svasdssvasds

นักวิทย์พบ สุสานฉลาม ในมหาสมุทรอินเดีย พบฟันฉลามกว่า 750 ซี่ จากหลายสปีชีส์

นักวิทย์พบ สุสานฉลาม ในมหาสมุทรอินเดีย พบฟันฉลามกว่า 750 ซี่ จากหลายสปีชีส์

นักวิทย์ออสเตรเลียค้นพบ 'สุสานฉลาม' ในมหาสมุทรอินเดีย มีฟอสซิลฟันฉลามกว่า 750 ซี่ คาดมีฟันบรรพบุรุษของเมกาโลดอนด้วย แถมพบฉลามสปีชีส์ใหม่ในการครั้งนี้อีก เจออะไรบ้างนะ?

อย่างที่ทราบกันดีว่า มหาสมุทรคือพื้นที่ที่กว้างที่สุดสำหรับโลกใบนี้ และมนุษย์เรายังสำรวจไม่ครบและมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับเรื่องราวใต้ทะเลลึก แม้ว่าเราจะมีคลื่นเรดาห์หรือโซนาร์ในการสำรวจใต้น้ำมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นเท่านั้น

ข่าวนี้เป็นอีกการค้นพบหนึ่งที่จะยืนยันได้ว่า โลกใต้มหาสมุทรอันมหึมานี้ยังมีอะไรซ่อนเร้นอยู่อีกมาก เรือสำรวจวิจัย CSIRO (RV) Investigator ของหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย ได้ออกปฏิบัติการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานทางทะเลแห่งใหม่ล่าสุด 2 แห่งของออสเตรเลีย

เรือสำรวจวิจัย CSIRO (RV) Investigator ของหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย Cr. CSIRO: Tauri Minogue

โดยพื้นที่ 2 แห่งที่ว่าคือ อุทยานทางทะเลหมู่เกาะโคโคส (คีลิง) (the Cocos (Keeling) Islands) และ Gascoyne Marine Park นอกรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ดำเนินการโดย Parks Australia ผู้บริหารเครือข่ายอุทยานทางทะเลของออสเตรเลีย

การเดินทางครั้งนี้ได้สร้างความน่าตื่นเต้นให้กับนักวิจัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ ระหว่างที่ลูกเรือทิ้งตาข่ายถ่วงน้ำเพื่อขุดลอกวัสดุจากพื้นมหาสมุทรลึกลงไป 5,400 เมตร ด้วยเป้าหมายจากการสุ่มตัวอย่างจากก้นทะเลมาตรวจสอบ แต่ก็ต้องแปลกใจเพราะสิ่งที่ติดขึ้นมากับตาข่ายนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาคาดหวัง แต่มันยิ่งกว่าที่คาดไว้อีก เพราะพวกเขาได้ฟันฉลามขึ้นมาแทน และไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งซี่หรือสองซี่เท่านั้น แต่มันมีเป็นร้อย ๆ ซี่!

ฟันฉลามตัวอย่างที่เก็บขึ้นมาจำนวนหนึ่ง Cr. Museums Victoria-Ben Healley

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ฉลามอยู่ในมหาสมุทรของโลกมานานกว่า 450 ล้านปีที่ผ่านมา ฉลาม ไม่เหมือนกับพวกไดโนเสาร์ที่ซากของพวกมันสามารถกลายเป็นฟอสซิลได้ง่าย เนื่องจากกระดูกของไดโนเสาร์ไม่ทนทานพอต่อกาลเวลาที่เคลื่อนผ่านไป ในทางตรงกันข้าม ฟันของฉลามมีส่วนผสมของเนื้อฟันและเนื้อเยื่อที่เคลือบฟันเอาไว้ จึงทำให้ฟันของฉลามมีความทนทานอย่างมากและสามารถอยู่รอดมาได้หลายร้อนล้านปี

นักวิทยาศาสตร์ได้นิยามพื้นที่ค้นพบแห่งนี้ว่า “สุสานฉลาม” เนื่องจากว่า สปีชีส์ของฉลามที่พบนั้นมีเกือบแทบจะทุกสปีชีส์ที่เคยมีและกำลังมีอยู่บนโลกใบนี้ กล่าวคือ ฟันฉลามที่พบนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์มาก ๆ และถูกสะสมจนกองเกลื่อนกลาดอยู่ใต้พื้นสมุทรแห่งนี้

ดร.เกล็นน์ มัวร์ (Glenn Moore) ภัณฑารักษ์สัตว์น้ำในพิพิธภัณฑ์เวทเทิร์นออสเตรเลียกล่าวว่า “ฟันดูเหมือนมาจากฉลามสมัยใหม่ เช่น ฉลามมาโกะและฉลามขาว แต่ก็มาจากฉลามโบราณ รวมทั้งบรรพบุรุษของฉลามเม็กกาโลดอน ฉลามตัวนี้วิวัฒนาการเป็นเมกาโลดอน ซึ่งเป็นฉลามที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาฉลามทั้งหมด แต่ตายไปเมื่อประมาณ 3.5 ล้านปีก่อน”

ฟันที่คาดว่าเป็นของบรรพบุรุษเมกาโลดอนที่เก็บได้จากพื้นสมุทรอินเดีย Cr. Museums Victoria-Ben Healley

อย่างที่ทราบกันดีว่า บรรพบุรุษของฉลามที่เรารู้จักคือ เจ้าเมกาโลดอน นักล่าจากท้องทะเลที่เก่งกาจที่สุดและอยู่บนจุดสูงสุดของยอดพีรามิดห่วงโซ่อหารใต้ทะเล พวกมันมีความยาวได้ถึง 18 เมตร สามารถเขมือบวาฬเพชฌฆาตได้ด้วยการกัดเพียง 5 ครั้งเท่านั้น

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่การค้นพบนี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า มีฟันของเมกาโลดอนด้วยหรือเปล่า? แต่นักวิทย์มีความเชื่อมั่นว่า ฟันเหล่านี้ต้องเป็นของบรรพบุรุษโดยตรงของเมกาโลดอนอีกทีแน่นอน เพราะฟันที่ค้นพบบางชิ้นสามารถคาดการณ์ฉลามที่โตที่สุดได้ถึง 12 เมตร

ในด้านของ วิล ไวท์ (Will White) ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลามจาก CSIRO's Australian National Fish Collection เขากล่าวว่า นอกจากการคาดเดาถึงการค้นพบบรรพบุรุษฉลามแล้ว เรายังเจอกับฉลามฮอร์นแถบลายทางขนาดเล็กที่น่าทึ่งด้วย พวกมันเป็นฉลามสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ และอาศัยอยู่เฉพาะในออสเตรเลียเท่านั้น

นี่คือโฉมหน้าของฉลามฮอร์นที่พบเจอในบริเวณเดียวกัน ไปโกรธใครมาอ่ะหนู! Cr. CSIRO-Frederique Olivier

ฉลามฮอร์นจะใช้เวลาเกือบทั้งวันไปกับการพรางตัวท่ามกลางโขดหินและสาหร่ายบนพื้นทะเล และจะออกหากินเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น มักอาศัยอยู่ในน้ำลึก 150 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม เรายังต้องศึกษาพวกมันอีกมาก

แน่นอนว่าการเดินทางเพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพนี้ ทั้งน่าทึ่งและคุ้มค่ากับการเดินทางมาก ๆ เพราะนอกจากจะได้รับรู้ความหลากหลายทางชีวิภาพที่ซ่อนเร้นใต้มหาสมุทรแล้ว ยังพบสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ และความลับของสปีชีส์สุดน่าเกรงขามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ให้มาศึกษาเพิ่ม เป็นจิ๊กซอร์อีกชิ้นที่สำคัญมาก ๆ เลยด้วย

ใต้พื้นมหาสมุทรยังมีอะไรให้ได้ค้นหาอีกมาก คาดเดาไม่ได้เลยว่า มนุษย์จะสามารถสำรวจใต้มหาสมุทรได้หมดหรือเปล่า หรือถ้าหมด จะหมดภายในช่วงปีไหนกันนะ หรือหากเทียบเล่น ๆ กับการสำรวจอวกาศ คุณคิดว่าการสำรวจไหนน่าสนใจและท้าทายมากกว่ากัน เพราะอะไร?

ที่มาข้อมูล

Scientists discover shark graveyard at the bottom of the ocean

Scientists Have Stumbled Upon an Ancient Shark Graveyard on the Ocean Floor

Shark Graveyard Full Of Fossilized Teeth Discovered At The Bottom Of The Ocean

related