svasdssvasds

ครูไทย ภาระงานแสนสาหัส จนสอนหนังสือได้ไม่เต็มที่

ครูไทย ภาระงานแสนสาหัส จนสอนหนังสือได้ไม่เต็มที่

ทุกวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันครูแห่งประเทศไทย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ครูบาอาจารย์ ที่เป็นดั่งพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ที่ได้อบรมสั่งสอนนักเรียนทุกคนเพื่อให้เติบโตเป็นกำลังของชาติต่อไป

ครูไทยยังสามารถเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติต่อไปได้หรือไม่ เพราะนอกเหนือจากการสอนหนังสือที่ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจไม่น้อยแล้ว ครูยังมีภาระงานอื่นๆ ที่ต้องจัดการอีกมากมาย ที่ล้วนบั่นทอนกำลังการสอน และเวลาพักผ่อนส่วนตัวจนแทบไม่เหลือ

ภาระงานครู มีอะไรบ้าง?

แน่นอนว่า "ครู" คือผู้เสียสละ แต่ทุกวันนี้ครูไทยอาจเสียสละเกินไป เพราะนอกจากสอนหนังสือ ยังถูกผู้บริหารใช้ให้ไปช่วยทำงานส่วนตัว รวมถึงต้องทำงานธุรการ ส่งพัสดุ ทำบัญชี ซึ่งถ้าหากผิดพลาดก็อาจมีความผิดทางวินัยได้ ทว่าต่อให้ทำดี ไม่มีอะไรผิดพลาด ภาระเหล่านี้ก็อาจไม่ถูกนับเป็นผลงานของครูอยู่ดี เพราะผลงานของครูคือการสอนหนังสือ

ครูยังเจอปัญหาสอนไม่ตรงสาย รับผิดชอบหลายวิชา และรับผิดชอบหลายระดับชั้นเกินไป เช่นเรียนจบคณิตศาสตร์มา แต่ต้องมาสอนวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษด้วย โดยถ้ายิ่งเป็นครูประถมก็ยิ่งถูกบีบให้เก่งทุกวิชาถึงจะได้บรรจุ แต่การทำแบบนั้นจะทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้แต่ละวิชาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหานี้มักมีทุกโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งไม่มีครูเพียงพอในการสอนทุกวิชา

ทั้งนี้ ครูต้องเข้าเวร โดยเป็นระเบียบที่ปฏิบัติตามกันมาหลายทศวรรษ เพราะในสมัยก่อนที่บ้านเมืองยังไม่มีความเจริญ และโรงเรียนก็ยังไม่มีการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำให้ครูจึงต้องอยู่ทำหน้าที่นั้น

ส่วนสมัยนี้หลายโรงเรียน มีการจ้าง รปภ. กันมากขึ้น ทว่าโรงเรียนที่ไม่ได้มีกำลังมากก็ยังขาดแคลนคนทำหน้าที่นี้อยู่ดี ครูเลยยังคงต้องเข้าเวรเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้นักเรียนด้วยอีกแรง ซึ่งการเข้าเวรก็ทำให้เวลาว่างของครูลดลง ซึ่งเวลาว่างนั้นครูควรได้ใช้ไปกับการพักผ่อน หรือเตรียมการเรียนการหนังสือ

นอกจากการเข้าเวรที่กินเวลาแล้ว ครูส่วนใหญ่ยังถูกเกณฑ์ไปช่วยงานในวันเสาร์อาทิตย์อีกด้วย ซึ่งเมื่อแทบไม่มีเวลาว่าง แล้วครูจะสอนหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ภาระงานครู มีอะไรบ้าง

นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้งที่มีกิจกรรม หรือโรงเรียนต้องการอะไรบางอย่าง ครูต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เช่นค่าอุปกรณ์กีฬา ค้าเครื่องดนตรี ค่าพาเด็กไปนอกสถานที่ ค่าผ้าม่านห้องเรียน หรือในช่วงโควิด -19 ครูก็ต้องซื้ออุปกรณ์การสอนออนไลน์เอง ซึ่งถือเป็นการผลักภาระให้ครูที่ไม่ได้มีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว

เหตุผลนี้ ยิ่งทำให้เงินเดือนไม่สอดคล้องกับภาระงานที่ได้รับ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ครูไทยหลายคนลาออก ส่วนที่ยังไม่ลาออก ก็ยอมทนเพราะกว่าจะได้บรรจุเป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายคนก็มีความฝันอยากเป็นครู แต่เมื่อเงินเดือนไม่ได้ทำให้คนเป็นครูภูมิใจในอาชีพของตัวเอง ก็น่ากังวลว่า คนรุ่นใหม่จะยังอยากเป็นครูกันอีกหรือเปล่า และถ้าเป็นเช่นนั้น วงการศึกษาไทยจะก้าวหน้าขึ้นไปได้อย่างไร

คุณค่าของครู อยู่ตรงไหน ?

ยังมีภาระงานครูอีกมากนอกเหนือจากนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโรงเรียนที่ประจำอยู่ และจำนวนนักเรียนที่ต้องดูแล ทั้งนี้โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนที่มีกำลังทรัพย์ อาจจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยทำงานเอกสารจุกจิกต่างๆ แทนครูได้ ทว่าหากเป็นโรงเรียนรัฐบาลในไทย ที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์มีขนาดเล็ก เรื่องงานธุรการ งานเอกสาร งานส่งพัสดุ ฯลฯ ก็คงไม่พ้นเป็นหน้าที่ครูที่ต้องรับผิดชอบทั้งหมดอยู่ดี

ทั้งนี้ การเป็น “ครู” คือการสอนหนังสือ พัฒนาเยาวชนของชาติ เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า แต่ถ้าครูยังไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แล้วจะไปสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับนักเรียนได้อย่างไร? 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

related