svasdssvasds

ชีวิตนี้ เราอาจอ่านหนังสือได้ไม่เกิน 5,000 เล่มเท่านั้น

ชีวิตนี้ เราอาจอ่านหนังสือได้ไม่เกิน 5,000 เล่มเท่านั้น

จำนวนหนังสือที่เราอ่านต่อปี อาจเป็นตัวบอกว่าตลอดชีวิตนี้เราอ่านหนังสือได้ประมาณกี่เล่ม แต่ต่อให้จะอ่านแหลกแค่ไหน ก็อาจได้ไม่เกิน 5,000 เล่ม

SHORT CUT

  • หากเริ่มอ่านหนังสือตอน อายุ 25 ปี เราสามารถอ่านหนังสือให้จบได้ประมาณ 4,400-4,800 เท่านั้น
  • อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี่เป็นเพียงสถิติเท่านั้น เพราะถ้าเรามีความตั้งใจจริง เราสามารถอ่านหนังสือได้มากกว่าค่าเฉลี่ยที่สำรวจกันมาได้
  • ไม่สำคัญว่าจะอ่านได้กี่เล่ม เพราะเราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อแข่งขันกับใคร แต่เราเกิดมาเพื่ออ่านหนังสือให้มีความสุขก็พอ 

จำนวนหนังสือที่เราอ่านต่อปี อาจเป็นตัวบอกว่าตลอดชีวิตนี้เราอ่านหนังสือได้ประมาณกี่เล่ม แต่ต่อให้จะอ่านแหลกแค่ไหน ก็อาจได้ไม่เกิน 5,000 เล่ม

ในช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 67 นี้ (28 มี.ค. - 8 เม.ย. 67) เชื่อว่าหนอนหนังสือทุกคน คงออกไปช้อปปิ้งเล่มใหม่ ๆ กันอย่างเพลินใจ แม้จะมีกองดองเท่าภูเขาที่ยังไม่ได้เคลียร์อยู่ที่บ้านก็ตาม แต่เคยสงสัยไหมว่า ต่อให้เราจะสามารถซื้อหนังสือมาดองได้เป็นพันเป็นหมื่นเล่ม แต่ทั้งชีวิตนี้ เราจะอ่านจบได้จริงๆ สักกี่เล่มกันเชียว

ในอดีต Pew Research Center เคยหาคำตอบนี้ ด้วยการ สำรวจพฤติกรรมของนักอ่านในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูลำดับความเร็วในการอ่าน ซึ่งแบ่งระดับนักอ่านได้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.นักอ่านทั่วไป 12 เล่มต่อปี 2.นักอ่านตัวยง 50 เล่มต่อปี และ 3.นักอ่านแหลก 80 เล่มต่อปี

ชีวิตนี้ เราอาจอ่านหนังสือได้ไม่เกิน 5,000 เล่มเท่านั้น

ดังนั้น หากเราเริ่มอ่านหนังสือตอน อายุ 25 ปี แม้แต่นักอ่านแหลก ที่มีอายุยืนยาวถึง 80 – 85 ปี ก็สามารถอ่านหนังสือให้จบได้ประมาณ 4,400-4,800 เท่านั้น ก่อนที่จะลาโลกนี้ไป

ส่วนนักอ่านทั่วไปที่มีอายุถึง 60 ปีแล้ว อาจมีโอกาสอ่านหนังสือได้อีกประมาณ 240 เล่ม ตลอดชีวิตที่เหลือ (หากมีอายุ 80 ปี) แต่นักอ่านแหลกในวัยเดียวกันสามารถอ่านหนังสือได้ประมาณ 1,840 เล่ม แต่นักอ่านระดับสูงในวัยเดียวกันสามารถอ่านหนังสือได้อีก 1,600 เล่ม ตลอดชีวิตที่เหลือ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันยิ่งกว่าที่เคย ก็อาจทำให้เราอ่านหนังสือต่อปีได้น้อยลงกว่าตัวเลขข้างต้น เพราะในปี 2023 เว็บไซต์ The Economist ได้สำรวจนิสัยการอ่านของชาวอเมริกัน 15,000 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือ ร้อยละ 46 ที่ตอบแบบสอบถาม ไม่ได้อ่านหนังสือแม้แต่เล่มเดียวในปี 2023 แต่ร้อยละ 54 ที่เหลืออ่านหนังสือเฉลี่ยเพียง 11 เล่มเท่านั้น

ทางทีมสำรวจ จึงใช้ตัวเลขนี้ เพื่อพิจารณาว่าถ้าเราอ่านหนังสือตั้งแต่อายุ 7 ปี และมีอายุจนถึง 70 ปี ตาม เกณฑ์ปกติของคนส่วนใหญ่ เราจะสามารถอ่านหนังสือได้ประมาณ 770 ในตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจากการคำนวณนี้ คนในช่วงอายุ 30 ปีจะอ่านหนังสือเล่มที่ 270 และคนในช่วงอายุ 70 ปีจะอ่านหนังสือเล่มที่ 670

บนโลกนี้มีหนังสือกี่เล่ม ?

"บนโลกนี้มีหนังสือกี่เล่ม"

ปี 2010 เว็บไซต์ Google ได้นับ ISBN หรือ “เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (International Standard Book Number)” จากแหล่งข้อมูลต่างๆ พบว่า มีหนังสือเล่มที่ไม่เหมือนกัน ประมาณ 129,864,880 ปก

ขณะที่องค์การ UNESCO ประมาณการว่ามีหนังสือใหม่ประมาณ 2.2 ล้านเล่มถูกตีพิมพ์ทั่วโลกทุกปี และถ้าหากเราเพิ่มจำนวนนั้นเข้ามา ก็สามารถคาดเดาได้ว่า ในปี 2023 จะมีหนังสือที่ไม่ซ้ำกันประมาณ 158,464,880 เล่มในโลก

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ตลอดชีวิตเราอ่านหนังสือได้น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับหนังสือบนโลกนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี่เป็นเพียงสถิติเท่านั้น เพราะถ้าเรามีความตั้งใจจริง เราสามารถอ่านหนังสือได้มากกว่าค่าเฉลี่ยที่สำรวจกันมาได้

แม้ว่า จำนวนหนังสือที่เราอ่านได้ตลอดชีวิต จะถูกกำหนดเอาไว้คร่าวๆ แล้ว แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลเหล่านี้ ก็ช่วยให้คนที่อยากอ่านหนังสือจริงๆ เลือกปิดหน้าจอมือถือ หรือเลิกไปงานสังสรรค์ที่ไม่ แล้วหันมาเปิดหนังสืออ่านในเวลาว่างอย่างจริงจัง

ยิ่งไปกว่านั้น การรู้ว่าเรามีเวลาอ่านหนังสืออย่างจำกัด จะช่วยให้เราสามารถเลือกหนังสือที่อยากอ่านอย่างแท้จริง และ

จัดลำดับความสำคัญของหนังสือแต่ละเล่มได้ชัดเจนมากขึ้นก็ได้ 

วิธีอ่านหนังสือให้ได้มากขึ้น !

วิธีอ่านหนังสือให้ได้มากขึ้น !

เป็นเรื่องง่ายที่จะซื้อหนังสือ แต่เป็นเรื่องยากที่จะอ่านให้จบในช่วงที่ชีวิตวุ่นวายแบบนี้ ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้สามาถอ่านหนังสือได้มากที่สุดในตลอดช่วงชีวิตของเรา?

1.เริ่มต้นด้วยหนังสือที่อยากอ่าน

หลายคนชอบมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีกองดองเยอะมากๆ เลยเลือกอ่านเล่มที่ชอบปานกลางก่อน เพราะอยากเก็บเล่มที่ชอบที่สุดไว้อ่านทีหลัง เป็นนิสัยที่คล้ายกับการเก็บของโปรดไว้กินทีหลัง แต่หารู้ไม่ การทำอย่างนั้น จะยิ่งทำให้เราอ่านหนังสือได้น้อยลง เพราะหนังสือหลายเล่มที่เราซื้อมาดองไว้ อาจมีอายุหลายปีแล้ว และความชอบของก็เราลดลงไปตามอายุที่เปลี่ยนไปได้

ดังนั้น หากเรากำลังพยายามกลับมาอ่านหนังสือให้ได้เยอะ ๆ ก็ควรเริ่มด้วยหนังสือที่คุณชื่นชอบ เพราะเราจะไม่รู้สึกเหมือนอ่านเพราะเป็นงาน แต่เป็นการอ่านสิ่งที่ชอบจริงๆ และเราจะอ่านได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม และเมื่ออ่านจบแล้ว ก็ควรเริ่มเล่มใหม่ด้วยเล่มที่ชอบมากๆ เช่นกัน และกองดองของคุณจะลดลงอย่างรวดเร็ว

2.อย่ารู้สึกผิดหากอ่านไม่จบ

ไม่สำคัญหรอกว่าจะอ่านได้ 5 หน้าหรือ 50 หน้า หากไม่สนุกก็ควรหยุดอ่าน โปรดจำไว้ว่าเราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อเอาโล่ หรือไปโชว์ใคร

เชื่อเถอะว่า บนโลกนี้มีหนังสือดีๆ มากมายเกินกว่าที่จะมาเสียเวลาอ่านหนังสือที่ไม่เพลิดเพลิน ดังนั้นอย่ารู้สึกผิดหากอ่านหนังสือที่ซื้อมาไม่จบ แต่ให้คิดว่าเป็นการให้โอกาสหนังสือเล่มอื่นที่เหมาะกับเรามากกว่า เมื่อทำแบบนี้ได้ ก็จะทำให้เราอ่านหนังสือที่มีอยู่ได้มากขึ้น

ส่วนหนังสือที่เราไม่อยากอ่านแล้วนั้น ถ้าไม่อยากเก็บไว้ในบ้านให้อึดอัดใจ จะเอาไปบริจาคให้คนอื่นต่อก็ได้ เพราะหนังสือเล่มนั้นอาจเหมาะกับคนอื่นมากกว่าเรา

อย่าลืมตระหนักว่า เงินที่เสียไปจากการซื้อหนังสือ เราสามารถหามาคืนได้ แต่เวลาที่ไม่ได้อ่านหนังสือที่เสียไป เราไม่มีวันเรียกคืนกลับมาได้

3.เปลี่ยนที่อ่านหนังสือบ้าง

หลายครั้ง การอ่านหนังสือในบรรยากาศเดิมๆ ก็อาจทำให้เบื่อหน่ายได้ ลองออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง เช่นห้องสมุดสาธารณะดีๆ สักที่ หรือคาเฟ่สงบๆ สักแห่ง เพื่อให้เกิดความรู้สึกสดชื่นและตื่นเต้นระหว่างอ่าน

แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องขจัดสิ่งรบกวนให้หมด เช่นปิดมือถือ ไม่นั่งใกล้คนอื่นเกินไป หรือไปพักผ่อนคนเดียวบ้าง เพื่อให้มีความอยากหยิบหนังสือมาอ่านมากขึ้น

4.ตั้งเป้าหมายการอ่าน

เพราะเราคิดว่า อ่านหนังสือแต่ครั้ง ต้องอ่านให้ได้มากที่สุด ทำให้เราเลือกที่จะไม่อ่านในวันที่มีเวลาว่างไม่มาก แต่การอ่านหนังสือให้มาก อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่า การตั้งเป้าหมายการอ่าน และปฏิบัติตามอย่างมีวินัย

ถ้ารู้สึกว่าการอ่านหนังสือมันยาก ลองเริ่มกำหนดว่าจะอ่านแค่วันละ 20-30 นาทีดูก็ได้ หรืออาจลองกำหนดเป็นหน้า เช่น 25-50 หน้าต่อวัน และลองทำแบบนี้ทุกวัน เพื่อเกิดนิสัยการอ่านที่ต่อเนื่อง

5.จำนวนไม่สำคัญ เท่ากับความเพลิดเพลิน

สุดท้ายไม่มีวิธีอ่านหนังสืออย่างถูกต้อง 100 % เพราะวิธีนั้นขึ้นอยู่กับเรา และถึงแม้หนังสือ 1 เล่ม เราจะใช้เวลาอ่าน 3 วัน หรือ 3 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนก็ไม่เป็นไร เพราะจำนวนอาจไม่สำคัญ เท่ากับความเพลิดเพลินในการอ่าน

อย่าตัดสินตัวเองว่าไม่ใช่นักอ่านตัวจริง เพียงเพราะอ่านหนังสือได้น้อย หรือ ไม่ได้อ่านหนังสือที่คนส่วนใหญ่อ่าน เพราะหลายครั้งการติดตามคอมมูนิตี้พูดหนังสือบนโลกออนไลน์ หรือเข้าร่วม Book Club มากเกินไป ก็อาจทำให้เราเกิดความกดดันว่าต้องอ่านหนังสือตามกระแส จนไม่ได้อ่านเล่มที่อยากอ่านจริงๆ ได้

ท้ายที่สุด นักอ่านทุกคนต้องตระหนักว่า เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อแข่งขันกับใคร แต่เราเกิดมาเพื่ออ่านหนังสืออย่างมีความสุข ไม่ว่าในชีวิตนี้จะเหลือเวลาให้เราอ่านหนังสืออีกกี่เล่มก็ตาม

ที่มา : The Economist 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

 

related