svasdssvasds

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

ยังเดาทางไม่ออก คดีหุ้นไอทีวี จะลงเอยอย่างไร หลัง กกต. ยก 3 คำร้อง แต่จะพิจารณาตาม ม. 151 โดยกูรูบางรายก็ยกเคสธนาธร ที่เคยรอดมาเทียบเคียง แต่นักวิเคราะห์อีกไม่น้อย ก็มองว่า พิธาจะโดนขยี้หนักขึ้น ก่อนเกิดเซอร์ไพรส์ คลิปการประชุมฯ ไอทีวี ที่อาจทำให้พิธามีโอกาสพลิกเกม

ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน มีความเคลื่อนไหวต่างๆ เกี่ยวกับคดี “หุ้นไอทีวี” ออกมามากมาย ล่าสุดก็คือเมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 มิ.ย. 2566 “ฐปนีย์ เอียดศรีไชย” ได้เผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ในรายการข่าว 3 มิติ โดยผู้ถือหุ้นรายหนึ่งได้ถามว่า "บริษัทไอทีวี มีการดำเนินการด้านสื่อหรือไม่” แต่คำตอบในคลิปกับรายงานการประชุมกลับไม่ตรงกัน !!!

โดยในรายงานประชุมที่ได้มีการเผยแพร่ไปแล้วก่อนหน้านี้ ประธานในที่ประชุมตอบว่า “บริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท” ซึ่งคำตอบตรงนี้ก็มีแนวโน้มส่งผลกระทบในด้านลบให้กับ “พิธา” เป็นอย่างมาก

ในขณะที่คำตอบในคลิปดังกล่าว ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลในคดีให้สิ้นสุดก่อน” ก็ส่งผลในทิศทางบวกให้กับ “พิธา” ขึ้นมาทันที จนทำให้ “เหล่าด้อมส้ม” เฮกันสนั่น แต่ถ้าจะให้เห็นสถานการณ์ “ศึกหุ้นไอทีวี” ในภาพรวมที่เชื่อมโยงเป็นแนวโน้มในอนาคต ก็ต้องย้อนไปวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม ม.151

หากย้อนไปยังความคืบหน้าของคดี “หุ้นไอทีวี” เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 66 กกต. ก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ (6 เสียง) ไม่รับคำร้อง กรณี “พิธา” ถูกกล่าวหาว่า มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า คำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 ราย เป็นการยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา จึงเห็นควรสั่งไม่รับคำร้อง

กกต. ได้ระบุต่อไปว่า แต่เนื่องจากคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง มีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า “พิธา” เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้ฝ่าฝืน อันเข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามในมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พรป.การเลือกตั้ง

กกต. จึงพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวน โดยจะแต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน” ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

บทความที่น่าสนใจ

มาตรา 151 แห่ง พรป.การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร เป็นคดีอาญา

สรุปก็คือ แม้ กกต.จะไม่รับ 3 คำร้อง “คดีหุ้นไอทีวี” เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป แต่ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนว่า กรณีของ “พิธา” เข้าข่ายมีความผิดตาม ม. 151 พรป.เลือกตั้ง หรือไม่ โดยการแจ้งดำเนินคดีในมาตราดังกล่าว เป็นคดีอาญา ทำให้มีโทษที่หนักมาก

โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ “สมัครรับเลือกตั้ง” หรือ “ทำหนังสือยินยอม” ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น 20 ปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรค 1 เป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

เทียบกับกรณีหุ้นสื่อของ “ธนาธร” ไม่รอดศาลรัฐธรรมนูญ แต่รอดศาลอาญา   

หลังจากนั้นมี “กูรูการเมือง” หลายท่านวิเคราะห์ว่า งานนี้เห็นที “พิธา” น่าจะรอดยาก เส้นทางการเป็นนายกฯ ไปต่อลำบาก แต่ก็มี “นักวิเคราะห์การเมือง” จำนวนไม่น้อยเช่นกัน มองว่า ถ้ามาทางเวย์นี้ โอกาสที่ “พิธา” จะรอดคดี “หุ้นไอทีวี” มีค่อนข้างสูง โดยได้เทียบเคียงกับกรณีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า

โดยคดีถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร” นอกจาก กกต. จะส่งให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย จนมีคำสั่งให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส. แล้ว กกต. ยังแจ้งความดำเนินคดีกับ “ธนาธร” ตาม ม.151 พรป.เลือกตั้ง อีกด้วย

แต่ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง "ธนาธร" โดย “อัยการสูงสุด” มีความเห็นว่า การดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าว เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา จำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่า กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

“อัยการสูงสุด” ระบุว่า แม้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงจากคำให้การของ "พยาน" เพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญา โจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงหรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่า กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานตามที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาดังกล่าว มาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่า กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้

ย้อนคดีหุ้นสื่อ ม.151 ของธนาธร สู่คลิปประชุมฯ ไอทีวี พิธามีโอกาสรอดไหม

ความคิดเห็นจาก “กูรูการเมือง”

“รศ.ดร.สมชัย ศรีสุทธิยากร” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความคิดจากกรณีของ “พิธา” ผ่านสื่อโซเชียล ในวันที่ 9 มิ.ย. 66 หลัง กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม ม.151 ก็มีทั้งแบบ “มองโลกในแง่ดี” กับ “มองโลกในแง่ร้าย” โดยในส่วนของการมองโลกในแง่ร้าย “รศ.ดร.สมชัย” ก็ระบุว่า

1. กกต. ไม่รับคำร้องของผู้ร้อง แต่รับเป็นความปรากฏ แปลว่า กกต. รับเป็นเจ้าภาพเอง

2. ดำเนินคดีอาญา ม. 151 คือ หาก กกต. พบว่า “พิธา” สมัครโดยขาดคุณสมบัติ กกต. แจ้งความดำเนินคดีผ่าน ตำรวจ อัยการ ไปศาลอาญาได้เลย ไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ  โทษจำคุก 1 - 10 ปี  ปรับ 20,000-200,000 บาท ตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

3. การร้องคดีถือหุ้นสื่อยังร้องได้หลังมีการรับรอง ส.ส.แล้ว ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. 50 คน หรือ ส.ว. 25 คน หรือ กกต. ร้องเองในฐานะความปรากฏ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนการเป็น ส.ส. และตัดการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้อีกรอบ

4. สรุป หนักกว่าเดิมครับ

หลังจากนั้น ในช่วงเช้าวันที่ 10 มิ.ย. 66 “รศ.ดร.สมชัย” ก็ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “หวยออก 151  เป็นบวกหรือลบต่อพิธา” แต่เนื้อหาสาระโดยรวมก็ใกล้เคียงกับการแสดงความคิดเห็นก่อนหน้านี้ และต่อมาก็ได้แสดงความเห็น “มองโลกแง่ดี กรณีพิธา” ดังต่อไปนี้

1. การดำเนินคดี ม.151 กรณีสมัคร ส.ส. โดยรู้ว่าขาดคุณสมบัติ  อาจจบด้วย กกต.เห็นว่า ไม่มีมูลตามความปรากฏได้

2. ในกรณี กกต. สั่งดำเนินคดี ก็ยังต้องใช้เวลานานนับปี กว่าจะไปถึงขั้นศาลมีคำพิพากษา และอาจสั่งไม่ฟ้องในชั้นอัยการ หรือ ยกฟ้องในขั้นศาลก็ได้ (กรณีเดียวกับธนาธร)

3. ในจังหวะที่มีคดี และมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น ส.ว. จะไม่นำเรื่องนี้มาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาลงมติ ตามหลักผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ Presumption of Innocence 

4. หลังการรับรอง ส.ส. ไม่มี ส.ส. 50 คน เข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ก็ไม่ใช้ความปรากฏที่พบ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีพิธาถือหุ้นสื่ออีก เนื่องจากทุกฝ่ายอยากให้เดินหน้าสู่การมีรัฐบาลเสียที

ส่วน “ไพศาล พืชมงคล” อดีตที่ปรึกษานายกฯ (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นว่า ลิเกเรื่องไอทีวี แค่ออกแขกก็ปิดฉากเลิกเสียดื้อๆ ต้องเก็บของกลับบ้าน แบบงงๆ และสุดเซ็ง ! ไม่ต้องงงหรอก กระบี่เดียวดายจะเฉลยให้ฟัง

1. กกต.ตีตก 3 คำร้อง ที่นักร้อง 3 ราย ยื่นร้องโดยไม่ได้นัดหมายกัน ให้สอยหนุ่มหน้ามนและคณะ หาว่าถือ "หุ้นไอทีวี" ที่เป็นธุรกิจสื่อ 6 น้า (กกต.) อ้างว่าร้องผิดเวลา คือเลยเวลาที่กฎหมายให้ร้องแล้ว ยกคำร้องตีตกเสียดื้อๆ  แบบนี้นักร้องก็ขายหน้าแย่สิโยม

2. ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนเป็นคดีอาญา ว่าพ่อหนุ่มรูปงามทำผิดทางอาญา ฐานรู้ว่าตัวเองขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. เพราะถือหุ้นกิจการสื่อ แล้วยังซ่ามาสมัคร สส. หรือไม่ ?

- ต่อให้สรุปผลไต่สวนว่า “ผิด” ก็สอย “หนุ่มพิธา” ตกสวรรค์ไม่ได้ เพราะเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีสอย ส.ส. ซึ่งตีตกเวทีไปแล้ว แต่กว่าจะรู้ว่าผิดหรือไม่ ก็ต้องรออีก 6-7 ปี ตอนนั้น “หนุ่มพิธา” อาจจะเป็น “น้าพิธา” แล้ว

- เรื่อง "ถือหุ้นไอทีวี" คาดว่า จบแล้วแหละญาติโยม เพราะจะไม่มีใครไปเป็นพยานยืนยันว่า “หนุ่มพิธา” ถือหุ้น (เพราะโอนมรดกไปแล้ว) และไม่มีใครกล้าไปเบิกความยืนยันว่า ไอทีวีเป็นธุรกิจสื่อมวลชน

เพราะใครๆ ก็รู้ว่า ไอทีวีเลิกธุรกิจสื่อมา 20 ปีแล้ว และศาลท่านก็ตัดสินเรื่องนี้มาก่อนแล้วว่า ไอทีวีเลิกธุรกิจสื่อแล้ว จะมีใครหน้าไหนกล้าบังอาจไปตัดสินแทนศาลท่านได้อีก เพราะต่อให้ค่าจ้างเท่าใด ก็ไม่คุ้มกับค่าติดคุกฐานเบิกความเท็จ หรือให้การเท็จ  ลิเกเรื่องนี้จึงจบไม่สมราคาคุย...

คลิปการประชุมผู้หุ้นไอทีวี จะทำให้เกมพลิกหรือไม่ ?

หลังจากกรณี กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้อง แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม ม.151 โดยเป็นคดีอาญา ที่มีโทษหนัก ซึ่งก็เคยมีเคสของ “ธนาธร” ที่เคยรอดมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามที “ธนาธร” ก็ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เพราะถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินว่ามีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. ไปแล้วก่อนหน้านั้น

ในเคสของ “พิธา” จึงค่อยข้างก่ำกึ่ง เดาทางไม่ถูกว่า จะลงเอยอย่างไร แต่จากเหตุการณ์สุดเซอร์ไพรส์ในคืนวันที่ 11 มิ.ย. 66 ที่ได้มีการเผยแพร่หลักฐานเด็ด “คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี” ในรายการข่าว 3 มิติ ก็ทำให้สถานการณ์โดยรวมของ “พิธา” ดูดีขึ้น หลังจากเป็นฝ่ายตั้งรับ ก็มีโอกาสพลิกเกม แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องจับตาดูกันต่อไปยาวๆ เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นความซับซ้อนในระดับซ่อนเงื่อนกันเลยทีเดียว   

related