svasdssvasds

ย้อนเส้นทาง ITV ยุครุ่งเรือง-เป็นหนี้แสนล้าน หรือจะเป็นเครื่องมือการเมือง

ย้อนเส้นทาง ITV ยุครุ่งเรือง-เป็นหนี้แสนล้าน หรือจะเป็นเครื่องมือการเมือง

ย้อนดูเส้นทางสถานีโทรทัศน์ "ITV" ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่า "ทีวีเสรี" ช่องแรกของประเทศไทย ยุคโด่งดัง เรตติ้งพุ่งกระฉูด ก่อนเป็นหนี้สินสูงกว่า 100,000 ล้านบาท จนถูกยกเลิกสัมปทาน สุดท้ายตกเป็นเกมทางการเมือง ใช้สกัด "พิธา" นั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี หรือ ITV กลายเป็นที่สนใจในสังคมอีกครั้ง หลังจากที่ปิดสถานีและไม่มีการออกอากาศไปตั้งแต่ปี 2550 นับเป็นเวลากว่า 16 ปี ที่เกือบจะไม่มีใครพูดถึง "ไอทีวี" สถานีโทรทัศน์ที่เคยโด่งดังในยุคนั้นมาก่อน

 หลังการเลือกตั้ง 2566 ปรากฎว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง หลังจากนั้นมีการออกมาเปิดเผยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ถือ หุ้น ITV กว่า 42,000 กว่าหุ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้นายพิธา พลาดการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กันเลยก็เป็นได้

 กรณี การถือหุ้นสื่อ ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังเป็นคงได้รับความสนใจจากสังคม เพราะตราบใดที่ สังคม ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากเรื่องนี้ คำถามนี้ก็ยังจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงตลอดเวลาอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะแน่นอนว่า ผู้คนย่อมต้องการรู้อนาคต ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย จะเป็นอย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• "ฐปณีย์" เผยคลิปประชุมผู้ถือหุ้น ITV ปมตอบคำถามยังเป็นสื่อ? ไม่ตรงเอกสาร

• "นิกม์ แสงศิรินาวิน" พรรคภูมิใจไทย แอ่นอกรับ ทำเองคนเดียว ปมหุ้นไอทีวี

• วิโรจน์ จี้ ไอทีวี ชี้แจง กรณีรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ตรงกับความจริง

จุดเริ่มต้น สถานีโทรทัศน์ ITV

 สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์พฤษาทมิฬ ในปี 2535 สื่อโทรทัศน์ถูกควบคุมและกำกับภายใต้การดูแลของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดการบิดเบือนในการนำเสนอข่าวได้

 ดังนั้นในช่วงรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรีขึ้น กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล และได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ปี 2538 พร้อมทั้งเชิญชวนให้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหุ้น และบริหารสถานีฯ

 "ไอทีวี" เริ่มต้นออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ ข่าวภาคค่ำประจำวัน เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรก ที่เรียกรายการข่าวโดยไม่มีคำว่าภาคและมีชื่อสถานีเรียกทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี ข่าวเที่ยงไอทีวี ข่าวค่ำไอทีวี

 โดยผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานี คือ กิตติ สิงหาปัด และ เทพชัย หย่อง ออกอากาศทางช่อง หมายเลข 26 ต่อมาได้ย้ายไปออกอากาศทางช่อง 29 โดยมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นเจ้าของคลื่นความถี่

 ปี 2541 บจก.สยาม อินโฟเทนเมนท์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และในช่วงปี 2542 ภาครัฐแห่งหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงช่องสัญญาณให้กับไอทีวี จากช่อง 26 มาเป็นช่อง 29 

จากทีวีเสรี สู่การครอบครองหุ้นสื่อโดยตระกูล "ชินวัตร"

 หลังจากการออกอากาศได้ไม่นาน ในปี 2540 ในช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของไทยอย่างหนัก ส่งผลให้ไอทีวีขาดทุนอย่างมาก ทำให้รัฐบาลของชวน หลีกภัย มีมติอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน เมื่อ 1 ก.พ. 2543 ต่อมาในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ดึงกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ป ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นของ “ตระกูลชินวัตร” เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วน 39% รวมถึงแปลงหนี้เป็นทุนมีสัดส่วน 55% และมอบสิทธิ์ในการบริหารให้ “ชินคอร์ป”

 ต่อมาในปี 2544 ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในเดือน ก.พ. หลังจากนั้นในเดือน มี.ค. 2545 “ITV” เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2547 ชินคอร์ปยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาและขอลดค่าสัมปทาน เพราะมองว่าสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐราคาต่ำกว่า เช่น ช่อง 3 จ่ายปีละ 107 ล้านบาท ส่วน ช่อง 7 จ่ายปีละ 187 ล้านบาท แต่ในส่วนของ ITV ต้องจ่ายปีละ 840 ล้านบาท ในตอนนั้นอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยให้ลดค่าสัมปทานเหลือ 230 ล้านบาท รวมถึงอนุญาตให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ ให้รายการข่าวและรายการบันเทิงมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% แต่จากการแก้ไขสัมปทานดังกล่าว ส่งผลให้ สปน. เป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์

สาเหตุที่ทำให้ ITV ถึงต้องปิดตัว

 จากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ทำให้ สปน. เป็นผู้เสียผลประโยชน์ นำไปสู่การยื่นเรื่องนี้ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ในปี 2549 “ITV” ต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานปีละ 840 ล้านบาท และต้องปรับผังรายการกลับมาเป็นสัดส่วน 70 ต่อ 30 เหมือนเดิม

 นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าปรับวันละ 100 ล้านบาท  เนื่องจากปรับเปลี่ยนผังรายการโดยไม่เป็นไปตามสัญญา รวมระยะเวลาประมาณ 2 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่งผลให้หุ้นไอทีวีร่วงหนักถึง 30% ที่สำคัญหากไอทีวีไม่สามารถจ่ายเงินทั้งหมดได้ภายใน 7 มี.ค. 2550 ทางรัฐบาลจำเป็นต้องยกเลิกสัมปทาน ในช่วงเวลานั้นไอทีวีมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายทำให้ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด

สถานะ ITV ปัจจุบัน และการถือหุ้นสื่อของพิธา

 หลังจากถูกยกเลิกสัมปทานไป ทำให้ ITV จำเป็นต้องยุติการออกอากาศ แต่หากย้อนดูการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในตอนแรกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วันที่ 20 ต.ค. 2541 พบว่า ITV เปิดตัวด้วยทุนจดทะเบียน 7,800 ล้านบาท พร้อมวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจประเภทการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์

 ถึงแม้ว่าปัจจุบัน “ITV” จะไม่ได้ประกอบกิจการเป็นสถานีโทรทัศน์แล้ว แต่จากงบการเงิน ปี 2565 ยังคงมีรายได้อยู่ที่ 20.6 ล้านบาท ซึ่งมาจากผลตอบแทนเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสื่อ

 รวมถึงก่อนหน้านี้ในปี 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ก.ล.ต. มีมติเพิกถอนหุ้นสามัญของไอทีวีที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย

ในปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ITV ทั้งหมด 75% คือ “อินทัช” ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดยมี “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เป็นหัวเรือใหญ่

 สำหรับในส่วน “หุ้นสื่อ” ของ พิธา ที่กำลังเป็นกระแสร้อนในสังคมนั้น เป็นหุ้นที่อยู่ในกองมรดกที่พิธาเป็นผู้จัดการอยู่ มีจำนวน 42,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.0035% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ ITV แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น “หุ้นติดลบ” เนื่องจากปัญหาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาทั้งหมดของ ITV

 ท้ายที่สุดแล้ว บทสรุปการถือหุ้นสื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะลงเอยอย่างไร ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปในอนาคตหรือไม่ ยังคงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป แม้ว่า “ITV” จะไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อแล้วก็ตาม

ทำเนียบผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี

• ยุคแรก นายเทพชัย หย่อง เป็นผู้อำนวยการสถานีในปี 2538-2543

• ยุคต่อมา นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เป็นผู้อำนวยการวถานีในปี 2546 

• ยุคสุดท้ายก่อนปิดสถานี นายทรงศักดิ์ เปรมสุข และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล 

related