svasdssvasds

เมื่อคนเผชิญหน้าช้างป่าจากกรณีเขาใหญ่ ร่วมสร้างกฏการอยู่ร่วมกันปลอดภัย

เมื่อคนเผชิญหน้าช้างป่าจากกรณีเขาใหญ่ ร่วมสร้างกฏการอยู่ร่วมกันปลอดภัย

คนเผชิญหน้าช้างป่า ที่อุทยานเขาใหญ่ เกิดขึ้นได้เมื่อต้องอยู่ร่วมกัน ลดความเสี่ยงสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่กันด้วยการสังเกตอารมณ์และคู่มือปฏิบัติ 9 วิธีเมื่ออยู่ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน

จากข่าว รถเบิ้ลเครื่องยั่ว ช้างป่า จนหวิดโดนช้างเหยียบ เพียงเพื่อถ่ายภาพอวดลูกที่บ้าน ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 20 พ.ศ.2562 เป็นเงิน 5,000 บาท แม้ทั้งคนและสัตว์จะไม่มีการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ตาม แต่การพฤติกรรมดังกล่าว มีให้เห็นปรากฏให้ข่าวอยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งคนมักมองว่าสัตว์ป่าดุร้าย เข้ามาทำร้ายมนุษย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แต่ถ้ามองกันดีๆ พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่มนุษย์เข้าไปใช้งานตัดสร้างเส้นทางภายหลัง จึงสมควรที่จะให้ความเคารพ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบ ปลอดภัย

โดยทาง เฟซบุ๊กเพจของ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้โพตส์ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปยังในอุทยานแห่งชาติ เพื่อย้ำเตือนไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย ดังนี้


 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ออกข้อแนะนำเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์เผชิญหน้ากับช้างป่า ไว้ 2 วิธีดังนี้

1.สังเกตอารมณ์ของช้าง

  • ช้างอารมณ์ดี

หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่ง และใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2-3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง และช้างอารมณ์ดีจะไม่ทำร้าย ถึงรถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม

  • ช้างอารมณ์ไม่ดี

หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา เหมือนจะพุ่งเข้าชาร์จ แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ถึงแม้จะอยู่ในระยะไกล

2.ข้อควรปฎิบัติ 9 วิธีเมื่อพบช้างป่าในอุทยานแห่งชาติ

  1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
  2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
  3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก
  4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์
  5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
  6. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
  7. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ
  8. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆ ว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง
  9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ

โดยถึงแม้ว่าจะเจอช้างป่าเพียงตัวเดียว แต่อาจมีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้นด้วย เพราะฝูงช้างมักกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้น

ซึ่งวินาทีที่ช้างป่าเข้ามาหามีความเร็วมากประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส นั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาแล้ว เขาแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถก็เสียหายได้

ที่มา

khaoyainationalpark.com

related