svasdssvasds

ทำได้-ทำไม่ได้ คอนเทนต์การเมืองบน TikTok-Facebook กับเลือกตั้ง 2566

ทำได้-ทำไม่ได้  คอนเทนต์การเมืองบน TikTok-Facebook กับเลือกตั้ง 2566

Facebook - TikTok ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับคนไทยและทั่วโลก รวมทั้งเรื่องของข่าวสารและคอนเทนต์ทางการเมือง ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานชาวไทยสนใจและจับตามองมาก ทั้ง 2 แพลตฟอร์มจึงมีการวางเงื่อนไขเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาอาจทำให้หลายภาคส่วนมองว่าแพลตฟอร์ม TikTok จะเป็นพื้นที่หลักในการหาเสียง หรือทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการเมือง

ดังนั้น TikTok จึงมีการจัดการรูปแบบคอนเทนต์การเมืองให้ผู้ใช้งานอื่นๆ ได้เห็นภาพชัดขึ้น ด้วยการจัดประเภทบัญชีผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ GPPPA แบ่งเป็น

  • บัญชีของรัฐบาล (government)
  • นักการเมือง (politician)
  • พรรคการเมือง (political party account)

เช่น หน่วยงานภาครัฐ, ผู้สมัครรับเลือกตั้ง, รัฐมนตรี, ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์หาเสียง ก็จะแยกประเภทในแต่ละหมวดหมู่ เป็นต้น

ข้อห้ามการใช้งานบน TikTok

นอกจากนี้ ระบบยังได้สร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการห้ามให้บัญชีประเภทดังกล่าว Boost Post หรือ ซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมตคอนเทนต์

รวมทั้งไม่สามารถใช้ Affiliate Program ในการว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์ม เพื่อโปรโมตเนื้อหาของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบน TikTok

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การที่ TikTok เป็น Entertainment Platform และไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการพูด ทำให้กลุ่มแฟนหรือผู้ใช้งานทั่วไป ทำคอนเทนต์ที่กล่าวอ้างถึง หรืออ้างอิงถึงนักการเมืองหรือพรรคการเมืองได้อย่างอิสระ

เช่นเดียวกับการอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถเผยแพร่คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้แบบปกติ แต่ต้องไม่ลืมเงื่อนไขสำคัญคือ "ห้ามซื้อโฆษณา" "ห้ามระดมทุน" และ "ห้ามขอรับบริจาค" เพื่อเอาเงินไปใช้ทางการเมือง

รวมทั้งทิ้งลิงก์ไว้ในโพสต์เพื่อให้ตามไปบริจาคเงินในช่องทางอื่นๆ เพราะถือว่าผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงการห้ามว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยในการโปรโมทพรรคหรือเบอร์ของนักการเมืองคนนั้นๆ ด้วย

ทำได้-ทำไม่ได้  คอนเทนต์การเมืองบน TikTok-Facebook กับเลือกตั้ง 2566

หากตรวจพบว่าพรรคหรือผู้สมัครรายนั้น มีการลักลอบซื้อโฆษณากับทางอินฟลูเอนเซอร์หรือครีเอเตอร์บน TikTok ระบบอัลกอริธึ่มจะตรวจจับและลงโทษด้วยการนำคอนเทนต์นั้นออกจากหน้าแสดงผล (Feed) ของอินฟลูเอนเซอร์รายนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ทาง TikTok ก็ได้เร่งขอความร่วมมือกับทางพรรคการเมือง ผู้ช่วยหาเสียงหรือหน่วยงานราชการ ให้มา "ยืนยันตัวตน" ในระบบด้วย

เนื่องจากปัจจุบันตรวจพบว่าบัญชีพรรคการเมืองและนักการเมืองส่วนมากที่เปิดใช้งาน จะดำเนินการโดยกลุ่มแฟนคลับ หรือสาขาของพรรค ทำให้ยากที่จะระบุหรือยืนยันได้ว่าเป็นผู้สมัครท่านนั้นจริงๆ

ลงโฆษณาบน Facebook ได้ตามปกติ

ความแตกต่างของการโฆษณาบน Facebook คือ เฟซบุ๊กอนุญาติให้มีการโฆษณาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เพียงแต่บัญชีผู้ใช้งานนั้น จะต้องได้รับการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ออกโดยรัฐบาล

หลังจากมีการตรวจสอบว่าบุคคลที่สร้างเพจและต้องการโปรโมทคอนเทนต์ ทั้งข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอ เป็นหน่วยงานภาครัฐ พรรคการเมือง หรือผู้สมัครจริงๆ จะสามารถจ่ายเงินซื้อโฆษณาได้ 

ส่วนผู้ติดตามจะสามารถรับรู้ได้ว่าคอนเทนต์นั้น มีการบูสต์โพสต์หรือโฆษณาเพิ่มเติมนั้น จะมีการระบุว่าเป็นคอนเทนต์ที่ "ได้รับสปอนเซอร์" เพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่าใครเป็นผู้ซื้อโฆษณาดังกล่าว และตรวจสอบได้ด้วย

แต่จะต้องเป็นคอนเทนต์ที่ผ่านการตรวจสอบจากทีมงานและอัลกอริธึ่มมาไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงแล้ว เพื่อตรวจสอบว่าคอนเทนต์นั้นเป็นการซื้อโฆษณาทางการเมืองภายในประเทศ ห้ามแทรกแซงจากนอกประเทศ

นอกจากนี้ คอนเทนต์การเมืองที่มีการซื้อโฆษณา เฟซบุ๊กจะแยกหมวดเป็นพิเศษ โดยเข้าไปที่ บัญชีคลังโฆษณา (Ad library) > เลือกหมวดหมู่ “ประเด็นปัญหา การเลือกตั้ง หรือการเมือง”

รวมทั้งยังสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่า โฆษณานั้นถูกโพสต์ลงเมื่อใด บนแพลตฟอร์มใด และใครเป็นสปอนเซอร์โฆษณานั้น ๆ

โดย Meta จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้นาน 7 ปี เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบย้อนหลังได้ เป็นการเน้นย้ำเรื่องการสร้างความโปร่งใส

 

related