svasdssvasds

กกต. แจงระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครส.ส. ห้ามแจกของผู้ประสบภัยทุกกรณี

กกต. แจงระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครส.ส. ห้ามแจกของผู้ประสบภัยทุกกรณี

“เลขาฯ กกต.” แจงยิบ ระเบียบหาเสียงเลือกตั้งแก่ กกต. จังหวัด หวั่นตีความมั่วช่วง 180 วันอันตราย กำชับ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ร่วมงานประเพณีได้แต่ห้ามให้เงิน-ทรัพย์สิน ส่วนผู้สมัครงดแจกของผู้ประสบภัยทุกกรณี

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายแสวง บุญมี ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง หมวดที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

ข้อ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานศพ และสามารถมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ห้ามให้เงิน ยกเว้น เจ้าภาพจะจัดของเตรียมพิธีการไว้ เช่น บังสกุล หรือเงินปัจจัย หรือ การระบุชื่อไว้ในงานประธานพิธีทอดกฐิน โดยที่ไม่มอบเงินจากตัวเอง แต่ทั้งนี้เจ้าภาพจะประกาศชื่อ หมายเลขผู้สมัครของผู้สมัคร และพรรคการเมืองในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข้อ 2 ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีความจำเป็นจัดงานพิธีในช่วง 180 วัน สามารถจัดงานได้เท่าที่จำเป็นเช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน และให้หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยอาจจะเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่าจัดเลี้ยง หรือมหรสพ อันเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

ข้อ 3 หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง และ ส.ส. สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามไม่ให้จัด หรือนำคนไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งโดยได้รับค่าตอบแทน หรือ จ้างไปฟัง 

ข้อ 4 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง สามารถเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ได้ เช่น โรงเรียน หรือสถานที่ราชการ โดยต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน

ข้อ 5 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด หรือเหตุในทำนองเดียวกันได้ 

ข้อ 6 ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง สามารถปิดประกาศและปิดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน และสถานที่ ตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายเลือกตั้งที่มีการปิดไว้ก่อนแล้ว จะต้องมีการแก้ไขให้เป็นไปตามขนาด สถานที่ที่กำหนดไว้

ข้อ 7 ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมี 3 ฉบับ

หมวดที่ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งก็คือฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการการเมือง โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้

ข้อ 1 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ที่พึงต้องปฏิบัติในตำแหน่งนั้น เช่น การออกรายการวิทยุ-โทรทัศน์ เป็นประธานเปิดงานในพิธีต่างๆ การตรวจงานตามพื้นที่ การลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามไม่ให้มีการจัดทำการใดๆที่เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการจัดทำการหาเสียงเลือกตั้งในแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือพรรคการเมือง

ข้อ 2 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ วางพวงหรีดดอกไม้ได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ในกรณีที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมสิ่งของในพิธีการไว้ให้มอบในงานด้วย เช่น ผ้าบังสกุล หรือกำหนดชื่อไว้เป็นประธานในพิธี โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเองก็สามารถกระทำการได้ ทั้งนี้เจ้าภาพจะประกาศชื่อหรือพรรคการเมืองในลักษณะช่วยผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองหรือพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้

ข้อ 3 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถหาเสียงเลือกตั้งนอกเวลาราชการให้แก่ตนเอง ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด 

กรณีสุดท้าย ส.ส. หรือ กรรมาธิการ มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการการเมือง 

หมวดที่ 3 หน่วยงานของรัฐ 

ข้อ 1 หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินงานตามหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดกิจกรรมประกวดแข่งขันต่างๆ การจัดงานเทศกาลตามประเพณี และต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ นร0503/ว61 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 

ข้อ 2 ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดของข้าราชการ ข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ความร่วมมือ สนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ข้อ 3 ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง 

ข้อ 4 ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้ในการจัดการเลือกตั้ง และปิดประกาศ แผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 

 ข้อ  5 ให้มีการสนธิกำลังระหว่าง ทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัคร เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการจัดการเลือกตั้ง

 ข้อ 6 การทำเอกสาร เผยแพร่ของหน่วยงานรัฐ เช่น ปฏิทินปีใหม่ที่มีรูปของรัฐมนตรี ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานเท่านั้น และต้องระวังไม่ให้มีการเข้าข่ายเอื้อผลประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือพรรคการเมือง

ข้อ 7 การจัดทำแผ่นป้ายต้อนรับการมาตรวจพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้พึงระมัดระวังมิให้เข้าข่ายว่าเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนการจัดทำป้ายต้อนรับ หรือขอบคุณ ของพรรคการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจเป็นป้ายหาเสียง และขัดมติ ครม. ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง 

ส่วนวิธีการปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

ข้อ 1 การปิดประกาศให้จัดทำประกาศโดยกำหนดให้จัดทำเป็นแนวตั้งมีขนาดไม่เกิน 30 ซม.x 42 ซม. หรือขนาด A3 

ข้อ 2 การจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้จัดทำได้โดยมีขนาดไม่เกิน 130 ซม.x 245 ซม. 

ข้อ 3 การจัดทำประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ระบุชื่อตัวชื่อสกุลที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง-ผู้ผลิต จำนวนและวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่ชัดเจนของแผ่นป้ายและประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ข้อ 4 จำนวนและสถานที่ในการปิดประกาศหรือแผ่นป้าย เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 แต่กรณีที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกต้้ง การปิดประกาศหรือปิดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยวิธีการจัดทำให้เป็นไปตามระเบียบหลักการตามที่ กกต. จังหวัด อ้างอิงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 

ข้อ 5 การปิดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ ที่ทำการพรรค สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้ง สามารถปิดได้สถานที่ละ 1 แผ่น ขนาดไม่เกิน 400 ซม.x 750 ซม. 

ข้อ 6 การดำเนินการเกี่ยวกับประกาศและแผ่นป้ายผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสาร หลักฐานเกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายในการเลือกตั้ง 

“เรื่องป้ายหรือประกาศจะมีข้อยกเว้นอยู่ก็คือพวกแผ่นพับ แผ่นปลิวคือเอกสารที่เป็นขนาดเล็ก รวมถึงสติ๊กเกอร์หรือจอแอลซีดีที่ติดตามรถ ก็สามารถที่จะทำได้โดยไม่ต้องเป็นไปตามขนาดหรือจำนวนที่ระเบียบกำหนด แต่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป” นายแสวง กล่าว

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังกล่าวย้ำกับผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งทุกจังหวัดว่า ข้อมูลที่ชี้แจงวันนี้คาดว่าครบถ้วน ส่วนการลงพื้นที่การปิดแผ่นป้ายคงเป็นแนวทางให้ กกต. จังหวัด ไปปรับใช้ให้เป็นแนวทางเดียวกัน หากพบกรณีที่มีความซับซ้อนขอให้ถามมาที่ส่วนกลางในสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ ที่สำนักกฎหมาย สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักสนับสนุนโดยรัฐ รวมถึงรองเลขาธิการฯ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ทั้งนี้ เลขาธิการ กกต. ยังเชื่อว่าหากนำวิธีการนี้ไปใช้จะทำให้เป็นในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้อง