svasdssvasds

เปิดรายชื่อ 5 สัตว์สปีชีส์ใหม่ของโลก ที่ค้นพบในประเทศไทยปี 2023

เปิดรายชื่อ 5 สัตว์สปีชีส์ใหม่ของโลก ที่ค้นพบในประเทศไทยปี 2023

ในปีนี้ประเทศไทยค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ของโลกทั้งหมด 5 ชนิด แบ่งเป็นซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ 3 ชนิด และเป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 ชนิด ยลโฉมหน้าสัตว์น้องใหม่ได้ที่บทความนี้

รีแคปก่อนสิ้นปีกันสักหน่อย! ในปี 2023 มีสัตว์สายสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยทั้งหมด 5  สายพันธุ์

โดยแบ่งเป็นสัตว์ที่ยังไม่สูญพันธุ์จำนวน 2  ชนิด และเป็นซากฟอสซิลของสัตว์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยจำนวน 3  ชนิด ติดตามรายละเอียดของแต่ละสปีชีส์ได้ที่บทความนี้

บึ้งประกายสายฟ้า

ชื่อว่าเท่แล้ว ตัวจริงเท่กว่า! บึ้งประกายสายฟ้า หรือ Electric-blue Tarantula (เก็บความชื่อได้หมดจดจริง ๆ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชิโลบราคิส นาทานิชารัม" (Chilobrachys natanicharum)

บึ้งประกายสายฟ้า Cr. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สายพันธุ์ใหม่ของโลกชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นทารันทูลาที่งดงามที่สุดในโลก

บึ้งประกายสายฟ้า” ถูกค้นพบโดยกลุ่มนักวิจัยไทย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงนายชวลิต ส่งแสงโชติ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ และนายปวีณ ปิยะตระกูลชัย นอกจากกลุ่มนักวิจัยแล้ว โจโฉ ยูทูบเบอร์สายสายท่องเที่ยวชื่อดัง ยังอยู่ในกลุ่มที่ค้นพบ “บึ้งประกายสายฟ้า” ด้วย

ทีมนักวิจัยกลุ่มนี้ได้ค้นพบ “บึ้งประกายสายฟ้า” จากการออกไปสำรวจที่ ป่าชายเลน ไปจนถึงป่าไม้ไม่ผลัดใบในพื้นที่เนินเขา จ.พังงา ลักษณะที่เด่นเด้งชูให้ทารันทูลาชนิดนี้สวยที่สุดในโลกคือ เมื่อต้องแสงไฟ บริเวณขมตามลำตัวจะสะท้อนแสงสีน้ำเงินอมม่วงล้อกับแสงไฟ ซึ่งน่าทึ่งอย่างมากเพราะสีเฉดนี้เป็นสีที่หาได้ยากที่สุดในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

บึ้งประกายสายฟ้า Cr. ม.ขอนแก่น

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยค้นพบบึ้งมาแล้ว 2  ชนิด “บึ้งประกายสายฟ้า” ถือเป็นบึ้งชนิดที่ 3 ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย และได้รับการยืนยันว่าเป็นบึ้งสายพันธุ์ใหม่ของโลก แถมคนที่ได้เห็นด้วยตาเนื้อก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นบึ้งที่มีสีสวยสดงดงามมาก และทึ่งในความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรขึ้น

ปูน้ำจืด Thaiphusa

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่านี่คือปูนึ่ง! นี่คือ “ปูน้ำจืด Thaiphusa” ถูกค้นพบโดย นายจีรพันธ์ ขันแก้ว ที่สวนยางของตัวเอง และในพื้นที่บ้านขนุนคลี่ ที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

นายจีรพันธ์ เล่าว่า ตนได้พบปูชนิดนี้ทั้งหมด 4 ตัว เห็นว่าสวยแปลกตา จึงได้นำมาศึกษาพฤติกรรม ทว่าไม่คุ้นตาว่าเคยพบที่ไหนมาก่อน จึงได้ส่งให้กับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ทำการพิสูจน์ว่าเป็นปูสายพันธุ์ใด จนกระทั่งพบความจริงว่านี่คือ ปูสายพันธุ์ใหม่ของโลก

ปู Thaiphusa Cr.Supachai Ponthip

ลักษณะเด่นของ ปูน้ำจืด Thaiphusa คือ บริเวณกึ่งกลางกระดอง และบริเวณแถวเบ้าตา จะมีสีม่วงมังคุด ขาทั้ง 4 ขา บริเวณก้ามทั้ง 2  ข้าง จะมีสีส้มไล่เฉดไปถึงเหลืองซีด ความกว้างของกระดองถูกไว้โดยเฉลี่ยได้ 3.5 เซนติเมตร

นายจีรพันธ์ ผู้ค้นพบ “ปูน้ำจืด Thaiphusa” ได้ออกมาเผยความรู้สึกว่า รู้ตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้รับการแจ้งข่าวว่า ปูที่ตนส่งไปตรวจสอบคือปูสายพันธุ์ใหม่ของโลก นี่หมายความว่า พื้นที่ อ.ทองผาภูมินายจีรพันธ์ มีความอุดมสมบูรณ์ดี และไม่น่าเชื่อว่าจะมีสัตว์สปีชีส์ใหม่ของโลก มีแอบอาศัยอยู่ในระบบนิเวศแถบนี้ด้วย

ปูน้ำจืด Thaiphusa Cr. Supachai Ponthip

ปลาภัทราชัน

พูดถึงสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปแล้ว ถัดมาขอแนะนำให้รู้จักกับฟอสซิลปลากินเนื้อโบราณอายุ 115 ล้านปีก่อน หรือยุคครีเอเชียส (Cretaceous) ปลาชนิดนี้มีชื่อว่า “โคราชเอเมีย ภัทราชันไน” (Khoratamia phatharajani) หรือชื่อสั้น ๆ ว่า “ปลาภัทราชัน

ปลากินเนื้อรายนี้ ถูกค้นพบโดยทีมนักวิจัยจาก 2  มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมมือกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ภาพจำลองปลาภัทราชัน

ฟอสซิลปลาชนิดนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2561 ที่บ้านโกรกเดือนห้า ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ในหมวดหินโคกกรวด แต่ต้องใช้เวลาตรวจสอบยืนยัน และประกาศอย่างเป็นทางการว่า นี่คือปลาสายพันธุ์ใหม่ของโลก

ลักษณะเด่นคือ มีเกล็ดแข็งรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มีขนาดยาว 16 – 20 ซม. บริเวณหัวมีความยาว 4.5 ซม. ลักษณะฟันเป็นรูปทรงกระบอกปลายแหลม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่บอกว่า นี่คือปลากินเนื้อ ซึ่งต้องบอกว่าปลาที่อาศัยอยู่ในยุคครีเตเชียส ต้องเรียกว่าเป็นปลานักบู๊ตัวจริง เพราะสัตว์อื่น ๆ ที่ร่วมยุคสมัยกันมีแต่ตัวจี๊ดทั้งนั้น

มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส

ไดโนเสาร์ไซส์จิ๋ว ที่มีความคล่องแคล่วว่องไวเป็นกลเม็ดเด็ดพลายในการวิ่งหนีเหล่าไดโนเสาร์กินเนื้อที่โหดเหี้ยม “ภูน้อยเอนซิส” คือไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ 13 ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย โดยเจ้าไดโนเสาร์ไซส์จิ๋ว ถูกค้นพบโดย ดร.ศิตะ มานิตกุล ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพจำลองภูน้อยเอนซิส Cr. กรมทรัพยากรธรณี

ภูน้อยเอนซิสคือ สัตว์กินพืช (Herbivore) ที่อาศัยอยู่ในยุคจุแรสซิกตอนปลาย (ราว 150 ล้านปีก่อน) สถานที่ค้นพบภูน้อยเอนซิส แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ในพื้นที่ดังกล่าว ดร.ศิตะ มานิตกุล และทีมนักวิจัยได้กล่าวว่า มีซากดึกดำบรรพ์มากกว่า 5,000 ชิ้น

ลักษณะเด่นคือ มีหัวสีชมพู มีจะงอยปากคล้ายนก ซากดึกดำบรรพ์ที่ ดร.ศิตะ ค้นพบ พบว่า เป็นไดโนเสาร์ที่มีสะโพกแบบนก กล่าวคือมี กระดูกลำตัว ขา หาง ความยาวโดยประมาณ 60 เซนติเมตร ซึ่งซากที่พบคาดว่าเป็น “ภูน้อยเอนซิส” ตัวเล็ก แต่คาดการ์ว่า เมื่อโตเต็มวัยแล้ว ไดโนเสาร์ชนิดนี้จะมีความสูงราว 2  เมตร

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

มาถึงรายสุดท้าย แม้จะมาแค่กระดูกก็พอจะบอกได้แล้วว่านี่คือโคตรไอ้เขี่ยมอย่างแท้จริง อัลลิเกเตอร์มูล หรือ อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator Munensis) ถูกค้นพบที่ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีชีวิตอยู่ในยุคแคมเบรียน (Cambrian)

ภาพจำลองอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล

ย้อนกลับไปในปี 2548 กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าค้นพบหัวกะโหลกของสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสัตว์ชนิดได้ จากนั้นทางกรมทรัพยากรธรณี จึงได้ทำการตรวจสอบเพื่อเช็กในรายละเอียด

โดยได้รับความร่วมมือจาก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ จนในที่สุดในปี 2566 การค้นพบดังกล่าวก็ได้รับการตีพิมพ์ผ่านวารสารวิชาการ Scientific Reports สิริรวมเวลาตั้งแต่การค้นพบจนถึงได้รับการตีพิมพ์ทั้งสิ้น 18 ปี

กะโหลกของอัลลิเกเตอร์ Cr. Nation Photo

อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลมีลักษณะเด่นคือ ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีลักษณะที่แตกต่างจากอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์อื่น ๆ โดยจะมีจะงอยปากกว้างกว่าและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า (ใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน) ตำแหน่งของรูจมูกจะอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มีจำนวนเบ้าฟันลดลง และมีเบ้าฟันที่ใหญ่ขึ้น

รักชอบตัวไหนกันบ้าง สิริรวมแล้วประเทศไทยค้นพบสัตว์สปีชีส์ใหม่อย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 5  ชนิด แม้บางชนิดจะมีอายุการดำเนินงานหลายปีก็ตาม

 

 

ที่มา: BBC

        กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

        MGR

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related