svasdssvasds

เปิดข้อมูล คดีหุ้น ITV : ตัวละคร ครบทุกตัว สกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งนายกฯ

เปิดข้อมูล  คดีหุ้น ITV : ตัวละคร ครบทุกตัว สกัด พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นั่งนายกฯ

เปิดข้อมูล ทุกตัวละคร คดีหุ้น ITV ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯก้าวไกว รวมถึงอธิบาย เรื่องราวปมหุ้นสื่อไอทีวีนั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครมีบทบาทอย่างไรกับเรื่องนี้ ...เรื่องที่อาจจะเป็นการสกัดกั้น จนทำให้ พิธา อาจทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ม. 151

คดีหุ้น ITV ถือเป็นหนึ่งในความที่ผู้คนสนใจ ณ เวลานี้ เพราะนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่อาจส่งผลให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกฯ ได้  เพราะ กกต. ชี้ว่า  พิธาอาจมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือความปรากฏ โดยคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน จะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป

โดย มาตรา 151 นั้น ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

คราวนี้ เราลองมาดูกันว่า ตัวละคร ทุกตัวที่ทำให้เกิด เรื่องปมการถือหุ้นสื่อ ถือหุ้น ITV นั่นมีใครบ้าง ? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ หุ้นไอทีวี มีความเป็นมาอย่างไร ? 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย มีความเกี่ยวข้องกับหุ้น ITV  

ก่อนหน้านี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” รับไม้ต่อ หุ้นไอทีวี ITV มาจากบิดาที่เสียชีวิต  โดยตามข้อมูลแล้ว  พิธา ถือครอง 42,000 หุ้น ตั้งแต่ ปี 2551 - 2566 รวม 16 ปี ไม่ระบุ ผู้จัดการกองมรดก หลังบิดาเสียชีวิตปี 2549

โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง (เจ้าตัวยอมรับแจ้งว่าเป็นหุ้นมรดก) แต่ถือหุ้นในสัดส่วนน้อย

ขณะที่  บมจ. ไอทีวี  ITV มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อ  ปัจจุบันไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ มาตั้งแต่ปี 2550  บริษัทฯไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ สถานะยังเปิดดำเนินการ  นำส่งงบการเงินทุกปี งบการเงินรอบปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2564  งบดุล สินทรัพย์รวม 1,270,457,704 บาท หนี้สิน 2,894,513,831 บาท ขาดทุนสะสม (ยังไม่ได้จัดสรร) 7,488,800,690 บาท งบกำไรขาดทุน รายได้รวม 23,683,771 บาท (ผลตอบแทนจากเงินทุนและดอกเบี้ยรับ) ค่าใช้จ่ายรวม 10,937,852 บาท กำไร สำหรับปี 10,177,063 บาท กำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปี 4,169,647 บาท

วันนี้ “พิธา” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่กำลังติดหล่มด้วยหุ้นไอทีวี อยู่ และเหมือนจะเป็น เงื่อนปมที่คลี่คลายได้ยากเหลือเกิน

•เรืองไกร ผู้เคยล้ม นายกฯ สมัคร สุนทรเวช คดีชิมไปบ่นไป

ทราบหรือไม่ว่า ในช่วงปี 2551  เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 29คน เคยเป็นผู้ร้องในคดีประวัติศาสตร์  , โดย เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เขาเคยร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบ “สมัคร สุนทรเวช”​ นายกรัฐมนตรี กระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ จากการเป็นลูกจ้าง รายการชิมไป บ่นไป

และหาก ย้อนไปไกลกว่านั้น  เหตุการณ์เมื่อช่วงปี 2549 ที่กรมสรรพากรได้คืนเช็คให้แก่เรืองไกร  แต่ เรืองไกร ไม่ได้นำไปขึ้นเงิน เพื่อใช้เป็นกรณีเปรียบเทียบกับกรณีที่ ตระกูลชินวัตรขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ เมื่อ 23 ม.ค. 2549 โดยไม่เสียภาษี...

ในครั้งนั้น เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ซื้อหุ้น บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ ต่อจากบิดาในราคา 10 บาท จากราคาตลาด 21 บาท จึงต้องเสียภาษี แต่กรณีของตระกูลชินวัตรกลับไม่ต้องเสียภาษี

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

เรืองไกรยังได้ยื่นฟ้องร้อง เรื่องการที่กรมสรรพากรกระทำการนี้แบบสองมาตรฐานอีกด้วย จนกลายเป็นกระแสสังคม กดดันกรมสรรพากรต้องรีบคืนเงินให้กับนายเรืองไกรโดยเร็ว

สำหรับ เรืองไกร  ลีกิจวัฒนะ ประวัติ จบปริญญาตรีบริหารธุรกิจทางด้านบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เส้นทางการเมือง ในฐานะที่เขาเป็น “นักบัญชี” เคยเป็นที่ปรึกษา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รุ่นเดียวกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างกันที่ “เส้นทาง” 

เส้นทางการเมือง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อยู่มาแล้วทุกขั้ว เคยอยู่เพื่อไทย กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2557 ย้ายไปพรรคไทยรักษาชาติ แต่ก็ถูกยุบพรรค กลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง แต่เกิดความขัดแย้งกับคนในพรรคเรื่องการแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการงบประมาณ “เรืองไกร” จึงไปขอพื้นที่ทางการเมืองจากพรรคเสรีรวมไทย กระทั่งย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เป็นมือไม้ของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงการเลือกตั้ง 2566

สำหรับ คดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครั้งนี้  เขาได้ ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ แต่ทว่า กกต. "ยกคำร้อง" ของนายเรืองไกร แต่ กกต. สั่งตรวจสอบตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ม. 151 

• นิกม์ มือเปิด คดีหุ้นสื่อ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ร้อนแรง

นิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย เขตคลองสามวา มือเปิดปมคดีหุ้นสื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"   โดยเป็นผู้ที่โอนหุ้นไอทีวี (ITV) ให้กับภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นไอทีวี ผู้ที่ซักถามนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ว่า “มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ”

ย้อนกลับไป 2 วันก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี วันที่ 24 เมษายน 2566 ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของตนเองว่า

“นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต.ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น”

“นิกม์ แสงศิรินาวิน” ประวัติ จบการศึกษาปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ (การปกครองท้องถิ่น) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอก การปกครองท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท.นพ.สิทธิเดช แสงศิรินาวิน อดีตรองแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ เคยเป็น Supervisor ที่ Thai Airways International เคยเป็นผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจที่ Channel 9 MCOT HD เคยดำรงตำแหน่ง International Manager ที่ รพ.สหวิทยาการมะลิ

นิกม์ มือเปิด คดีหุ้นสื่อ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ร้อนแรง

เขาเคย ผ่านงานการเมือง เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขตสายไหม แต่สอบตก ในการเลือกตั้ง 2562 

ช่วงโควิด-19 ระบาดในไทยช่วงปี 2020 “นิกม์” ลงทำพื้นที่สร้างตัวตนทางการเมืองอย่างเต็มที่ เข้าร่วมกับกลุ่มเส้นด้าย มีเสี้ยวหนึ่งเคยปรากฏข่าวว่าเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.พรรคไทยสร้างไทย แต่หลังจากเปิดรับสมัคร เขาเป็นผู้สมัคร ส.ก.กลุ่มรักษ์กรุงเทพ เขตสายไหม ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง แต่ก็สอบตก  กระทั่งล่าสุด เขาย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง 2566 

นอกจากนี้ ยังเคยมีตำแหน่งที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย ที่ไม่มีค่าตอบแทน และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมมาธิการสาธารณสุข ที่ไม่มีค่าตอบแทน

• ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ชงคำถามในที่ประชุม ITV 

“ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เชื่อมโยงกับ นิกม์ แสงศิรินาวิน , โดย เมื่อ วันที่ 26 เม.ย. 2566  มีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ ITV ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

 โดย “บันทึกการประชุม” แสดงให้เห็นว่า “ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” ผู้ถือหุ้น ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นผู้ใกล้ชิดและได้รับการโอนหุ้นมาจาก นิกม์ แสงศิรินาวิน ถามประธานที่ประชุมว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสี่อหรือไม่   คิมห์ ศิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตฤประสงค์ของบริษัท จึงเป็นที่เข้าใจว่าบริษัท ITV ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่

ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน Credit ภาพจาก NATION

“ภาณุวัฒน์” เป็นผู้จัดการคลินิกนวลจันทร์ ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของครอบครัวแสงศิรินาวิน-พล.ต.ท.ดร.สิทธิเดช แสงศิรินาวิน

ทั้งนี้ “นิกม์” ให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ช่อง 3 ยอมรับว่า  ภาณุวัฒน์ เป็นอดีตลูกน้องคนสนิทของตน เคยทำงานที่คลินิก และตนก็เป็นผู้ขายหุ้นให้กับนายภาณุวัฒน์ ซึ่งวันที่มีการถ่ายคลิปตั้งคำถามไปยังนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการบริษัทไอทีวี ตนก็นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน และรับทราบคำถามทั้งหมด ยอมรับทุกอย่างเป็นการดำเนินการเอง ไม่มีใครจ้างวานให้ออกมาเคลื่อนไหว และไม่อยากให้รถทัวร์ไปจอด ที่นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน

• “คิมห์ สิริทวีชัย” ตัวละครใหม่ ที่มาเกี่ยวข้องกับหุ้น ITV 

คิมห์ สิริทวีชัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และเป็นประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ITV 

ปัจจุบัน คิมห์ สิริทวีชัย  อายุ 54 ปี จบการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2557 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น INTUCH อยู่ที่ 0.0006%

ทั้งนี้ ยังพบว่า คิมห์ สิริทวีชัย  เป็นกรรมการอยู่ใน บมจ.ไทยคม (THCOM) บมจ.ไอทีวี (ITV), บจก. อาร์ตแวร์ มีเดีย, Shenington Investments Pte Ltd, บจก. ลิตเติ้ล เชลเตอร์, บจก. ไอ.ที.แอพพลิเคชั่นส์ แอนด์ เซอร์วิส, บจก. อินทัช มีเดีย, บจก. ทัชทีวี, บจก. สเปซ เทค อินโนเวชั่น นอกจากนี้ เคยเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานบริหารการลงทุนของ INTUCH อีกด้วย

คิมห์ สิริทวีชัย

และที่สำคัญผ่านการอบรมจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และอื่น ๆ ประกอบด้วย 1.DCP : Directors Certification Program รุ่น 116/2552 2.Harvard#1 Executive Learning Sustainment Program ปี 2561-2562 3.Harvard Leadership Development Program, Harvard Business Publishing ปี 2560-2561 4.SFLP : Strategic Financial Leadership Program ปี 2562 โดยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และ 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 21

โดย คีย์เวิร์ด สำคัญ ที่ทำให้ คิมห์ อยู่ในสปอร์ตไลท์ของสังคม ก็คือ  เขา ซึ่งประธานที่ประชุม หุ้น ITV ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จึงเป็นที่เข้าใจว่าบริษัท ITV ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่ และเรื่องนี้ นำมาสู่การยื่นตรวจสอบของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ต่อ กกต.ในวันที่ 10 พ.ค. เพื่อขอให้ตรวจสอบ "พิธา" ที่อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) 

related