svasdssvasds

วีซ่าไทยมีกี่ประเภท "คัลแลน" และ "พี่จอง" ถือแบบไหนอยู่

วีซ่าไทยมีกี่ประเภท "คัลแลน" และ "พี่จอง" ถือแบบไหนอยู่

ชวนรู้จักวีซ่า 7 ประเภทของประเทศไทย ที่ชาวต่างชาติสามารถยื่นขอได้ แบบไหนใช้อย่างไร "คัลแลน" และ "พี่จอง" ถือแบบไหนอยู่ ?

ประเด็นเรื่องวีซ่าไทยกลายเป็นที่สนใจในช่วงนี้ เนื่องจากมีคนสงสัยว่า เหตุใด “คัลแลน” และ “พี่จอง” สองยูทูบเบอร์หนุ่มชาวเกาหลี ที่กำลังดังเป็นพลุ แตก จากช่อง “컬렌 Cullen HateBerry” ถึงได้สามารถอยู่ไทยได้นานขนาดนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวร้อนแรงจนทำให้ทั้งสองหนุ่มต้องเดินทางไปกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 15 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา เพื่อตอบคำถามว่าทั้งสองกำลังถือวีซ่าไทยประเภทไหนอยู่

ซึ่งต่อมา วันที่ 16. ม.ค. 67 ความสงสัยเรื่องวีซ่า ของ “คัลแลน" และ "พี่จอง” ได้รับการเฉลยจาก นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน โดยเผยว่าทั้งสองมีวีซ่า NON-IMMIGRANT B (วีซ่าคนอยู่ชั่วคราว เพื่อทำงาน ติดต่อธุรกิจ หรือประชุม) ซึ่งนายจ้าง ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานแทน ตามมาตรา 60 ไว้กับกรมการจัดหางานแล้ว

โดยหลังจากนั้น ทั้ง 2 คน ได้เดินทางมาเซ็นรับเอกสารใบอนุญาตทำงาน ณ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานเมื่อวานนี้ ซึ่งคนต่างชาติที่ขอใบอนุญาตทำงานถูกต้อง สามารถทำงานในประเทศไทยได้ ภายใต้ระยะเวลาที่ได้ขออนุญาตไว้ (ไม่เกิน 2 ปี) ซึ่งสามารถขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานต่อได้หากมีความจำเป็น และสามารถทำงานได้ทุกประเภทที่ไม่ได้มีประกาศห้ามไม่ให้คนต่างด้าวทำ

วีซ่าไทยมีกี่ประเภท \"คัลแลน\" และ \"พี่จอง\" ถือแบบไหนอยู่

วีซ่าไทย มีกี่ประเภท ?

ทั้งนี้ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้แบ่ง ประเภทและหลักเกณฑ์การขอ Visa ไทยสำหรับชาวต่างชาติ เอาไว้ดังนี้

ประเภท คนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว (Long Stay O-A , O-X)

สำหรับชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอยากเข้ามาพักผ่อนระยะยาวในเมืองไทย โดยสามารถอยู่ได้ 1-10 ปี ซึ่งผู้ถือจะไม่สามารถทำงาน หรือรับจ้างงานทุกประเภท เพราะจุดประสงค์ของ วีซ่าประเภทนี้มีไว้เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่เกษียณแล้ว และต้องมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร

ประเภทราชการ (Official Visa)

สำหรับชาวต่างชาติ ที่เข้ามาในประเทศไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ ซึ่งผู้ขอจะต้องถือหนังสือเดินทางราชการหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น และผู้ขอจะต้องแสดงหนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุล/หน่วยราชการ ของประเทศผู้ขอ หรือจากหน่วยงาน หรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ หรือจากหน่วยราชการของไทย โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน ซึ่งสามารถอยู่ได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa)

คล้ายกับประเภทราชการ แต่ใช้สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเจ้าหน้าที่การทูต ราชอาคันตุกะ หรือแขกของรัฐบาล ซึ่งสามารถอยู่ได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภททูต (Diplomatic Visa)

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามา ปฏิบัติหน้าที่ทูตหรือกงสุล หรือการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และผู้ขอจะต้องถือหนังสือเดินทางทูตหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติ (UN Laissez-Passer) ซึ่งเทียบเท่าหนังสือเดินทางทูตเท่านั้น และผู้รขอจะต้องแสดงหนังสือนำจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศผู้ขอ หรือจากหน่วยงานหรือองค์กรของสหประชาชาติที่ผู้ร้องสังกัดอยู่ โดยหนังสือรับรองจะต้องระบุชื่อ ตำแหน่ง และวัตถุประสงค์การเดินทางให้ชัดเจน ซึ่งสามารถอยู่ได้ไม่เกินครั้งละ 90 วัน

ประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa)

สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวอายุวีซ่า: 3-6 เดือนระยะเวลาที่อยู่ประเทศไทย: ไม่เกิน 60 วัน/ครั้ง

ประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa)

สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางผ่านราชอาณาจักร เพื่อการใดการหนึ่ง เช่น เพื่อเดินทางผ่านราชอาณาจักร (TS) , เพื่อเล่นกีฬา (S) หรือเป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือเป็นคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ในราชอาณาจักร ซึ่งสามารถพักได้ไม่เกินครั้งละ 30 วัน

ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa)

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ (F)
  • การติดต่อหรือประกอบธุรกิจ และการทำงาน (B)
  • การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (IM)
  • การลงทุนหรือการอื่นภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (IB)
  • การศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ (ED)
  • การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน (M)
  • การเผยแผ่ศาสนาที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (R)
  • การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือฝึกสอนในสถาบันการค้นคว้า หรือสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักร (RS)
  • การปฏิบัติงานด้านช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญ (EX)
  • การอื่น (O)

สำหรับ “คัลแลน" และ “พี่จอง” ถือประเภท การติดต่อหรือประกอบธุรกิจ และการทำงาน (B) จึงเรียกว่า NON-IMMIGRANT B นั่นเอง ซึ่งอยู่ได้ครั้งละ ไม่เกิน 90 วัน

ตรวจสอบหลักเกณฑ์การขอ Visa ทุกประเภทได้ที่ : กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related