svasdssvasds

กูรูการเมืองมอง 8 ปี ประยุทธ์ อยู่ต่อเป็นผลดีกับฝ่ายค้านมากกว่า

กูรูการเมืองมอง 8 ปี ประยุทธ์ อยู่ต่อเป็นผลดีกับฝ่ายค้านมากกว่า

สุขุม-พรสันต์ มอง ถ้า ประยุทธ์ อยู่ต่อฝ่ายค้านอาจยินดีเพราะจะทำให้พรรครัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพ ย้ำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นจุดที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าบรรทัดฐานของศาลเป็นอย่างไร

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวภายในรายการพิเศษของ NationTV 22 เกาะติดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในจุดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไม่อยากฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน ส่วนตัวมองว่า อำนาจส่วนใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ อยู่กับ พล.อ.ประวิตร ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ อาจเป็นประโยชน์กับฝ่ายค้านมากกว่า เพราะเมื่ออยู่ 2 ป. อยู่ด้วยกันในพรรค ก็จะทำให้ไม่เกิดเอกภาพในพรรครัฐบาล นั่นแปลว่าจะเป็นผลดีกับฝ่ายค้าน โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้ง

ส่วนตัวมองว่าถ้าตีความตามข้อเท็จจริง ใคร ๆ ก็มองว่า ครบ 8 ปี แล้ว แต่ถ้าตีความในเชิงกฎหมาย เมื่อมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความออกมาในทิศทางไหน เพราะรัฐธรรมนูญเน้นไปในแง่ของการตีความ ซึ่งต่างจากศาลยุติธรรมที่อิงตามกฎหมายโดยตรง แต่วิธีการตัดสินของรัฐธรรมนูญ ต่อให้เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน ต่างเวลา ต่างคณะ ก็สามารถตีความแตกต่างกันได้ ด้วยปัจจัยอื่น ๆ เชิงรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ที่แตกต่างกัน

รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ย้อนกลับไปดูว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนแต่งตั้ง เลยทำให้ในทางวิชาการมองได้ว่าผลการตัดสินจะไปในทิศทางไหน”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ผศ.ดร. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ตามตัวบทกฎหมายจะมีความซับซ้อนในจุดที่ว่า รัฐธรรมนูญ คาบเกี่ยวระหว่างฉบับปี 2560 กับ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลังการปฎิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ณ ขณะนั้น ซึ่งส่วนตัวมองว่า ตัวบทกฎหมายที่บอกถึงเรื่องการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี เริ่มมีการบัญญัติไว้ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ ปี 2550

ฉบับชั่วคราวตอนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ปี 2557 มีการระบุเรื่องการเป็นนายกได้ไม่เกิน 8 ปี อยู่แล้ว แต่แค่ยังไม่มีวิธีการคำนวณว่าต้องเริ่มนับอย่างไร ดังนั้นหากมองย้อนกลับไปในการวินิจฉัย ก็จะต้องมองย้อนกลับไปในส่วนของขประเพณีในการปกครองของไทย นั่นแปลว่า ก็ต้องย้อนกลับไปในปี 50 มาประกอบการพิจรณาด้วย

ส่วนตัว ผศ.ดร. พรสันต์ มองว่า การตัดสินครั้งนี้ ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะออกมาในทิศทางไหน จะกลายเป็น บรรทัดฐานของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ว่าจะชัดเจนอย่างไร เพราะปัจจุบันบรรทัดฐานตรงนี้ถูกตั้งคำถามจากประชาชนอย่างมาก ซึ่งศาลจะต้องทำให้ประชาชนที่ต้องการคำตอบได้รับความชัดเจนทั้ง 2 ฝั่งที่ตั้งคำถาม

จากที่ไล่เช็กข้อโต้แย้งของฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เน้นให้เหตุผลไปในแง่ของ ตนเองเป็นคนดี ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ศาลน่าจะไม่ได้ใช้ส่วนนี้เข้ามาตัดสินมากกว่าแง่กฎหมาย

related