svasdssvasds

จริงหรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนมีรายได้น้อย ไม่ดูแลสุขภาพ ?

จริงหรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้คนมีรายได้น้อย ไม่ดูแลสุขภาพ ?

Moral Hazard คือแนวคิดที่ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจทำให้คนไม่สนใจดูแลสุขภาพ สร้างภาระให้กับแพทย์ แต่ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นเช่นนี้จริงหรือ ? หรือเป็นเพียงข้ออ้างที่ใช้เป็นเครื่องมือในทำลายหลักความเสมอภาคของสังคม

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาสักระยะแล้ว เกี่ยวกับแนวคิด Moral Hazard ที่ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค อาจทำให้คนไม่สนใจดูแลสุขภาพ เพราะรักษาพยาบาลฟรี (หรือเกือบฟรี) ส่งผลให้แพทย์ต้องทำงานหนัก มีภาระในการรักษาผู้ป่วยเยอะ และทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก

แม้เรื่องนี้จะเป็นข้อถกเถียงในแวดวงสาธารณสุข แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกี่ยวข้องกับสังคมเป็นอย่างมาก เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาล แต่ยังเป็นเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงการรักษา ไม่ว่าจะเป็นผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้มาก เป็นการสร้าง Social Safety Net ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ต่อการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยโตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการ นักเขียน และนักแปล ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ แนวคิด Moral Hazard ผ่านเฟซบุ๊กของเขา ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังต่อไปนี้  

Moral Hazard กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนี้ ความคิดแบบหนึ่งที่เกิดค่อนข้างมากในบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง (ต้องใส่ว่า Not All ด้วยไหม?) ก็คือจะทำให้คนมารักษาแบบ 'เกินจำเป็น' หรือ 'ไม่จำเป็น' มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าได้รักษาฟรี ก็เลยไม่ดูแลตัวเอง ไปกินเหล้าเมายา หรือมีพฤติกรรม 'เสี่ยง' มากขึ้น เนื่องจากคิดว่าต่อให้เป็นอะไรไปก็ได้รักษาฟรีหรือเสียค่ารักษาน้อย

ในทางเศรษฐศาสตร์การแพทย์ มีศัพท์ว่า Moral Hazard หมายถึงแนวคิดที่ว่าถ้ามีการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องสนใจ 'ราคา' ในการรักษาตัว เพราะรัฐจ่ายให้ ก็จะไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบตัวเอง

เรื่อง Moral Hazard นี้เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า 'จริง' หรือไม่ แล้วก็พบว่าคำตอบของเรื่องนี้ซับซ้อนมากกว่าจะฟันธงได้ว่าจริง (มีงานวิจัยเรื่องนี้ไม่น้อย ลองเสิร์ชหาอ่านได้) แต่ปัญหาก็คือ พอบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง  มีแนวโน้มจะเห็นว่ามัน 'จริง' แล้ว ก็จะเกิดข้อเสนอประเภทให้ยกเลิกการประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย

Moral Hazard กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยส่วนตัวคิดว่าแนวคิดนี้มีอันตรายแฝงอยู่ เพราะมันคือการก้าวข้ามเส้นจากความเห็นทางการแพทย์ ไปสู่ความเห็นเชิงนโยบายสังคมโดยไม่รู้ตัว และโดยทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ก็มักมี 'อำนาจแบบแพทย์ๆ' ที่จะให้ความเห็นแล้วคนเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะเมื่อคนรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันได้ข้ามเส้นมาสู่พรมแดนของนโยบายสังคมหรือนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับ 'สิทธิ' ที่สังคมจะได้รับการรักษาถ้วนหน้าหรือไม่ หรือพูดอีกอย่างก็คือ นี่เป็นเรื่องของการสร้าง Social Safety Net อันเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ต่อการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นในระยะยาวและยั่งยืน

สมมุตินะครับ ว่าถ้าเราเชื่อว่า Moral Hazard มันเป็นเรื่องจริง คือพอมีประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้วคนไม่ดูแลตัวเอง เลยเป็น 'ภาระ' ทางการแพทย์ คำถามคือเราควรจะยกเลิกประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย (ซึ่งแปลว่าจะมีคนจน คนด้อยโอกาส คนที่ไม่ได้ 'ถูกบันทึก' เอาไว้ในระบบอีกจำนวนมากตกหล่นสูญหายไป) หรือเราควรจะต้องสร้างความเข้าใจใน Preventive Medicine ให้มากขึ้นไปอีก คือแทนที่จะเห็นปัญหาแล้วเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีที่อาจก่อให้เกิดปัญหาได้มากยิ่งขึ้น เราสามารถนำปัญหานั้นมา 'ส่อง' ย้อนดูว่าสังคมที่เราอยู่ มี Health Literacy คือการรับส่งความรู้ทางสุขภาพกันอย่างไร บกพร่องตรงไหน และเกี่ยวพันกับ 'สังคมโดยรวม' ตรงไหน

โดยทั่วไป และส่วนใหญ่โดยไม่รู้ตัว 'เป้า' ของคนที่เราคิด (ไปเอง) ว่าจะต้องกระหายใคร่ได้ในการรักษาแบบเกินจำเป็น ก็คือคนจนหรือคนไร้การศึกษา (ซึ่งก็คือการ 'เหยียดคน' แบบหนึ่งที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราโดยอัตโนมัติ) แต่มีงานวิจัยเยอะมาก ที่บอกว่าคนที่อาจจะไป 'หาหมอ' แบบเกินจำเป็นจำนวนมาก ก็คือคนชั้นกลางหรือแม้แต่คนฐานะดีนี่แหละ เพราะคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะต้อง 'ขอ second opinion' จากหมอหลายๆ คน (เลย 'ใช้หมอ' เปลือง ซึ่งเป็นการเบียดบังบุคลากรทางการแพทย์ไปจากระบบ) หรือไม่ก็เป็นพวกที่วิตกจริต (อันนี้ยอมรับว่าตัวเองก็เป็น คือเป็น Hypercondriac หรือกลัวเป็นโน่นเป็นนี่ วิตกไปล่วงหน้าโดยที่อาจไม่ได้ป่วยจริง เลยต้องไปใช้ทรัพยากรทางการแพทย์มากกว่าคนอื่น) ซึ่งพอมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนเหล่านี้อาจมีแนวโน้มจะเข้าไป 'ใช้หมอ' มากกว่าคนจนเสียอีก

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่าการคิดจะ 'กำจัด' ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปเลย (ซึ่งเป็นการล้ำเข้ามาในพรมแดนนโยบายสังคมมากกว่านโยบายทางการแพทย์ แม้ว่าจะเกี่ยวกับการแพทย์ก็ตามที) เป็นเรื่องอันตรายมากกว่าช่วยแก้ปัญหา เพราะมันคือการทำลาย Social Safety Net และทำลายหลักความเสมอภาคของสังคมโดยรวม โดยใช้ Moral Hazard (ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่) มาเป็นเครื่องมือในการอ้างอิง

เรื่องนี้ก็เลยซับซ้อน และมีเรื่องวัฒนธรรมอำนาจและวาทกรรมแบบต่างๆ เข้ามาต่อสู้กันโดยไม่รู้ว่า 'ฐาน' ในข้อถกเถียงของตัวเองอยู่ตรงไหน จนในที่สุดก็มึนงงกันไปหมด

ที่มา FB : Tomorn Sookprecha

related