gen Zหรือ "Gen Z stare" เป็นคำที่กำลังกลายเป็นกระแสไวรัลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์ของคนรุ่น Gen Z ที่มักจะจ้องมองผู้อื่นด้วย 'สายตาว่างเปล่า' แทนที่จะตอบคำถามหรือตอบโต้บทสนทนาด้วยคำพูด จนบางครั้งทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัด เหมือนถูกดูหมิ่น และไม่ให้เกียรติ
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือการแพร่กระจายของคอนเทนท์ที่ทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน 'Gen Z stare' และถูกแชร์ต่อๆ กันผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok และ Instagram ส่วนใหญ่เป็นคลิปสั้นจำลองเหตุการณ์ที่พวกเขาได้รับ 'สายตาว่างเปล่า' จากสถานการณ์หรือบริบทต่างๆ เช่น
เมื่อลูกค้าเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรืออยู่นอกเหนือขอบเขตที่พนักงานจะช่วยเหลือได้ เช่น สั่งอาหารเป็นเมนูที่ทางร้านไม่เคยมีขายมาก่อน หรือบอกว่าตนไม่พกเงินสดติดตัวในร้านที่รับการชำระเป็นเงินสดเท่านั้น แทนที่พวกเขาจะชี้แจงหรืออธิบายอีกครั้งอย่างชัดเจน พนักงาน Gen Z มักจะตอบโต้ด้วยการยืนจองมองด้วยสายตาที่ว่างเปล่าแทน
เมื่อพนักงานของร้านค้าหรือร้านอาหารเข้าหาลูกค้า Gen Z แบบกะทันหัน เพื่อสอบถามความต้องการหรือนำเสนอสินค้าต่างๆ พวกเขามักจะหันไปจ้องมองด้วยสายตาว่างเปล่า แทนที่จะตอบรับหรือปฏิเสธในทันที
เมื่อพวกเขาถูกตั้งคำถาม หรือถูกตำหนิโดยผู้ใหญ่ หากพวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล หรือไม่ใช่ปัญหาของตนเอง แทนที่จะเถียงกลับด้วยเหตุผลหรืออารมณ์ พวกเขามักจะใช้สายตาว่างเปล่าจ้องมองกลับไปเพื่อแสดงจุดยืน ซึ่งกรณีนี้มักเกิดขึ้นได้บ่อยในสถานที่ทำงานที่พวกเขาต้องเผชิญความกดดันจากเพื่อนร่วมงานต่างช่วงวัยด้วย
นอกจากจะถูกล้อเลียนในโลกออนไลน์โดยคนรุ่นใกล้เคียงแล้ว พฤติกรรม 'Gen Z stare' ยังถูกวิพากษ์จิจารณ์จากคนรุ่นเก่าว่าเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการต่อต้านสังคม ขาดมารยาท เย่อหยิ่ง และหยาบคาย
ส่วนคน Gen Z บางส่วนแย้งว่า พวกเขาไม่ได้ขาดทักษะทางสังคม เพียงแค่เบื่อหน่ายกับการตอบคำถามที่ไม่จำเป็น หรือคำถามโง่ๆ เท่านั้น
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า สังคมไม่ควรรีบตัดสินคนรุ่นใหม่จากพฤติกรรมดังกล่าว เพราะหลายครั้งคน Gen Z มีแนวโน้มว่าจะชื่นชอบการ “ปฏิสัมพันธ์แบบจริงใจ” มากกว่าการ "ตอบไปตามมารยาท" อีกทั้ง Gen Z stare ยังไม่ได้เกิดแค่กับคน Gen Z เท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมต่อต้านขนบธรรมเนียมเดิม ซึ่งเกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอมาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์
การเติบโตขึ้นมาด้วยการถูกทอดทิ้งไว้กับหน้าจอโทรศัพท์หรืออุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย รวมถึงการเผชิญกับยุคของโรคระบาดอย่างโควิด-19 ยังอาจส่งผลให้พวกเขามีมุมมองต่อการเข้าสังคมที่แตกต่างออกไป จึงมีการพัฒนาทักษะการสื่อสารในรูปแบบของตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงช่องว่างทักษะทางสังคมที่เกิดจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง
ทั้งนี้ สิ่งที่สังคมควรทำ ท่ามกลางโลกการทำงานในยุคที่ประกอบด้วยผู้คนหลายเจนเนอเรชัน คือการเปิดใจ ทำความเข้าใจ และปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้คนแต่ละรุ่นสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว Gen Z ก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้นี้